26 ก.ย. 2020 เวลา 01:46 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP19
“กองทุนตราสารหนี้ตอนที่ 6 (จบ) กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ”
สวัสดีครับ วันนี้มาถึงตอนสุดท้ายของตราสารหนี้กันแล้ว เราไปรู้จักกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศกันนะครับ กลุ่มนี้เรามักจะเจอในชื่อ โกลบอลบอนด์ (Global Bond) หรือ เวิล์ดบอนด์ (World Bond) แปลได้ว่าตราสารหนี้(จาก)ทั่วโลก บางทีก็จะบอกชื่อประเทศที่ไปลงทุนเลยก็มี
ในกรณีที่กองทุนนั้นลงทุนในตราสารหนี้ที่เสี่ยงมากๆ ก็อาจจะเรียกด้วยชื่อที่เจาะจงไปเลยว่า ไฮยิลด์บอนด์ (High Yield Bond) ซึ่งแปลแบบสุภาพได้ว่าตราสารหนี้ผลตอบแทนสูง แต่ถ้าแปลแบบไม่ไว้หน้าคือ ตราสารหนี้ขยะ ถถถถ
ส่วนตัวแล้ว ไม่แนะนำกองทุนกลุ่มนี้นะฮะ มาดูกันว่าทำไม
ไปที่เว็บมอร์นิ่งสตาร์ ในหน้าที่เราจะคัดกองทุน ถ้าต้องการดูกองตราสารหนี้ต่างประเทศ เราสามารถใส่ค่าที่ประเภทกองทุนแบ่งตามมอร์นิ่งสตาร์ได้ 2 แบบคือ Global Bond และ High Yield Bond ตามรูป
ซึ่งเราจะไปดูผลตอบแทนของทั้ง 2 ประเภท เริ่มจาก Global Bond ก่อน ใส่ค่าตามรูปครับ
จากนั้นไล่ดูผลตอบแทนระยะยาวตั้งแต่ 10 ปี จนถึง 1 ปี จะเห็นว่าที่ 3-10 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 3-4% เท่านั้นเอง
ผลตอบแทน 1 ปี เยอะหน่อยอยู่ที่ 7-8% แต่เมื่อดูผลตอบแทนในระยะยาวที่ผ่านมา (ดูผลตอบแทนย้อนหลัง 3-10 ปี)จะเห็นว่าผลตอบแทนก็ไม่สม่ำเสมอเท่าไหร่ คือมีตั้งแต่ประมาณ 3% ไปจนถึงติดลบ แสดงว่าผลตอบแทน 1 ปีที่ขึ้นมาเยอะๆนี่ อาจจะเป็นไปได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรที่เป็นเรื่องชั่วคราว เข้าไปซื้อตอนนี้เราก็อาจจะดอยได้
ลองไปดูผลตอบแทนของ Global High Yield Bond กันต่อ
ผลตอบแทนก็มาแนวๆเดียวกับ Global Bond
ผลตอบแทนที่เราเพิ่งไปดูกันมา มันบอกอะไร?
ครับ ผลตอบแทนมันไม่เยอะเนาะ ถ้าเทียบกับกองหุ้นที่จะได้ราวๆ 8-12%
(ถาม) แล้วความเสี่ยงเยอะมั๊ยครับ ถ้าความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นก็น่าสนนะ
(ตอบ) ตราสารหนี้ต่างประเทศนั้น ส่วนตัวมองว่าความเสี่ยงสูง 2 จาก 2 เรื่อง
เรื่องแรกคือเสี่ยงด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้าเราไปดู Fund Fact Sheet เราจะเจอว่ากองทุนกลุ่มนี้มักจะลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำกว่า BBB ซึ่งเรียกกันแบบหยาบคายว่า Junk Bond (ตราสารหนี้เกรดขยะ) ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ตามรูป
ซึ่งความเสี่ยงของตราสารหนี้กลุ่มนี้ ส่วนตัวมองว่าอาจจะมากกว่าหรือเท่ากับหุ้นเลยทีเดียว เพราะ Junk Bond ทั้งหลายที่เขาไปลงทุนเนี่ย เราไม่รู้เลยว่ามันเสี่ยงมากแค่ไหน ระยะสั้น-ระยะยาวเป็นไงก็ไม่รู้ ซึ่งนำไปสู่เรื่องที่ 2
เรื่องที่สอง อย่างที่บอกไปแล้วคือ เราไม่รู้ว่ามันเสี่ยงแค่ไหน ในกรณีกองทุนหุ้นที่จะพูดถึงใน EP ถัดไป เราพอจะคาดเดาผลตอบแทนในระยะยาวได้ แต่สำหรับกองตราสารหนี้กลุ่มนี้เราไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย
รวมความเสี่ยง 2 เรื่องนี้ ก็พอจะพูดได้ว่า “น่าจะเสี่ยงกว่าหุ้นนะ”
และเมื่อรวมกับผลตอบแทนที่น้อยกว่ากองหุ้น เราข้ามไปลงกองหุ้นเลยจะโอเคกว่า
หลายๆท่านอาจจะคิดว่าที่ผลตอบแทนกลุ่มนี้มันแย่ เป็นเพราะวิกฤตโควิดหรือเปล่า ตรงนี้เท่าที่เคยเห็นในสถานการณ์ปกติ ผลตอบแทนมากสุดเคยเห็นแถวๆ 8% ต่อปีนะครับ ซึ่งถ้าเทียบความเสี่ยงแล้ว กองทุนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 8-12% ต่อปี ก็ยังคุ้มกว่า
นอกจากเรื่องได้ไม่คุ้มเสียแล้ว กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศในบ้านเรานั้นยังมีเรื่องของค่าธรรมเนียมสองเด้งอีกต่างหาก
อะไรคือค่าธรรมเนียมสองเด้ง?
(ตอบ) กองทุนในบ้านเรา ถ้าไปลงทุนในต่างประเทศด้วยตัวเองตรงๆ เราจะเรียกว่ากองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ หรือเอฟไอเอฟ (FIF, Foreign Investment Fund) อย่างไรก็ตาม เรามักจะเห็นกอง FIF ที่เป็นเทิร์มฟันด์มากกว่า
ส่วนกองตราสารหนี้ต่างประเทศในกลุ่มที่ซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ลงทุนด้วยตัวเองตรงๆ แต่จะไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่อยู่ต่างประเทศอีกต่อนึง ซึ่งจะมีอยู่ 2 แบบ
แบบที่ 1 กองทุนที่ตั้งในบ้านเรา เอาเงินไปลงทุนในกองทุนที่อยู่ในต่างประเทศกองเดียว ตามหลักเกณฑ์อย่างเป็นทางการ ท่านว่า กองทุนในบ้านเราต้องเอาตังค์ไปลงมากกว่า 80% ของขนาดกองทุน
แบบนี้จะเรียกกองทุนในบ้านเราว่า ฟีดเดอร์ฟันด์ (Feeder Fund)
ส่วนกองที่อยู่ต่างประเทศจะเรียกว่า มาสเตอร์ฟันด์ (Master Fund)
แบบที่ 2 กองทุนในบ้านเรา เอาเงินไปลงทุนในกองทุนที่อยู่ในต่างประเทศหลายกอง ตามเกณฑ์ต้องเอาเงินไปลงมากกว่า 65% ของขนาดกอง แบบนี้จะเรียกกองในบ้านเราว่า ฟันด์ออฟฟันด์ส (Fund of Funds)
ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องจำก็ได้ครับ ว่าแบบไหนเรียกว่าอะไร แต่ให้รู้ว่ากองทุนทั้งสองประเภทนี้ เรามีโอกาสที่จะโดนค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้น เพราะว่าเมื่อกองทุนในบ้านเราไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศนั้น กองทุนบ้านเราก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กองต่างประเทศ ทีนี้พอกองทุนในบ้านเรามาเก็บค่าธรรมเนียมจากเรา เขาก็จะเอาค่าธรรมเนียมที่เสียให้กองต่างประเทศมาบวกเพิ่มเข้าไปด้วย
ซึ่งค่าธรรมเนียมบริหารจัดการรวม (TER) ของกองทุนกลุ่มนี้เก็บอยู่ที่ราวๆ 0.8-1% ซึ่งถือว่าแพงกว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น-กลางที่เพิ่งดูกันไปเมื่อ EP ก่อน ที่มีค่าธรรมเนียม TER อยู่ราวๆ 0.3-0.5%
จริงๆแล้วด้วยเหตุผลของการ ”ได้ไม่คุ้มเสี่ยง” เรื่องเดียวก็มากพอแล้วที่เราจะไม่ลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้เนาะ ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมสองเด้งนั้น เอามาให้ดูว่ามันมีเรื่องแบบนี้ด้วยนะ เดี๋ยวใน EP หลังๆ เราจะคุยกันถึงกองทุนกลุ่มที่ไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เราจะได้พูดถึงกันอีกทีนะครับ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก > https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา