Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
17 ก.ย. 2020 เวลา 11:26 • ปรัชญา
๑๔. ข้อพินิจต่อสุนทรียภาพและศิลปะ (บทคัดย่อที่ ๑๓-๒๓)
มองจากหน้าต่างตะวันตก สุนทรียภาพได้ถูกเล็งแลเห็นทางวิชาการประมาณช่วงต้นของยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ มีการกล่าวถึงในฐานะเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในสนามของปรัชญา
ในเมื่อก่อนหน้านั้นสุนทรียภาพเป็นส่วนหนึ่งของศาสนธรรมเช่นเดียวกับทางตะวันออก เป็นสุนทรียภาพในพรหมัน หรือปรมัตถสภาวธรรม นั่นก็คือ ความงามเป็นมนัส (น้ำใจ) ที่หลั่งไหลออกมาจากญาณหยั่งรู้สภาวธรรม อันมีอากาสะ (Space) อันไม่รู้สิ้นสุด และกาละอันเป็นนิรันดรหรืออกาลิโก
ในมติเช่นนี้ ญาณกับความงามนั้นเป็นเพียงสองหน้าตัดของเพชรเม็ดเดียวกัน สุนทรียภาพไม่ประกอบด้วยญาณนั้นเป็นเพียงอารมณ์อันก่อให้เกิดจากความคิดปรุงแต่ง และตกข้างฝ่ายอกุศลเป็นอุปสรรคไม่ใช่อุปการะต่อการพัฒนาชีวิตทั้งของปัจเจกและชุมชน
พิเคราะห์จากต้นธารน้ำพุแห่งปรีชาญาณของพระโคตมพุทธะรามจันทราแห่งรฆุวงศ์ ศรีกฤษณะแห่งมถุรา เมธีธรรมเหลาจื๊อ และนานักคุรุเทพ ศาสดาผู้ครองใจมหาชน
ชาวบุรพทิศเหล่านี้ประกาศตนว่าเป็นผู้ลุถึงถิ่นเกษม
ไม่ว่าจะหมายถึงการเข้ารวมกับสิ่งสูงสุดหรือการดับสนิทแห่งความทุกข์ทรมานจากกงกรรม และได้ชี้ทางอนุเคราะห์แก่ผู้แสวงหาทางรอดรุ่นถัด ๆ มา
ผู้รู้เหล่านี้รู้ซึ้งถึงสิ่งเดียวกันแล้วนำมาเปิดเผยเน้นสาระสำคัญตามจริตมนัสของตน หรือว่าต่างคนต่างรู้ คนละสิ่ง การเปิดเผยจึงเน้นหลักธรรมที่แตกต่างกันออกไป ต่างว่าเราถือข้างหลักที่ว่าสัจจะ (Truth) นั้นเป็นอันเดียว ไม่อาจมีสัจจะที่สองได้ (เอกํ หิ สจจํ นทฺ ติยมฺมตฺถิ)
ความต่างก็ควรอยู่ตรงที่คำสอนเหล่านั้นอยู่ใกล้หรือห่างจากสัจจะเพียงใดเท่านั้น แต่หลักคำสอนก็คือคำสอน หาใช่ตัวสัจจะ (Truth) ไม่
ดังนั้นจริตมนัสของพระศาสดา นั้นสำคัญนักเพราะเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างคำสอนและสัจจะที่พระองค์รู้ซึ้ง
จริตมนัสของศรีกฤษณะ (ศาสดาของฮินดู เชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่ก่อนพุทธกาล) แห่งมถุรานั้นโน้มไปในทางสุนทรียภาพชอบผิวขลุ่ยเริงระบำกับโคปี (หญิงเลี้ยงโค) สาว ๆ และทรงแสดงสุนทรีย์แห่งกามารมณ์อันบริสุทธิ์ต่อคู่รักอันได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งศรัทธา
และว่าการลุถึงน้ำใจของกฤษณะ (กฤษณะมนัส) หรือการเห็นองค์กฤษณะนั้นเป็นการลุถึงจักรา (ศูนย์พลังแห่งชีวิต) แห่งสุนทรีย์บริสุทธิ์
ส่วนจริตมนัสของรามจันทรานั้นหนักข้างหลักธรรมในความหมายของหน้าที่ (จริยธรรม-Ethic)
ส่วนพระโคตมะหนักข้างปัญญาเชิงวิเคราะห์ (วิภัชวาท) และความรอมชอม
ในขณะที่ปราชญ์เหลาจื๊อหนักข้างสันโดษวิเวก
เยซูแห่งนาซาเรทนั้นหนักข้างความรักและความถ่อม
ส่วนบีมูฮัมหมัดเน้นระเบียบโองการและความเสมอภาคของมวลมนุษย์
คุรุนานักเน้นสัจจะศิริ (Bliss) และสภาวะเหนือกาล (สัจศรีอกาล)
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย