10 ต.ค. 2020 เวลา 01:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP21
“กองทุนหุ้นตอนที่ 2 รู้จักกับกองทุนหุ้น”
สวัสดีครับ วันนี้มาต่อกันที่กองทุนที่ลงทุนในหุ้นนะครับ ปกติแล้วเราก็จะเรียกกันสั้นๆว่า “กองทุนหุ้น” ซึ่งบางก็จะเรียกกันให้สั้นมากกว่านั้นอีกว่า “กองหุ้น”
แน่นอนว่ากองหุ้นก็จะลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ตามกฏหมายท่านว่า จะเรียกตัวเองว่าเป็นกองหุ้นได้ต้องลงทุนในหุ้นโดยเฉลี่ยมากกว่า 80% ของมูลค่ากองทุนนะ โดยกองหุ้นจะมีระดับความเสี่ยงอยู่ที่ 6-7 ขึ้นอยู่กับว่าลงทุนในหุ้นแบบไหน
เสี่ยงระดับ 6 จะลงหุ้นกระจายหลายๆกลุ่ม บางทีก็จะเรียกว่ากองหุ้นทั่วไป (แปลมาจากคำว่า Equity General นะครับ โดย Equity แปลว่าหุ้น และ General แปลว่า ทั่วไป)
เสี่ยงระดับ 7 จะลงหุ้นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล หรือ กลุ่มธุรกิจพลังงาน อะไรแบบนี้
สาเหตุที่กองทุนเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนในหุ้นทั่วไป เป็นเพราะว่า กองทุนเฉพาะกลุ่มมีการกระจายความเสี่ยงน้อย
สมมติว่าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ธุรกิจกลุ่มนั้นๆมีปัญหาขึ้นมา กองทุนนั้นก็จะได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ต่างจากกองทุนหุ้นทั่วๆไปที่ลงทุนกระจายไปในหุ้นหลายกลุ่ม ต่อให้มีกลุ่มอุตสาหกรรมไหนมีปัญหา ก็จะได้รับผลกระทบบางส่วน เพราะหุ้นในกลุ่มอื่นๆอาจจะไม่ได้รับผลกระทบด้วย
ใน EP นี้ เพื่อให้เข้าใจในภาพรวม จะขอพูดถึงเฉพาะกองหุ้นแบบทั่วไปก่อน ส่วนกองหุ้นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขอยกไปไว้ EP ท้ายๆนะครับ
(ถาม) กองหุ้น นี่เค้าทำกำไรจากการซื้อๆขายๆหุ้นเหรอครับพี่
(ตอบ) ใช่ครับ แต่ไม่ได้ซื้อๆขายๆระยะสั้นๆทั้งหมดนะ เรื่องนี้ขอตอบยาวหน่อย
กองหุ้นเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายว่า กองทุนรวมนั้นทำกำไรในระยะยาวได้ยังไง
กองทุนที่เราคุยกันไปแล้วอย่างกองตลาดเงินและกองตราสารหนี้นั้น มันเข้าใจได้ไม่ยากเนาะ เอาเงินไปฝากธนาคาร หรือ ซื้อตราสารหนี้ แล้วก็ได้ผลตอบแทนตามนั้น ซึ่งผลตอบแทนที่ว่า ก็อิงกับดอกเบี้ยนโยบาย และ เป็นผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอน
แต่ในหุ้นเนี่ย อย่างที่เรารู้กันว่าราคามันผันผวนขึ้นๆลงๆตลอดเวลา ไม่สามารถซื้อให้ได้กำไรแน่ๆในเวลาสั้นๆได้ และ การซื้อๆขายๆเพื่อทำกำไรระยะสั้นนั้นจะทำให้มีโอกาสขาดทุนสูง
ดังนั้นกองหุ้นเขาจะวางนโยบายก่อนว่า กองทุนนี้จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนแถวๆดัชนีตัวไหน ก็จะซื้อหุ้นให้ได้ผลตอบแทนแถวๆดัชนีตัวนั้น เรียกว่าต้องมีการ “อิง” กับดัชนีตัวใดตัวหนึ่ง
ซึ่งกองหุ้นทั่วไปจะลงทุนโดยอิงกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นโดยรวม ในบ้านเราคือดัชนี SET หรือ ดัชนีที่เป็นตัวแทนตลาด ของบ้านเราก็อย่างเช่น SET50, SET100
วิธีการลงทุนของกองหุ้นที่ว่าอิงกับดัชนีนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ
- แบบพาสซีฟ (Passive) กองทุนจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนตามดัชนีนั้นๆ ไม่เน้นเอาชนะ ขอแค่เสมอก็พอ วิธีการก็ไม่ยุ่งยาก ทางกองทุนลงทุนด้วยการซื้อหุ้นให้ได้ตามสัดส่วนที่เขาจะเอาไปคำนวณดัชนีนั้นๆ
โดยทั่วไป เรามักจะเรียกกองทุนพาสซีฟที่ลงทุนในดัชนีที่เป็นตัวแทนตลาดว่า “กองดัชนี” (Index Fund) เช่น กองทุนที่ลงทุนใน SET, SET50, SET100 หรือ กองทุนที่ลงทุนในดัชนีของต่างประเทศ ก็อย่างเช่น กองทุนที่ลงทุนในดัชนี S&P ของอเมริกา, กองทุนที่ลงทุนในดัชนี A-Share, H-Share ของจีนของจีน
- แบบแอคทีฟ (Active) ทางกองทุนจะพยายามเอาชนะดัชนี คือพยายามทำผลตอบแทนให้ดีกว่าดัชนีที่ไปลงทุน
วิธีนี้ทำได้โดยการซื้อหุ้นที่คิดว่าจะให้ผลตอบแทนเยอะกว่าดัชนี หรือ อาจจะทำแบบกองพาสซีฟ แต่เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่คิดว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนีให้เยอะขึ้น
ซึ่งในกองตลาดเงิน และ กองตราสารหนี้ก็มีแบบ แอคทีฟ และ พาสซีฟ นะครับ แต่เนื่องจากผลตอบแทนของทั้ง 2 กลุ่มไม่สูงมาก จึงไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง
วิธีการลงทุนที่แบ่งเป็น แอคทีฟ กับ พาสซีฟ ใน Fund Fact Sheet จะเรียกแบบเป็นทางการว่า “กลยุทธ์ในการบริหารจัดการ”
(ถาม) อ่าว แบบนี้คนก็แห่ไปซื้อกองแอคทีฟกันหมดสิครับ
(ตอบ) ก็ไม่แน่นะครับ เพราะกองแอคทีฟนั้น ถึงจะตั้งใจจะเอาชนะ แต่บางทีผลออกมากลายเป็นว่าไม่ชนะก็มี และเนื่องจากตั้งใจที่จะเอาชนะ มันต้องมีการทำงานที่เยอะกว่ากองพาสซีฟ ดังนั้นค่าธรรมเนียมต่างๆของกองแอคทีฟก็มักจะเยอะกว่ากองพาสซีฟ
ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการรวม (TER) กองทุนที่บริหารแบบพาสซีฟ
ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการรวม (TER) กองทุนที่บริหารแบบแอคทีฟ
จากรูปที่เอามาเป็นตัวอย่าง จะเห็นว่าค่าธรรมเนียมบริหารจัดการรวม (TER) ของกองแอคทีฟ เยอะกว่ากองพาสซีฟเกือบๆ 3 เท่าตัวเลยนะ โอ้โฮ
ดังนั้นหลายๆครั้งเราจึงเจอว่า ผลตอบแทนของกองพาสซีฟ เมื่อหักค่าธรรมเนียมแล้ว ดันทะลึ่งเยอะกว่ากองแอคทีฟ แล้วจะแอคทีฟไปเพื่ออะไร 5555
อย่างไรก็ตามนะฮะ ในบ้านเราส่วนใหญ่กองแอคทีฟหักค่าธรรมเนียมแล้ว ยังชนะกองพาสซีฟอยู่นะ เดี๋ยวจะได้เห็นกันตอนไปคัดกองหุ้น
(ถาม) สงสัยต่ออีกนิดครับ เนื่องจากการลงทุนของกองหุ้นมันอิงกับดัชนี ถ้าเกิดว่าวันนี้เราซื้อกองหุ้นที่ดัชนีเท่านี้ สมมติอีก 10 ปี เกิดหุ้นตกลงมาที่ดัชนีเท่ากับวันที่เราซื้อ แบบนี้เราก็ไม่ได้กำไรสิครับ
(ตอบ) เข้าใจผิดนะครับ อย่างที่เราคุยกันใน EP ที่แล้วว่า ถ้าเราซื้อหุ้น สิ่งที่เราจะได้จากหุ้นไม่ใช่แค่จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เรายังได้เงินปันผล และ สิทธิประโยชน์อื่นๆอีก ซึ่งในกรณีที่กองทุนไปซื้อหุ้น กองทุนก็จะก็ได้แบบเดียวกัน
แต่ทว่า ดัชนี SET, SET50 และ SET100 คำนวณมาจากราคาหุ้นเท่านั้น ดังนั้นถ้า 10 ปีผ่านไปดัชนีกลับมาที่เดิมจริง แต่ NAV ของกองหุ้นจะมากกว่านั้นแน่นอนฟันธง แต่มีข้อแม้ว่ากองทุนนั้น ต้องเป็นกองทุนที่มีผลงานดี และ เป็นกองทุนไม่จ่ายปันผลด้วยนะ
ตรงนี้อย่าสับสนนะครับ กองหุ้นไปซื้อหุ้น ถ้าหุ้นตัวนั้นจ่ายปันผล กองทุนก็จะได้รับเงินปันผล โดยกองทุนนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องจ่ายเงินปันผลคืนให้คนถือหน่วยลงทุน
แต่กองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลเนี่ย ไม่ว่าเขาจะได้รับปันผลหรือไม่ก็ตาม เขาจะต้องจ่ายปันผลออกมาให้ผู้ถือหน่วยลงทุนนะ ยกเว้นว่ากองทุนนั้นเกิดขาดทุนขึ้นมา ก็อาจจะงดจ่ายปันผลในปีนั้นๆ
กลับมาที่เรื่องดัชนี และ NAV เราลองไปดูตัวอย่างกันดีกว่า
จากรูปจะเห็นว่ากราฟดัชนี SET เดือนตุลาคม 2020 (พ.ศ.2563) มันพอๆกับ ดัชนีในเดือนมกราคม 2016 (พ.ศ.2559)
เราลองไปดู NAV ของกองทุนที่ลงทุนแบบพาสซีฟในดัชนี SET กันดีกว่า นั่นคือกอง SCBSET นะครับ
จะเห็นว่าราคาไม่เท่ากันนะครับ โดย NAV เดือนตุลาคม 2563 มากกว่า NAV ของเดือน มกราคม 2559 อยู่เกือบๆ 1.7 บาท เยอะกว่าราวๆ 10% ซึ่งถือว่าเยอะอยู่นะ
เรื่องนี้ยังส่งผลกระทบชิ่งไปถึงการเปรียบเทียบผลงานของกองทุนด้วย เพราะกองทุนได้เงินจากปันผลของหุ้นที่เข้าไปถือด้วย ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับดัชนีที่คำนวณมาจากราคาอย่างเดียว กองทุนก็จะชนะตลอด มันก็เหมือนโกงใช่มั๊ย 555
ดังนั้นเวลาเปรียบเทียบ เราเลยต้องเอาไปเปรียบเทียบกับดัชนีที่ชื่อว่า SET TRI ย่อมาจาก SET Total Return Index ซึ่งมีการเอาปันผลของหุ้นรวมคำนวณดัชนีด้วย
เป็นเหตุผลว่าใน Fund Fact Sheet เราจึงเห็นการเปรียบเทียบผลงานกองหุ้น กับดัชนี SET TRI นั่นเอง
โดยดัชนีที่เอาไปเปรียบเทียบเขาจะเรียกว่าดัชนีชี้วัด และ การเอาไปเปรียบเทียบจะเรียกแบบเกร๋ๆว่าการทำ เบนช์มาร์ค (Benchmark)
คิดว่าน่าจะครบถ้วนสำหรับการรู้จักกองทุนหุ้นแล้ว อาทิตย์หน้าเราจะเริ่มคัดกองหุ้นกันนะครับ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
อ้างอิง:
สรุปข้อมูลสำคัญการลงทุน กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เซ็ท อินเด็กซ์ ฟันด์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563
สรุปข้อมูลสำคัญการลงทุน กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล ณ วันที่ 1 กันยายน 2563
สรุปข้อมูลสำคัญการลงทุน กองทุนเปิดทหารไทย SET50 ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2563
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก > https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา