15 ก.ย. 2020 เวลา 09:11 • ปรัชญา
๑๒. อันเนื่องกับทางไท (บทคัดย่อที่ ๑-๑๒)
เนื้อหาแห่งศาสนธรรมในทุก ๆ ศาสนาที่มีคุณูปการต่อมวลมนุษย์บอกเราว่าความจริงแท้ที่เป็นโลกุตระนั้นเป็นสภาพเหนือขนาด ปริมาตร และเหนือกาละและเทศะ
และว่าความจริงแท้นั้นเข้าถึงได้ด้วยการเปิดเผยทางจิตใจ (Revelation) ไม่ใช่ด้วยแรงทะยานอยากอันนำไปสู่ภาวะใหม่ที่ยังประกอบด้วยมิติ
มณฑลธรรม (Mandala) ของชาวพุทธมหายาน วิษณุบาทของฮินดู เป็นสัญลักษณ์ของสภาวธรรมที่อยู่เหนือมิติทั้งหมด เช่นเดียวกับเจดีย์ รูปลักษณ์พระพุทธประติมา
ฝ่าพระพุทธบาทที่นายช่างศิลปินได้วางองค์ประกอบและอารมณ์ไว้อย่างกลมกลืน
รวมกว้างไปถึงแจกัน ถ้วยชา เครื่องมือเครื่องใช้ สวนหิน สวนหย่อม ที่มีความกลมกลืนเป็นพิเศษอันสะท้อนกฎแห่งการดำรงทรงอยู่ของสภาวธรรมทั้งหมด คือ ความหมายของจักรวาลในที่นี้
มันไม่ใช่จินตนาการเกี่ยวกับความเวิ้งว้างและดวงดาวในพาหิรากาศอันเพิ่งเข้าสู่ครองมโนภาพของมนุษย์ในคริสต์ศักราชที่ ๑๗ หลังจากเซอร์ไอแซคนิวตัน แถลงกฎแห่งกราวิทัต (Gravitation) และการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุ
จักรวาลในความหมายทางศิลปะและศาสนธรรมนั้นหมายถึงสภาวธรรมอันกว้างใหญ่น่าพิศวง (Mystery) และไม่แปลกแยกออกจากดวงจิตที่รับรู้
ดังนั้นขอบเขตของจักรวาลคือขอบเขตแห่งสัมผัสรู้ถึงสภาพเหนือคำนึง อารมณ์พิศวงเช่นนี้เองที่ทำให้ดวงจิตสงบจากอาการดิ้นรน เข้าสู่กระแสสมดุลแห่งสภาวะ
ชำแรกพ้นจากสภาพจำกัดขัดแย้งระหว่างผู้กระทำ ผู้ดู (Subjective) กับสิ่งถูกกระทำ สิ่งถูกดู (Objective)
ตามความเข้าใจของผม งานสร้างสรรค์ศิลปะทั้งปวง จำเป็นต้องตั้งฐานอยู่บนการภาวนา (Insight Meditation วิปัสสนา) เพื่อรู้เพื่อเห็นสภาวธรรมตามที่เป็นจริง งานนั้นจึงจะบรรลุจุดมุ่งหมายในคุณภาพแห่งงาน ด้วยจินตนาการบริสุทธิ์ไม่ใช่แฟนซี
และด้วยความรู้แจ้งในองค์รวมของสภาวะต่าง ๆ เท่านั้น ที่งานศิลปกรรมชั้นสูงจะถูกเนรมิตสร้างสรรค์ขึ้นได้)
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา