28 ก.ย. 2020 เวลา 12:11 • การศึกษา
“เงินสินน้ำใจที่นายจ้างจ่ายให้ตอนเลิกจ้างนั้น มีผลทางกฎหมายอย่างไร?”
คำว่าเงินสินน้ำใจ ถ้าฟังผ่าน ๆ ก็อาจเข้าใจได้ว่าเป็นเงินที่ฝ่ายหนึ่งให้เพื่อช่วยเหลือหรือตอบแทนอีกฝ่ายหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนให้และคนรับนั้นมีส่วนได้ส่วนเสียกัน
เช่น นายจ้างจำเป็นต้องเลิกจ้าง จึงให้เงินสินน้ำใจเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างคนนั้น
ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะมีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือ เป็นน้ำใจที่คนเคยร่วมงานมีให้แก่กัน
ส่วนเงินที่ฝ่ายนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย เช่น ค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่น่าจะนำมาเกี่ยวข้องกัน
ซึ่งประเด็นนี้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดมาโดยตลอด คือ เราจะไปเหมารวมว่าเงินสินน้ำใจถือเป็นเงินให้เปล่าไม่ได้
เพราะในบางกรณี กฎหมายถือว่าเงินสินน้ำใจ คือค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
ลูกจ้างซึ่งได้รับเงินสินน้ำใจไปแล้ว จะมาเรียกร้องเงินค่าชดเชยอีกไม่ได้ เพราะถือว่านายจ้างได้จ่ายให้แล้ว
มีอยู่คดีหนึ่ง นายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีความผิด และตกลงจ่าย “เงินสินน้ำใจ” ให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินจำนวน 250,000 บาท
ต่อมา ลูกจ้างได้ฟ้องศาลแรงงานเพื่อขอให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างตามกฎหมาย
ซึ่งศาลเห็นว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างนั้น...
1) มีวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
2) โดยคำนวณอายุงานของลูกจ้างตั้งแต่เริ่มงานจนสิ้นสุดสัญญาจ้าง และจ่ายให้ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน (ตามอายุงานของลูกจ้าง)
3) การจ่ายเงินดังกล่าว ผู้บริหารของนายจ้างมีมติเห็นด้วยกับการจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินสินน้ำใจให้แก่ลูกจ้าง
4) ในการจ่ายเงินก็ปรากฏว่า ใบจ่ายเงินเดือนได้ระบุ “เงินสินน้ำใจ” เป็นเงินชดเชย
ด้วยเหตุผลข้างต้น เงินสินน้ำใจดังกล่าว แม้จะไม่ได้ระบุตรง ๆ ว่าเป็นค่าชดเชย แต่แท้จริงแล้วก็คือ “ค่าชดเชย” ตามกฎหมายแรงงานนั่นเอง
ดังนั้น เมื่อลูกจ้างได้รับเงินค่าชดเชยไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยจากนายจ้างอีก
อ้างอิง:
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2561
- พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118
#กฎหมายย่อยง่าย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา