19 ก.ย. 2020 เวลา 01:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP18
“กองทุนตราสารหนี้ตอนที่ 5 คัดเลือกกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น-กลาง แบบเข้มข้น”
สวัสดีครับ จาก EP ที่แล้วเราได้รายชื่อกองทุนตราสารหนี้ที่เข้ารอบมาแล้ว 5 กองทุน วันนี้เราจะเอามาคัดแบบเข้มข้นเหมือนที่เคยทำกับกองตลาดเงินนะครับ
ก่อนอื่นเลย ตารางมา!!!
จากตารางมีบางจุดที่แตกต่างจากตารางที่เราใช้คัดกองทุนตลาดเงิน มาดูกันว่ามีจุดไหนมั่ง
เราจะแบ่งกลุ่มข้อมูลเป็น A, D, C, D, E เหมือนเดิมนะครับ เพื่อความง่ายในการอธิบาย และจุดที่เพิ่มมาคือ 2 บรรทัดสุดท้ายของข้อมูลในกลุ่ม A นั่นคือการกระจุกตัวรายอุตสาหกรรม และ การกระจุกตัวของประเทศที่ไปลงทุน (ไม่รวมไทย)
(ถาม) ทำไมต้องดูการกระจุกตัว?
(ตอบ) เรากำลังเลือกกองทุนตราสารหนี้ที่มีสัดส่วนในการไปลงทุนในภาคเอกชนสูง ดังนั้นถ้าการลงทุนไปกระจุกตัวมากๆที่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งจะถือว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้น เพราะว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่อุตสาหกรรมนั้นได้รับผลกระทบมากๆ กองทุนจะได้รับผลกระทบมากตามไปด้วย เช่น ช่วงวิกฤตโควิด อุตสาหกรรมการขนส่ง และ การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก ถ้ากองทุนไหนไปลงทุนในตราสารหนี้จากกลุ่มนี้ก็ซวยไป
อุตสาหกรรมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโรงงานนะครับ แต่หมายถึงประเภทของธุรกิจ
เช่นเดียวกับประเทศที่ไปลงทุน ถ้าไปลงทุนมากๆที่ประเทศเดียว แล้วเกิดเรื่องแบบเวเนซูเอล่าก็ซวยไป การกระจุกตัวในข้อนี้ไม่นับรวมการลงทุนในประเทศไทยนะครับ
มาเริ่มใส่ข้อมูลในตารางกันเลย จะทำให้ดู 1 กองทุนเหมือนเดิมนะ แต่อันไหนที่เคยทำไปแล้วใน EP12 ขออนุญาตไม่อธิบายละเอียดเนาะ
เปิด Fund Fact Sheet ของกองทุน KT-ST แล้วมาใส่ข้อมูลกลุ่ม A กัน
จากหน้าแรกเราจะเห็นว่ามีการไปลงทุนต่างประเทศ
เจอแบบนี้ให้เลื่อนลงมาหาดูว่า มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินหรือเปล่า โดยปกติใน Fund Fact Sheet จะบอกเป็นคำพูด หรือ อาจจะมีบอกเป็นแผนภูมิ หรือมีทั้งคู่เลยตามรูปนะครับ
รูปนี้บอกเป็นคำพูดว่ามีการป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด
รูปนี้บอกเป็นแผนภูมิว่ามีการป้องกันความเสี่ยงทั้งหมดเช่นกัน
ถ้ามีการป้องกันแบบเต็มจำนวน เราจะถือว่าไม่มีความเสี่ยงจากการแปลงค่าเงินนะครับ
ในกรณีที่มีการป้องกันบางส่วน, ป้องกันตามดุลยพินิจ หรือ ไม่ป้องกันเลย กองทุนจะมีความเสี่ยงขาดทุน หรือ ได้กำไรเพิ่มขึ้นจากการแปลงค่าเงิน
คือกองที่ไปลงทุนต่างประเทศ ตอนลงทุนอาจจะได้กำไร แต่พอแปลงค่าเงินกลับมาเป็นเงินบาท ถ้าในตอนนั้นค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าเงินในประเทศที่ไปลงทุน กองทุนจะได้กำไรน้อยลง หรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเงินบาทอ่อนค่า กองทุนก็จะได้กำไรเพิ่มจากการแปลงค่าเงิน
ตรงนี้ส่วนตัวชอบที่มีการป้องกันทั้งหมดครับ ถือว่าไม่มีความเสี่ยงเพิ่ม
จากนั้นข้อมูลในเรื่องของการกระจุกตัวจากการลงทุน อยู่ใน Fund Fact Sheet หน้า 4 ครับตามรูป
ตอนนี้ข้อมูลในกลุ่ม A เราได้ครบหมดแล้ว
สำหรับข้อมูลในกลุ่ม B สัดส่วนการลงทุนน่าจะทำกันได้แล้วเนาะ
ในหัวข้อตราสารหนี้ความน่าเชื่อถือต่ำสุด/สัดส่วน ถ้าเป็นกองที่ไปลงต่างประเทศจะมีกราฟ 2 อัน ให้เลือกเอาที่เกรดต่ำสุดมาใส่นะครับ ตามรูปก็จะเป็น BBB / 23.74%
ส่วนข้อมูลในกลุ่มอื่นๆ เราเคยใส่กันมาหมดแล้ว ขออนุญาตไม่ลงละเอียดนะครับ ตัดภาพมาได้ข้อมูลครบหมดแล้ว
กองทุน ABINC ไม่มีข้อมูลเรื่องการกระจุกตัว ใส่ค่าเป็น NA (Not Available แปลว่า ไม่มีข้อมูล) ซึ่งพอมาดูที่สัดส่วนการลงทุนแล้วก็พอเข้าใจได้ เพราะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลกว่า 90% ดังนั้นการกระจุกตัวมันน้อยกว่า 10% แน่ๆ
ส่วนกองทุน KTFIXPLUS-A ไม่มีข้อมูลการกระจุกตัวของประเทศที่ไปลงทุน แต่พอมาดูกราฟความน่าเชื่อของตราสารหนี้ก็เจอว่าไปลงต่างประเทศไม่ถึง 10% ดังนั้นจึงใส่เป็นน้อยกว่า 20% นะครับ
มาไล่ดูข้อมูลกันทีละกลุ่มเลย เริ่มที่กลุ่ม A เราจะทำเหมือนเดิมนะครับ เสี่ยงน้อยสุดรับ 0 ไป ส่วนอันไหนเสี่ยงมากขึ้นก็จะติดลบไปสเต็ปละ -1
ดูกันทีละบรรทัดนะครับ
ทุกกองที่ไปลงทุนต่างประเทศ มีการป้องกันค่าเงินทั้งหมด ข้อนี้ถือว่าเสี่ยงเท่ากันหมด
ระดับความเสี่ยงในแผนภูมิก็เท่ากัน
อายุเฉลี่ยตราสารหนี้ KT-ST น้อยสุดเสี่ยงต่ำสุด ดังนั้นกองที่เหลือติดลบไปกองละ -1
การกระจุกตัวภาคเอกชนเท่ากันหมด
การกระจุกตัวรายอุตสาหกรรม กอง SCBFP และ K-FIXEDPLUS-A รับไปกองละ -1
การกระจุกตัวต่างประเทศ เท่ากันหมด
สรุป KT-ST นำมาที่ 0 แต้ม ABINC และ KTFIXPLUS-A มี -1 ส่วน SCBFP และ K-FIXEDPLUS-A มีกองละ -2
ข้อมูลกลุ่ม B สัดส่วนการลงทุน
เสี่ยงน้อยสุดคือ ABINC ลงพันธบัตรไป 90% ไม่โดนติดลบ
เสี่ยงมากสุด SCBFP มีหุ้นกู้เกือบ 60% เอาไป -2 เนื่องจากอีก 3 กองที่เหลือเสี่ยงพอๆกันโดนไปกองละ -1
บรรทัดสุดท้ายของกลุ่มนี้ ตราสารหนี้ความน่าเชื่อถือต่ำสุด
เสี่ยงน้อยสุด ABINC ไม่โดนติดลบ
SCBFP, KTFIXPLUS-A, K-FIXEDPLUS-A เสี่ยงรองลงมา โดนไปกองละ -1
KT-ST เสี่ยงสุดโดนไป -2
ตรงนี้ผมมองว่า SCBFP, KTFIXPLUS-A และ K-FIXEDPLUS-A เสี่ยงพอๆกันนะครับ แต่ใครจะมองว่า KTFIXPLUS-A เสี่ยงมากกว่าอีก 2 กองก็ไม่ผิดอะไร
รวมความเสี่ยงทั้งกลุ่ม A และ B
KT-ST โดนไป -3
ABINC โดนไป -1
SCBFP โดนไป -5
KTFIXPLUS-A โดนไป -3
K-FIXEDPLUS-A โดนไป -4
ต่อไปเราไปดูผลตอบแทน ดูว่ากองที่เสี่ยงเยอะๆ ผลตอบแทนมันคุ้มเสี่ยงหรือเปล่า คราวนี้เราจะดูผลตอบแทนคู่กันกับค่าธรรมเนียมไปเลยนะครับ ดูควบข้อมูลกลุ่ม C และ D พร้อมกันเลย
กอง KT-ST ดูผลตอบแทนสม่ำเสมอสุด ช่วงโควิดก็ไม่ติดลบ ตามมาด้วย ABINC และ SCBFP อีก 2 กองที่เหลือก็ตามมาแบบไม่ห่างมาก สังเกตดูว่ากองที่เรากาหัวติดลบเยอะๆ ช่วงโควิดนี่จะลบเยอะ และ กราฟ NAV ที่เราเห็นใน EP ที่แล้วก็แกว่งเยอะด้วย ซึ่งก็ดูเป็นเหตุเป็นผลดี
ที่แปลกคือ KT-ST สัดส่วนการลงทุนดูเสี่ยงกลางๆ แต่กราฟ NAV กลับดูนิ่งกว่าเพื่อน อาจะเป็นได้ว่ามีการปรับพอร์ตหลังวิกฤตโควิดผ่านไปแล้วนะครับ
ในส่วนค่าธรรมเนียมเก็บจริง ไม่ต่างกันมากครับ มีกอง KTFIXPLUS-A ที่โดดไปเยอะกว่าเพื่อน ในขณะที่ K-FIXEDPLUS-A ถูกกว่าเพื่อนเยอะเลย แต่ผลตอบแทน 1 ปีของทุกกองก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่
ถึงตอนนี้กองที่ดูน่าสนใจ เสี่ยงน้อยผลตอบแทนดี ค่าธรรมเนียมกลางๆ ได้แก่ ABINC ส่วนกอง KT-ST ถึงแม้จะดูเสี่ยงมากขึ้น แต่ผลตอบแทนกลับสม่ำเสมอกว่ากองที่เหลือ นี่ก็น่าสนใจเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตถ้าวิกฤตโควิดผ่านไปแล้ว กองที่มีสัดส่วนหุ้นกู้เยอะๆอย่าง SCBFP อาจจะพลิกกลับมาชนะก็ได้นะ ก็ต้องคอยดูกันต่อไป
สุดท้ายข้อมูลในกลุ่ม E ข้อมูลทั่วๆไป
ABINC กองมีขนาดเล็กมากๆเมื่อเทียบกับกองอื่น ซึ่งกองขนาดเล็กเนี่ยถ้ามีการซื้อขายก้อนใหญ่ๆจะมีผลกับ NAV ได้มากนะครับ ตรงนี้อาจจะตัด ABINC ออกไป
อย่างไรก็ตามขนาดกองทุนใหญ่ๆ บางทีก็ไม่ช่วยอะไรนะครับ ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา กองทุนตราสารหนี้ของ TMB Eastspring ที่ปิดไปทั้ง 4 กอง มีขนาดกองทุนระดับหมื่นล้านทั้งหมด โดยกองที่เล็กสุดคือกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล (TMBBF) มีขนาด 10,000 ล้านบาท และ ที่ใหญ่สุดคือ กองทุนเปิดกรุงไทยธนพลัส (TMBTHANAPLUS) มีขนาด 75,000 ล้านบาท อ่านว่าเจ็ดหมื่นห้าพันล้านบาท แม่เจ้า สาเหตุหลักๆที่ทั้ง 4 กองต้องปิดตัวลง ตามที่วิเคราะห์กันก็คือมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ต่างประเทศค่อนข้างสูงนะครับ
ในที่นี้เอาเป็นว่าถ้าทุกอย่างมันพอๆกัน เราก็เลือกกองใหญ่ไว้ก่อนนะ สังเกตว่า KT-ST สภาพคล่องดีกว่ากองอื่นๆด้วยที่ T+1 กองที่เหลือ T+2 ทั้งหมด
ว่ากันตามข้อมูล กองที่ชนะเลิศได้แก่ แอ่ๆๆๆๆ (เสียงเอ็คโค่) KT-ST ส่วน ABINC ก็ดี ติดที่ขนาดกองเล็กไปหน่อย
ให้ผมเลือกอันดับสองคงเลือก K-FIXEDPLUS-A ที่ผลตอบแทนน้อยกว่ากองอื่นนิดหน่อย แต่ค่าธรรมเนียมถูกกว่ามาก ถึงจะเป็นกองที่เราเลือกมาจากกองระยะกลาง และดูแกว่งเยอะกว่ากองอื่น แต่ถ้าคิดลงทุนยาวๆเกิน 1 ปีก็น่าสนใจนะ
อย่างไรก็ตาม มันก็เหมือนๆกับกองทุนตลาดเงิน คือผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมาของกองตราสารหนี้นั้นอยู่ที่ 1.46% ซึ่งยังแพ้บัญชีบัญชีเงินฝากออนไลน์ดอกเบี้ยสูง เท่าที่เห็นในตลาดมีราวๆ 1.5-1.6% ต่อปีแถมเสี่ยงต่ำกว่า ถ้าจะหาที่เก็บเงินระยะสั้นๆ บัญชีเงินฝากออนไลน์อาจจะตอบโจทย์มากกว่า ก็ลองชั่งน้ำหนักดูนะครับ
ส่วนกองตราสารหนี้กว่าจะให้ผลตอบแทนในระดับเดิมที่ 2-3% อาจจะต้องรออีกสักระยะ
สำหรับนักลงทุนใจกล้า ในกรณีที่เราคิดว่าวิกฤตมันผ่านไปแล้ว และอยากลงทุนระยะยาวก็ซื้อได้นะ อธิบายได้ตามรูป
ที่ผ่านมา ถ้าไม่มีวิกฤตโควิดกองตราสารหนี้ก็น่าจะทำผลตอบแทนได้ตามปกติคือ 2-3% แต่พอเกิดวิกฤตทำให้มีช่วงที่ NAV ตกต่ำและฟื้นตัว ผลตอบแทนจึงตกต่ำลง
ถ้าเราซื้อตอนนี้ (หลังวิกฤตโควิด) จะเป็นยังไง
มันก็จะออกมาได้ 2 แบบ คือ ไม่มีวิกฤตแล้วผลตอบแทนกลับมาเท่าเดิม แต่ถ้ามีวิกฤตอีกก็ตัวใครตัวมัน ถ้าใครอยากซื้อ อย่างที่บอกใน EP 16 คือ ต้อง DCA และ คอยติดตามดู NAV บ่อยๆนะครับ
สุดท้ายนี้ ถ้าเราเลือกลงทุนในกองตราสารหนี้แล้ว ควรดาวน์โหลด Fund Fact Sheet มาเก็บไว้ก่อนเลย แล้วทำตารางเปรียบเทียบแบบนี้ทุกๆ 3- 6 เดือน ถ้ามีการปรับสัดส่วนการลงทุน เราจะได้รู้ว่า เออ ตอนนี้กองที่เราลงไปเนี่ย มันเสี่ยงมากขึ้น หรือ น้อยลงกว่าเดิม จะได้วางแผนปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับความต้องการของเรา
อาทิตย์หน้าจะพาไปดูกองตราสารหนี้ต่างประเทศนะครับ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
อ้างอิง:
สรุปข้อมูลสำคัญการลงทุน กองทุนเปิดกรุงไทย ตราสารหนี้ ระยะสั้น ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563
สรุปข้อมูลสำคัญการลงทุน กองทุนเปิดอเบอร์ดีน สแตนดาร์ด อินคัม ครีเอชั่น ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2563
สรุปข้อมูลสำคัญการลงทุน กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารหนี้ พลัส ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563
สรุปข้อมูลสำคัญการลงทุน กองทุนเปิดกรุงไทย ตราสารหนี้ พลัส ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2563
สรุปข้อมูลสำคัญการลงทุน กองทุนเปิด เค ตราสารหนี้ พลัส ณ วันที่ 31 กรกฏาคม 2563
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก > https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา