17 ต.ค. 2020 เวลา 01:54 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP22
“กองทุนหุ้นตอนที่ 3 เริ่มคัดเลือกกองทุนหุ้น”
สวัสดีครับ เราเพิ่งรู้จักกองหุ้นกันไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แน่นอนว่าวันนี้เราคงจะไม่ไปคัดกองประเภทอื่น เราต้องคัดกองหุ้นกันดิ
เพื่อให้เข้าใจง่าย วันนี้จะคัดกองทุนหุ้นทั่วไปที่ลงทุนในประเทศก่อนนะครับ ส่วนกองทุนหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศ และ กองทุนหุ้นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขอยกไปไว้ EP หลังๆ
ซึ่งการคัดกองหุ้นเราก็ใช้สเต็ปเดิมๆที่ใช้คัดกองตลาดเงิน และ กองตราสารหนี้นั่นแหละ ไปเริ่มกันที่หน้าคัดกองทุนในเว็บ Morningstar Thailand กันเลย
ใส่ตัวเลือกตามนี้
นโยบายปันผล ไม่จ่าย
ประเภทสินทรัพย์ เลือก Equity ซึ่งคำว่า Equity แปลว่าหุ้นนะครับ
จากนั้นเว็บจะขึ้นชื่อกองทุนหุ้นทั้งหมดมาให้เรา โดยไม่สนใจว่าเป็นกองหุ้นเฉพาะกลุ่ม หรือ กองหุ้นต่างประเทศ เรียกว่ากองทุนที่ลงทุนในหุ้นทั้งหมดมีเท่าไหร่ จะขึ้นมาโชว์หมดเลย
ก่อนอื่น ให้เราเรียงกองทุนทั้งหมดตามผลตอบแทนระยะยาวก่อน
ยาวแค่ไหน แนะนำว่าควรดูยาวๆ 10 ปีไปเลย
เสร็จแล้วเลื่อนลงมาด้านล่าง ปรับการแสดงผลกองทุนจาก 10 เป็น 50 กองทุนใน 1 หน้า
จากนั้น เนื่องจากเราจะดูเฉพาะกองหุ้นทั่วไปที่ลงทุนในประเทศ เราต้องตัดกองที่ไม่เกี่ยวออกไปก่อน ตามรูปคือกองที่มีไฮไลท์สีแดงนะครับ
การตัดให้เหลือเฉพาะ “กองหุ้นทั่วไปที่ลงทุนในประเทศ” ต้องใช้ประสบการณ์เข้าช่วยนิดหน่อย เบื้องต้นดูตามนี้ครับ
1. กองทุนที่ลงทุนต่างประเทศ มักจะมีคำว่า โกลบอล (Global), เวิลด์ (World) และประโยคที่สื่อถึงความเป็นต่างประเทศ กองทุนที่อยู่ในรูปคือกองที่มีคำพวกนี้อยู่ในชื่อ
เอสแอนด์พี 500 ตัวนี้เป็นชื่อดัชนีของตลาดหุ้นอเมริกา
ยูเอส กับ อเมริกัน สองคำนี้สื่อถึงประเทศอเมริกา
2. กองทุนหุ้นรายอุตสาหกรรม ในรูปคือกองทุนที่มีคำว่า พร็อพเพอร์ตี้ คือกองทุนที่เน้นลงทุนเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ส่วน กองที่มีคำว่า เฮลธ์แคร์ เน้นลงทุนกลุ่มโรงพยาบาล
3. กองที่มีคำว่า “เพื่อการเลี้ยงชีพ” กลุ่มนี้เป็นกอง RMF และคำว่า “เพื่อการออม” กลุ่มนี้เป็นกอง SSF
ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มเป็นกองลดหย่อนภาษี มีเงื่อนไขในการซื้อ ไม่สามารถซื้อตามใจเราได้ เรื่องนี้เราค่อยไปคุยกันทีหลัง
4. กองที่มีคำว่า รับซื้อคืนอัตโนมัติ กลุ่มนี้จะคล้ายๆกองที่มีปันผล
สำหรับกองทุนที่มีคำว่า “หุ้นระยะยาว” คือกอง LTF ซึ่งในอดีตเคยซื้อแล้วลดหย่อนภาษีได้ แต่ในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ใช้ลดหย่อนภาษีไม่ได้แล้ว กลายสภาพเป็นเหมือนกองทุนหุ้นทั่วๆไป ซึ่งเราสามารถซื้อได้นะ แต่เอาไปลดหย่อนภาษีไม่ได้แล้ว
จากรูปเราได้กองทุนมาทั้งหมด 5 กอง ตามที่วงไว้ ขออนุญาตตัดกองทุนบัวแก้วออกไป 1 กองเพราะในลิสต์นี้มีกองทุนจาก บลจ. บัวหลวง 2 กองแล้ว ถ้ามี 3 กองมันจะเยอะไป
1. กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP)
2. กองทุนเปิดทิสโก้สแตรทิจิกฟันด์ (TSF)
3. กองทุนเปิดวรรณเอเอ็มเซ็ท 50 ชนิด RA (1AMSET50-RA)
4. กองทุนเปิดบัวแก้ว 2 (BKA2)
5. กองทุนเปิดอเบอร์ดีนสแตนดาร์ด สมอลแค็พ (ABSM)
เมื่อได้ชื่อกองทุนมาแล้ว ตามขั้นตอนเดิมๆเลยครับ ไปดูกราฟ NAV ของแต่ละกองทุนจากเว็บ Wealkmagik กัน ซึ่งกองหุ้นเนี่ย เราไม่จำเป็นต้องดูว่ากราฟมันแกว่งมาก หรือ แกว่งน้อย เพราะมันจะแกว่งมากทุกกอง 5555
เรื่องที่เราต้องดูคือ NAV ของแต่ละกอง มีแนวโน้มไปในทางเดียวกันหรือเปล่า ให้ดูรวมกันได้เลย วิธีทำให้ไปที่กราฟ NAV ของกองแรก คือกองบัวหลวงทศพล (BTP) ก่อนนะครับ แล้วคลิ้กที่แท็ปผลการดำเนินงานทางซ้ายมือ
คลิ้กที่ เลือกกองทุนที่ต้องการเปรียบเทียบ
เอาติ้กถูกที่ บลจ. เดียวกันออก ให้เหลือติ้กถูกที่ประเภทกองทุนเดียวกัน ตามรูป
จากนั้นเลือกกองทุนที่เหลือทั้ง 4 กองทุนมาให้ครบ
ได้กองทุนครบแล้วกดที่ OK
เราจะได้กราฟ NAV ของทุกกองมาดู ซึ่งด้านล่างจะมีบอกว่า สีอะไรเป็นกองไหน แต่ทว่ากราฟที่ได้มานี้เป็นกราฟระยะสั้น 3 เดือน ซึ่งในกรณีของกองหุ้น เวลาแค่ 3 เดือนมันแทบจะบอกอะไรไม่ได้เลย
ลองปรับไปดูกราฟ 3 ปี, 5 ปี และ 10 ปี แล้วดูว่ามีกราฟของกองไหนที่แตกต่างจากกองอื่นๆบ้าง และ แตกต่างในทางที่ดีหรือไม่ดี
จากที่เลือกมา เราจะเห็นความแตกต่างตั้งแต่กราฟ 3 ปีละนะ
จากรูปกองทุนทั้งหมดที่ผ่านๆมามีแนวโน้มที่ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ พอเกิดวิกฤตโควิด NAV ของทุกกองก็ดิ่งลงเหมือนกันหมด อย่างไรก็ตามหลังจากจุดต่ำสุด กอง TSF ดูจะกลับมาได้ดีกว่าเพื่อน ตามมาด้วยกอง ABSM แต่ที่ผ่านมาไกลๆ ABSM ดูไม่ค่อยสม่ำเสมอเท่าไหร่นะ
ซึ่ง ณ จุดนี้เรายังบอกไม่ได้ว่าทำไม TSF ถึงทำได้ดีกว่าเพื่อน การที่เราจะบอกได้ ก็ต้องไปดูที่สัดส่วนการลงทุนของทั้ง 5 กอง และเนื่องจากที่ผ่านๆมาทั้ง 5 กอง ก็มีแนวโน้มไม่ต่างกันมาก ดังนั้นเรายังไม่ตัดกองไหนออกนะครับ แค่ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า TSF ทำได้ดีกว่าที่เหลือ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนล่าสุด แล้วเดี๋ยวไปดูอีกทีตอนทำตารางเปรียบเทียบกองทุน
วิธีดูกราฟ NAV รวมกันในกราฟเดียวแบบนี้ จริงๆแล้วสามารถใช้กับกองตลาดเงิน และกองตราสารหนี้ได้นะครับ แต่ว่ากองตลาดเงินและกองตราสารหนี้นั้น บางทีประเภทของกองทุนมันปนๆกันอยู่ ต้องเอาติ้กที่กองทุนประเภทเดียวกันออกด้วย ทำให้มีรายชื่อกองทุนเพิ่มมาเยอะ (มากกก) เลื่อนหากองทุนยากมาก ดูทีละกองจะง่ายกว่า ใครอยากลองของเชิญลองดูได้
เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูผลตอบแทนของกองทุนหุ้นนะครับ
จาก EP ที่แล้ว เรารู้ว่ากองทุนจะมีการลงทุนแบบเน้นเอาชนะ (Active) และ ขอแค่เสมอ (Passive) ถ้าเรารู้ว่ากองพาสซีฟที่ได้ผลตอบแทนดีที่สุดคือกองไหน บรรดากองแอคทีฟที่ผลตอบแทนต่ำกว่า เราสามารถตัดทิ้งไปได้เลย ถูกมั๊ยครับ
อ้าวๆ งงล่ะสิ คืองี้ครับ ถ้ากองที่ตั้งใจเอาชนะ (แอคทีฟ) ดันทะลึ่งมีผลตอบแทนแพ้กองที่กะเอาแค่เสมอก็พอ (พาสซีฟ) มันก็แปลว่ากองแอคทีฟพวกนั้นไม่น่าสนใจแล้วสิ
ซึ่งกองแอคทีฟที่มีผลตอบแทนดีในตลาด จะมีอยู่ 3 กองที่ดังๆ นั่นคือกองทุนเปิดทหารไทย SET50 (TMB50), กองทุนเปิดJumbo 25 (JB25), กองทุนเปิดไทยพาณิชย์เซ็ทอินเด็กซ์ฟันด์ (SCBSET)
ดังนั้น ตอนที่เราเรียงผลตอบแทนกองทุนในเว็บ Morningstar ถ้าเราเลื่อนลงมาเจอ 1 ใน 3 กองพาสซีฟนี้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องดูกองที่ได้ผลตอบแทนที่แย่กว่านี้แล้วก็ได้
ถึงตอนนี้เราได้ชื่อกองทุนหุ้น 5 กอง ที่จะเอาไปคัดละเอียดกันต่อใน EP หน้าแล้ว อาทิตย์หน้าเจอกันกับการทำตารางเปรียบเทียบกองทุนนะครับ ตารางมันก็จะต่างกับการคัดกองตลาดเงิน และ กองตราสารหนี้หน่อยๆ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก > https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา