3 ต.ค. 2020 เวลา 01:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP20
“กองทุนหุ้นตอนที่ 1 รู้จักกับ หุ้น และ ตลาดหุ้น”
สวัสดีครับ หลังจากเราจบกองทุนตราสารหนี้กันไปแล้ว วันนี้เรามาต่อกันที่กองทุนหุ้นนะครับ
เดี๋ยวๆครับพี่ ถ้าเรียงตามความเสี่ยง ต้องพูดถึงกองทุนผสมก่อนไม่ใช่เหรอครับ
(ตอบ) ใช่ครับ แต่ว่ากองผสมนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการผสมกันระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งตอนนี้เราเลือกกองตราสารหนี้เป็นแล้ว ถ้าเราเลือกกองหุ้นเป็น เราก็จะเลือกกองทุนผสมได้โดยที่ไม่ต้องอธิบายเยอะนะครับ
แน่นอนว่าทุกๆครั้งก่อนที่จะลงทุนในกองทุน เราต้องเข้าใจในสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นๆลงทุนก่อน ดังนั้นวันนี้ไปรู้จักกับหุ้น และ ตลาดหุ้นกันครับ
(ถาม) หุ้นคืออะไร
(ตอบ) หุ้นคือ หุ้นส่วนธุรกิจ
ในชีวิตจริง ถ้าเราไปเจอธุรกิจที่ดีมากๆ เช่น ไปเจอร้านอาหารแถวบ้านขายดีมากๆ อาหารอร่อย บรรยากาศดี ดนตรีเพราะ คนแน่นทุกวัน
ถึงเราจะรู้ว่าร้านนี้ทำกำไรดีแน่ๆ แต่ทว่าเราไม่สามารถเดินไปหาเจ้าของร้าน แล้วบอกว่า “พี่ครับ ผมขอเป็นหุ้นส่วนร้านด้วยคนสิครับ”
ถ้าใครลองดูแล้วปรากฏว่าทำได้ ช่วยมาบอกด้วยนะ 555
อย่างไรก็ตาม มีกิจการจำนวนมาก ที่อนุญาตให้คนทั่วไปอย่างเราๆเข้าไปร่วมเป็นหุ้นส่วนได้
เฮ้ย จริงดิ แล้วเราจะรู้ได้ไงว่า กิจการไหนมั่งที่เราเข้าไปเป็นหุ้นส่วนได้
(ตอบ) เราก็ต้องดูว่ากิจการนั้น จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือเปล่า เจ้าตลาดหลักทรัพย์เนี่ยโดยปกติแล้วเราจะเรียกว่า ”ตลาดหุ้น” นั่นเอง
ตลาดหุ้นบ้านเรามีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตัวย่อคือ SET ย่อมาจาก Stock Exchange of Thailand) เรื่องนี้รู้ไว้นะครับ เดี๋ยวตอนท้ายๆจะรู้ว่าทำไม
ซึ่งถ้าเราเจอว่ากิจการนั้นๆจดทะเบียนในตลาดหุ้น เราก็สามารถเข้าไปร่วมเป็นหุ้นส่วนได้ โดยการไปซื้อหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้นนั่นเอง ตัวอย่างบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นบ้านเรา เอาที่ดังๆก็เช่น
CPALL เจ้าของร้าน 7-11
CPN เจ้าของห้างเซ็นทรัล
PTT เจ้าของปั๊ม ปตท.
ADVANC เจ้าของเครือข่ายผู้ให้บริการมือถือและอินเตอร์เน็ต AIS
M เจ้าของร้าน MK สุกี้ และ ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ
MINT เจ้าของร้านไอติม Swensen, ร้านสเต๊ก Sizzler, ร้านพิซซ่าคอมปานี, โรงแรมอนันตรา และ กิจการอื่นๆอีกมากมาย
(ถาม) ทำไมกิจการใหญ่ๆพวกนี้ถึงไปอยู่ในตลาดหุ้นล่ะครับ?
(ตอบ) ต้องย้อนไปดูจุดประสงค์ของตลาดหุ้นก่อนนะครับ
ตลาดหุ้นนั้นจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริษัทต่างๆสามารถเข้ามาระดมทุนจากประชาชนทั่วไป สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากระดมทุนก็คือทางบริษัทได้เงินทุนไปขยายกิจการ โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเหมือนไปกู้ธนาคาร ส่วนคนที่ซื้อหุ้นก็จะได้ความเป็นเจ้าของกิจการ ทั้งหมดนี้จะถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานที่ชื่อ กลต. หน่วยงานเดียวกันกับที่ตรวจสอบกองทุนรวมนั่นไง
การเป็นเจ้าของกิจการนั้น สิ่งที่เราจะได้ก็คือ
1. ส่วนต่างของราคาหุ้นในอนาคต
ถ้าเราซื้อหุ้นวันนี้ แล้วในอนาคตราคาหุ้นตัวนั้นสูงขึ้น เราขายออกไปเราจะได้กำไรที่เรียกว่า ส่วนต่างราคาหุ้น (Capital Gain) ในทางตรงข้ามถ้าราคาหุ้นลดลง เราขายออกไปก็จะขาดทุน
2. เงินปันผล
ในกรณีที่บริษัททำกำไรได้ จะมีการแบ่งกำไรมาให้เราในรูปแบบของเงินปันผล ส่วนใหญ่จะจ่ายกันปีละ 1-2 ครั้ง
3. สิทธิในการเข้าประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี และร่วมโหวตในเรื่องต่างๆของบริษัท
เนื่องจากเราคือหุ้นส่วนธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของกิจการคนนึงเหมือนกันนะ ถึงจะมีแค่ 100 หุ้นก็เถอะ
4 สิทธิประโยชน์อื่นๆ
เช่น สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน, สิทธิในการซื้อหุ้นบริษัทลูกในกรณีที่บริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น ฯลฯ
ฟังดูดี ไปซื้อหุ้นกันเถอะ
ครับ ที่พูดไปข้างบนนั่นคือกรณีที่บริษัทนำหุ้นออกขายให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือที่เรียกกันว่า IPO ซึ่งจะมีราคาที่แน่นอน ถ้าเราอยากซื้อต้องจองซื้อเอา การซื้อหุ้น IPO จึงไม่ค่อยมีความซับซ้อนในเรื่องของราคา
หลังจาก IPO บริษัทได้เงินไปขยายกิจการแล้ว หุ้นทั้งหมดจะเข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้น ตอนนี้แหละที่ราคาหุ้นมันจะเริ่มแกว่งไปแกว่งมาตามปัจจัยหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องจริงจังอย่างบริษัทไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ ไปจนถึงเรื่องไร้สาระ อย่างข่าวลือ
ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้นด้วยตัวเองจึงค่อนข้างปวดหัว เราจำเป็นต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เวลา และ ประสบการณ์ ซึ่งการลงทุนในหุ้นด้วยตัวเองให้ได้กำไรสม่ำเสมอนั้น ยากแน่นอน
ยากขนาดที่มีคำพูดที่ว่า 10 คนเข้าตลาดหุ้น 8 คนขาดทุน 1 คนเท่าทุน มีคนได้กำไรเพียง 1 คนเท่านั้น ดูเหมือนเป็นคำพูดที่ไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนเนาะ เราลองไปดูข้อมูลจริงๆกันดีกว่า
ในปี 2562 ประเทศไทยมีบัญชีซื้อขายหุ้นเกือบๆ 2.8 ล้านบัญชี แต่บัญชีที่ยังมีการซื้อขายใน 6 เดือนที่ผ่านมามีแค่ประมาณ 7 แสนบัญชี คิดเป็น 25% เท่านั้นเอง
จริงอยู่ว่าอาจจะมีบัญชีบางส่วนที่นานๆจะซื้อหุ้นที แต่มันพอจะบอกได้เช่นกันว่า มีบัญชีเป็นจำนวนมากที่เจ้าของเลิกใช้ไปแล้ว
(ถาม) ทำไมล่ะครับ?
(ตอบ) ถ้าได้กำไรเขาก็คงอยู่ต่ออะครับ ที่หายไปนี่แสดงว่าเขาขาดทุนกันน่ะสิ
(ถาม) ทำไมล่ะครับ?
(ตอบ) คำถามนี่ก๊อบวางใช่มั๊ยครับ แหม่ อย่างที่บอกไปแล้ว การทำกำไรในตลาดหุ้นนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นอกจากความรู้ และ ประสบการณ์แล้ว เรายังต้องใช้เวลาเพื่อศึกษา และติดตามการลงทุนของเราอีกต่างหาก ดังนั้นคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนโดยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอ หรือ อาจจะไม่มีเวลาติดตาม ก็มักจะขาดทุนจนออกจากตลาดไปน่ะครับ
(ถาม) แปลว่าถ้าเราไม่มีความรู้ ประสบการณ์ และเวลา เราจะไม่มีทางได้ผลตอบแทนดีๆจากตลาดหุ้นใช่มั๊ยครับ
(ตอบ) ก็ไม่ใช่นะ เราสามารถลงทุนในตลาดหุ้นผ่านทางกองทุนรวมได้ แน่นอนว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้น เราไม่ต้องเชี่ยวชาญเรื่องหุ้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ และ ไม่ต้องใช้เวลามากนะครับ
ส่วนผลตอบแทน จากสถิติที่ผ่านมาก็ไม่ขี้เหร่ โดยกองทุนรวมหุ้นนั้นสามารถสร้างผลตอบแทน ในระยะยาว (มากกว่า 7 ปี) ได้ในระดับ 8-12% ต่อปีทบต้นเลยทีเดียว
เอาง่ายๆ จากใน EP9 ที่เราเห็นผลตอบแทน 10 ปีย้อนหลังของกองทุน TMB50 ก็ยังอยู่ในระดับ 8% ทั้งๆที่ช่วงนี้เรายังอยู่ในวิกฤตด้วยซ้ำไป และ ที่สำคัญ กอง TMB50 นั้นเป็นกองดัชนีที่ไม่ได้ตั้งใจจะเอาชนะตลาดอีกต่างหาก
แล้วกองดัชนีคืออะไร?
(ตอบ) เรื่องรายละเอียดของกองทุนหุ้น ขอยกไปคุยกันใน EP หน้านะครับ วันนี้เราไปรู้จักกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก่อน
ดัชนีนั้นก็คือนิ้วชี้ 555
อย่าเพิ่งฮาครับ ไม่ได้มุก มันคือแบบนี้
ดัชชี >> นิ้วชี้ >> ตัวชี้วัด เริ่มเข้าเค้าหรือยัง
ดัชนี (Index) ก็คือสิ่งที่เราดูแล้วสามารถบอกได้ทันทีเลยว่า มันดีหรือไม่ดี เพิ่มขึ้นหรือลดลง ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้เป็นตัวเลข
เช่น ตอนเราเรียน สิ่งที่เอามาชี้วัดว่าเราเรียนดีหรือเปล่าก็คือเกรดเฉลี่ย
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็เหมือนเกรดเฉลี่ยเรานี่แหละ คือเป็นตัวเลขเพื่อใช้ดูแล้วบอกว่า ตอนนี้มูลค่าบริษัทในตลาดทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากวันแรกที่เปิดตลาดเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มมากก็แสดงว่าเศรษฐกิจบ้านเราเติบโตมากขึ้น
ซึ่งวันแรกที่เปิดตลาด ในวงการจะเรียกว่าวันฐาน (วันที่ 30 เมษายน 2518) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ มีค่าเริ่มต้นในวันแรก 100 จุด ดังนั้นทุกวันนี้ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์วิ่งอยู่แถว 1200-1300 จุด ก็พอจะบอกได้ว่า มูลค่าบริษัทในตลาดเติบโตขึ้น 12-13 เท่า
ยัง ยังไม่พอ
เราสามารถใช้ดูเปรียบเทียบกับเมื่อวานได้ว่า วันนี้หุ้นขึ้นหรือหุ้นตก ส่วนจะขึ้นมาก หรือ ตกมากแค่ไหนนั้น ทำได้โดยการเอาไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ผ่านมา
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตอนแรกสุดเรามีดัชนีเดียวนั่นคือ ดัชนี SET คำนวณมาจากมูลค่าของบริษัททั้งหมดในตลาดในวันนั้นๆ โดยใช้วิธีคล้ายๆการคำนวณเกรดเฉลี่ยแบบตอนที่เราเรียนนั่นเลย คือถ้าบริษัทไหนใหญ่มาก จะมีผลกับดัชนีมาก เปรียบได้กับวิชาที่มีหน่วยกิตเยอะ จะมีผลกับเกรดเฉลี่ยมากกว่าวิชาที่หน่วยกิตน้อยๆ
สมัยเรียนน่าจะรู้กันดีเนาะ ถ้าเราได้ A วิชาที่มี 1 หน่วยกิตแล้วทะลึ่งไป F วิชา 3 หน่วยกิต นี่ อารมณ์มันอยากวิ่งออกไปกรีดร้องหน้าปากซอย
ต่อมาทางตลาดหลักทรัพย์ก็มีการทำดัชนีเพิ่มขึ้นมาคือ SET100 และ SET50 ซึ่งดัชนีจะคำนวณจากหุ้นของบริษัท 100 บริษัท (ในกรณีของ SET100) และ 50 บริษัท (ในกรณีของ SET50) โดยบริษัทที่จะอยู่ใน SET50 และ SET100 จะต้องมีมูลค่าบริษัทสูง และ เข้าเกณฑ์ที่ทางตลาดกำหนด เข้าใจง่ายๆว่าคัดหัวกระทิมาว่างั้นเหอะ
ซึ่งบริษัทที่อยู่ใน SET50 ก็จะอยู่ใน SET100 ด้วยนะ โดยทางตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เรียงลำดับหุ้นอันดับ 1 2 3 อะไรแบบนี้นะ หรือ จริงๆอาจจะมีเรียงก็ได้ แต่ไม่ได้ประกาศออกมาให้รับรู้กัน บริษัทที่อยู่ใน SET50, SET100 จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 6 เดือน บริษัทไหนดูแย่ลงก็จะเอาออก หรือ มีบริษัทที่ดีกว่าก็จะได้เข้ามาแทน
จริงๆยังมีอีกหลายดัชนี เช่น กลุ่มดัชนีหุ้นปันผลสูง (SETHD) แต่ขอไม่พูดถึงในที่นี้นะครับ การที่เราจะลงทุนผ่านกองทุนหุ้น เบื้องต้นเข้าใจแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
คิดว่าวันนี้น่าจะเข้าใจเรื่องหุ้น กับ ตลาดหุ้นกันแล้วเนาะ EP หน้าเราจะไปรู้จักกองทุนหุ้นกันนะครับ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก > https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา