จีน เดินหน้าอัดฉีดหลายแสนล้านหยวน สนับสนุนภาคการผลิตและเทคโนโลยี
• โครงการต่างๆจากภาคการผลิตและเทคโนโลยีที่สำคัญต่อเศรษฐกิจจีน กำลังได้รับการสนับสนุนภายใต้กลยุทธ์พึ่งพาตนเอง กลยุทธ์ใหม่ของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง
• ความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการสกัดธุรกิจดาวรุ่งของจีนหลายธุรกิจโดยสหรัฐฯ ด้วยการจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรม ของจีนได้จับมือกับ China Development Bank ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีนที่ให้เงินทุนสนับสนุนกับโครงการต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ เพื่อที่จะอัดฉีดหลายแสนล้านหยวนเข้าสู่โครงการด้านการผลิตและเทคโนโลยีที่กำหนด จากการที่รัฐบาลได้มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความเป็นไปของเศรษฐกิจของประเทศ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มุ่งเป้าโครงการนำร่องทั้งหมด105 โครงการทั่วประเทศ ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมราวๆ 7 แสนล้านหยวน หรือ ราวๆหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้เม็ดเงิน 3 แสนล้านหยวนในจำนวนนี้จะมาจากการกู้ยืมจากธนาคาร
China Development Bank ตกลงที่จะให้สินเชื่อ หนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันล้านหยวนเพื่อพัฒนา 24 โครงการ โดยธนาคารกล่าวว่าได้ให้วงเงินกู้ยืม สองแสนห้าหมื่นล้านหยวน สำหรับโครงการเหล่านั้นเมื่อปลายเดือนมี.ค. ซึ่งหมายความว่าธนาคารได้เปิดให้รัฐบาลกู้ยืมเพื่อช่วยสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการที่สำคัญทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยถึงรายชื่อโครงการที่ได้รับการสนับสนุนแต่อย่างใด ทั้งนี้ความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรมและธนาคาร เพื่อช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่โครงการสำคัญ เป็นไปตามกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนคู่ขนาน หรือ Dual Circulation ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าว จีนมุ่งเน้นที่จะพึ่งพาตนเองเพื่อสร้างเทคโนโลยีล้ำสมัย และเพื่อตัดการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้า ท่ามกลางสงครามการค้าอันยืดเยื้อกับสหรัฐฯ
ยกตัวอย่าง รัฐบาลจีนได้เปิดตัวนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ออกมาหลายชุดเพื่อกระตุ้นการพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์
อย่างไรก็ตาม การเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้นของภาครัฐในเศรษฐกิจของประเทศ อาจจะเป็นประเด็นถกเถียงกันในที่ประชุมทางไกลระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง และผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งนำโดย นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นางเองเกลา เมอร์เคิล
หนึ่งในข้อตกลงด้านการลงทุนจีน-อียู คือทางยุโรปเรียกร้องให้จีนลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศจีนเพื่อให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้าไปแข่งขันได้
ในเวลาเดียวกัน การที่รัฐบาลจีนได้เข้าไปแทรกแซงในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ทำให้เกิดความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับของเสียและความไม่มีประสิทธิภาพ อย่างความพยายามก่อนหน้านี้ของจีนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านการวางแผนของภาครัฐ ทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินอย่างมาก และโครงการชิพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงหลายโคงการก็ล้มเหลวในจีน แม้จะมีการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐบาลจีนก็ตาม
จากการเปิดเผยของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรม เมื่อเดือนเม.ย. การลงทุนสำหรับโครงการหนึ่งเพื่อรับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก China Development Bank นั้น มีวงเงินอยู่ที่ 1 พันล้านหยวน หรือราวๆ 146.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพราะฉะนั้น จีนไม่จำเป็นต้องถ่อมตน หรือปิดบังความทะเยอทะยานใดๆ แม้รัฐบาลสหรัฐฯจะบอกให้สงบเสงี่ยมเจียมตัวก็ตาม
โครงการที่มีสิทธิได้รับการสนับสนุนทางการเงิน ก็คงไม่พ้นอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีทันสมัย เช่น พวกเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT พวกวัสดุใหม่ๆ อุปกรณ์ขั้นสูง ยานยนต์ประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานใหม่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และยาและเวชภัณฑ์ โครงการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของการผลิตแบบดั้งเดิม และโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เช่น การสื่อสารด้วย 5G ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Center) เป็นต้น
ภาคธุรกิจเหล่านี้ คล้ายๆกับรายชื่ออุตสาหกรรมหลักที่อยู่ในโครงการ “Made in China 2025” ซึ่งเป็นแผนนโยบายของรัฐที่จะสร้างธุรกิจในเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยระดับชาติเพื่ออนาคต ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล
การเร่งดำเนินการตามแผนดังกล่าว ถูกกดดันจากสหรัฐฯและยุโรป แม้ว่าจีนจะไม่ได้พูดถึงแผน “Made in China 2025” อย่างเปิดเผย แต่การสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักจากทางภาครัฐยังคงดำเนินต่อไป
ความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรมฯและ China Development Bank นี้ เป็นความพยายามที่จะให้มีการพัฒนาคุณภาพระดับสูงของภาคการผลิตให้สำเร็จ หลังจากที่ธุรกิจดาวรุ่งของจีนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงหัวเหว่ย ถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำไม่ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
ทางกระทรวงอุตสาหกรรมญ ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาและผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯและโคโรน่าไวรัสโดยตรง รวมถึงประเด็นระยะยาว เช่นการกระตุ้นฐานการผลิตของประเทศ กำลังร่างแผนพัฒนาฉบับใหม่สำหรับปีพ.ศ. 2564-2568 ภายใต้กลยุทธ์ใหม่เพื่อพึ่งพาตนเองของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ซึ่งแผนพัฒนาฉบับใหม่ระยะเวลา 5 ปีดังกล่าวเพื่อการกระตุ้นด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซอฟท์แวร์ ข้อมูลสารสนเทศ และการสื่อสารโทรคมนาคม ด้วยเป้าหมายและการทำงานเพื่อพัฒนาที่ชัดเชน
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน การลงทุนด้านการผลิตของจีนตั้งแต่ ม.ค. ถึง ก.ค. ลดลงไป 10.2% จากปีก่อนหน้า
ที่มา:
ภาพ: