28 ก.ย. 2020 เวลา 01:11 • ปรัชญา
๒๔. ตะวันออก – ตะวันตก
มีเรื่องขำจะเล่าให้ฟัง ตอนผมอยู่ออสเตรเลีย เพื่อนฝรั่งคนหนึ่งเขาถามผมว่า คุณกำลังจะไว้หนวดใช้ไหม เขาใช้คำว่า “Are you going to grow your beard?”
เมื่อผมตอบเขาว่า ไม่ ผมไม่ได้ปลูกมัน ผมเพียงแต่หยุดโกนมัน
เขาแสดงอาการงุนงงท้ายสุดก็หัวร่อ นั่นแสดงว่าภาษาฝรั่งเป็นภาษาซึ่งมักสวนทางกับขบวนการธรรมชาติ เพราะภาษาคือวัฒนธรรมรูปหนึ่งและเติบโตขึ้น Anti ต่อขบวนการธรรมชาติ
ผมไม่เคยปลูก เราทำให้มันงอกหรือว่าเราเพียงปล่อยอย่ายุ่งกับมัน ใครจะปลูกหนวดได้ เพียงแต่เราหยุดโกนเท่านั้นมันก็งอกออกมา ภาษาไทยนั้นเราใช้คำว่าไว้หนวด
ผมตอบเขาเล่น ๆ แต่เป็นเหตุให้ต้องถกกันใหญ่ว่าภาษาของใครจะกระชับความกว่า
ผมบอกว่าผมเพียงแต่หยุดโกนเท่านั้น เขาถามผมว่า คุณกำลังปลูก คุณกำลังทำมัน ในเมื่อโดยความจริงคือการหยุดทำ เลิกทำ
วัฒนธรรมตะวันตกเป็นวัฒนธรรมแห่งการกระทำ To do ต้องทำอะไรออกมา เราต้องสร้างสรรค์และมนุษย์ต้องสร้างสรรค์ เราต้องทำอะไรเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์และความสามารถเยี่ยงวีรบุรุษ
ดาวินซี, ไมเคิล แองเจโล, ราฟาเอล กลายเป็นเหมือนกับราชา คือผู้คนยกย่อง ราวกับเป็นเทวดา เพราะว่าเขาสามารถทำศิลปะได้
ส่วนทางจีนนั้น คำอธิบายสภาวะของมนุษย์ของจางจื้อนับว่าสำคัญนัก จางจื้อทำให้คำสอนของเหลาจื้อซึ่งมีคำสอนที่สั้นมากในเต๋าเต้กิงได้แพร่หลายและเป็นที่เข้าใจได้
วัฒนธรรมของจีนมีอยู่สองระดับคือ จริยธรรมและวิถีทางของเต๋า แต่ก็มีจุดยอดรวมกันที่เต๋า เต๋าแปลว่าวิถีของธรรมชาติ ถ้าเราจะศึกษาให้ซาบซึ้งศิลปะจีนทุกยุค เราจะลืมเรื่องเต๋าไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเราจะเข้าไม่ถึงศิลปะจีนเลย
จีนถือว่าการแสดงออกทางศิลปะนั้นเป็นการแสดงออกของวิถีทางของเต๋า ไม่ใช่สร้างเพื่อให้มีผลงานศิลปะแบบตะวันตก
ดังนั้นกรรมวิธีของจีนนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับกรรมวิธีของตะวันตก
นอกเหนือจากมิติต่างกันแล้วกรรมวิธีก็ต่างกัน
ตะวันตกสร้างศิลปะเพียงเพื่อให้มีงานศิลปะ ตะวันออกโดยเฉพาะจีนการสร้างงานศิลปะนั้นเพื่อการตรัสรู้เพื่อเข้ารวมกับเต๋า
อย่างตะวันตกศิลปินอยู่ใน Studio เขาตั้งเฟรมเขียนรูปเขาอาจจะไปเต้นรำหยำเปก่อนก็ได้ รุ่งเช้ามาเขียนต่อได้ เขาสามารถทำเพราะเป็นเรื่องความคิด การสร้างภายใต้มิติความคิด แต่ว่าศิลปินทางตะวันออกโดยเฉพาะจีนและอินเดียนั้น วิถีชีวิตของเขาละม้ายกับนักพรตมากกว่าศิลปิน
ศิลปินตะวันตกมักมีลักษณะเป็นนักปรัชญาสาขาสุนทรียศาสตร์ แต่ศิลปินทางตะวันออกนั้นค่อนข้างเป็นนักพรต ดังนั้นเขาจะรักษาตัว เขาจะภาวนาเพื่อที่จะวาดรูป และการวาดรูปไม่ใช่เพื่อให้มีงานออกมาเท่านั้น แท้จริงคือการปฏิบัติโลกุตรธรรม
ดังนั้นเราจะเห็นแล้วว่า จากอริสโตเติ้ลจนถึงปิกัสโซ่ที่ถือว่า Art เป็นสิ่งที่แยกทางจากธรรมชาติ (แม้แรงดลใจจะมาจากธรรมชาติ) จะต้องถูกทัศนะจากซีกโลกตะวันออกซึ่งพระอาทิตย์ขึ้นก่อนตอบโต้อย่างรุนแรงว่า เมื่อฐานะของชีวิตกับธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวกัน Art จะต้องไม่เป็นสิ่งที่สวนทางกัน
เกี่ยวกับประโยคคำขวัญหลักของอินเดียที่ว่า ปรากฏการณ์ทั้งหลายเป็นสิ่งเดียวกับตัวเรา เรากับพรหมเป็นเอกภาพกัน และจางจื้อว่า ฟ้าดินเป็นสิ่งเดียวกับอั๊วและอั๊วเป็นสิ่งเดียวกับสรรพสิ่งนี่เอง ที่เป็นหลักกำหนดมรรควิถีศิลปะของตะวันออก
ในขณะที่ทางตะวันตกนั้นได้ก่อร่างขึ้นมาจากรากฐานของคณิตศาสตร์ เรขาคณิต ซึ่งขุดคุ้ยเข้าไปสู่ความลึกทางมิติ และในที่สุดก่อเกิดเป็นอหังการ์ของศิลปินตะวันตก เขาถือว่าเขาสามารถพิชิตควบคุมบงการ (Master) ธรรมชาติได้ เขาคิดว่าเขาทำได้
ดังนั้นทุกวันนี้แม้แต่การวางผังเมืองก็เป็นการกำจัดธรรมชาติเดิมออกไปแล้วสร้างธรรมชาติใหม่ตามต้องการ
ผมคิดว่าน่าจะชัดเจน เราแม้จะปลูกป่าขึ้น แต่เป็นป่าเทียม คำว่า ป่าดงดิบ ถ้าเราไม่เคยลิ้มชิมลองเราจะไม่รู้มีทั้งยุงทั้งเสือ
ดังนั้นถ้าเราเข้าไปในป่าซึ่งมีทั้งเถาวัลย์ลดาชาติอันปลุกประสาทอินทรีย์ของเราให้ตื่น เราได้กลิ่นดอกนมโคอ่อน ๆ ตอนใกล้รุ่งปลุกความรู้สึกสดชื่น วันใหม่ของชีวิตเริ่มแล้ว
แต่ว่า Park เป็นสิ่งที่สร้างเทียมป่าและหวังให้สนุกสบายตาเท่านั้น เมื่อเราได้เห็นร่องรอยที่มนุษย์ทำมันขึ้น เราห่างไกลจากความสงัดวิเวก
ทางเอเชียนั้น Style ของศิลปะฟักตัวอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง นานนับศตวรรษแล้วจึงเปลี่ยนขึ้นไปสู่อีกสไตล์หนึ่งเป็นการสั่งสมภูมิปัญญาของบรรพชน
เราไม่สามารถสร้างศิลปะโดยเอกเทศได้ ทำก็ทำได้ แต่ในที่สุดมันไม่เป็นศิลปะ ไม่เป็นวัฒนธรรม ลองไม่เป็นวัฒนธรรม ไม่เป็นศิลปะแล้ว ถ้าขืนทำขึ้นอย่างเป็นระบบมันก็กลายเป็นอุปสรรคต่อวัฒนธรรมที่แท้
สังเกตดูทุกวันนี้รัฐพยายามเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนศิลปะ เราสร้างศิลปะกำมะลอขึ้นเพื่อกระตุกเงินนักท่องเที่ยว เราไม่เข้าใจพลังของศิลปะไทย
มโนราห์ประยุกต์เป็นสิ่งที่เลว เห็นมโนราห์ประยุกต์ ผมเป็นคนใต้ พอได้ยินได้ดูมโนราห์ก็แยกออกว่าอย่างเป็นมโนราห์จริงหรือมโนราห์เทียม
ศิลปะไทยทุกวันนี้ได้สูญเสียมนต์ขลังของมันไป สิ่งที่เรียกว่ามนต์เสน่ห์ คือไม่ใช่ความงามแบบ Academic แบบสมบูรณ์ หรือ Classic เป็นเพียงเสน่ห์ และวิถีชีวิตของมนุษย์นั้นเองที่สร้างสรรค์วัฒนธรรมวิถีชีวิตของเรา
ไม่ใช่เรามีวิถีชีวิตแบบหนึ่งและเราทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง
วิถีการดำรงชีวิตเลว ๆก็จะสะท้อนออกเป็นศิลปวัฒนธรรมที่เลว วิถีชีวิตหมายถึงอะไร หมายถึงอารมณ์ เลือดเนื้อ วิญญาณ สติปัญญา และการกระทำต่าง ๆ วัฒนธรรม, ศิลปะ, ศาสนา, จะต้องเป็นสิ่งเดียวกัน
ตะวันตกถือว่าศิลปะเป็นการแสดงออกของพลังอำนาจของปัจเจกซึ่งเป็นการเคารพต่อพลังสร้างสรรค์ส่วนบุคคล แต่พร้อม ๆ กันนั้น มันก็เปิดโอกาสให้แต่ละคนแสดงออกอย่างมีอหังการ์ด้วย
ความพยายามในการสร้างสรรค์ศิลปะมันสะท้อนศักดานุภาพคล้ายว่า “ข้าคือใครรู้ไหม”
มีคนหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัยต่อทิศทางของอารยธรรมคือ โกแกง ภาพเขียนที่ยาวมากของเขาที่ชื่อว่า “เราคือใคร เรามาจากไหน เราจะไปไหน” แล้วเขาก็รีไทร์ตัวเอง ไปอยู่เกาะทาฮิติด้วยความเหม็นเบื่อสังคมมายาของปารีส
ในขณะที่แวนโก๊ะทนอยู่ในปารีสก็บ้าไปเลย มีศิลปินน้อยคนมากที่สังวรในสมัยนั้น
ภาพของแวนโก๊ะที่ชื่อ “Sun Flower” ขายได้หลายล้านดอลล่าร์ ในเมื่อตอนมีชีวิตอยู่เขาขายภาพไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว พี่ชายซื้อให้ด้วยความสงสาร แต่แวนโก๊ะรู้ตลอดเวลาว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ และเขากำลังเผชิญกับความมืดความไม่เข้าใจของสังคม การตัดหูให้หญิงที่เขารักก็ดี การฆ่าตัวตายก็ดี คือวิกฤติการณ์สำหรับแวนโก๊ะ
จดหมายที่แวนโก๊ะเขียนถึงน้อง (น้องหรือพี่ผมไม่แน่ใจนัก) เขารู้ว่าเขายืนอยู่ตำแหน่งไหน เขาพูดว่าพี่ย่อมรู้ว่าหญ้าคากับข้าวโพดนั้นเมื่องอกใหม่นั้นดูเหมือนกัน แต่นานวันจะรู้เอง
แวนโก๊ะนี้เองที่เป็นคนพยากรณ์ว่าศิลปะในอนาคตจะมีแต่สีเท่านั้น
ส่วนโกแกงนั้นเบื่อสังคมยุโรปอันมีศูนย์กลางที่ปารีสซึ่งฉาบฉวย เขาเป็นเจ้าของสำนวน “อารยธรรมคือสิ่งที่ทำให้คุณป่วยไข้” (Civilization is what makes you sick!)
ดังนั้นในทางตะวันตกแม้ว่าทิศทางทั้งหมดจะหมุนไปทางหนึ่ง แต่มีศิลปินที่มีสำนึกสูงทุก ๆ ยุค
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
ขอบคุณภาพ: อินเทอร์เน็ต
โฆษณา