29 ก.ย. 2020 เวลา 22:05 • ปรัชญา
๒๖. ตะวันออก – ตะวันตก
การฝึกสติปัฏฐาน เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการวาดรูป นักศึกษาอาจจะไม่เคยได้ยินและอาจคิดว่าเรื่องศาสนาเป็นคนละเรื่องกับงานจิตรกรรม
เรื่องราวศิลปะเป็นเรื่องการใช้อารมณ์ แต่ผมคิดว่าอารมณ์มีหลายระดับ อารมณ์ซึ่งไร้อารมณ์ก็มีแต่ก็เป็นอารมณ์เรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน
เมื่อความขัดแย้งระหว่างผู้มองกับสิ่งที่ถูกมองถูกเพิกถอนการงานแห่งความกลมกลืนก็เกิดขึ้น
อาจารย์ฝรั่งเคยแนะให้พี่อังคารยืนดูต้นลั่นทม ถ้าผมจำไม่ผิดนะ ต้องดูจนกระทั่งลืมตัวแล้วจะเขียนมันได้ เราปฏิเสธไม่ได้นะครับว่า ช่อลั่นทมที่ท่านเขียนมีกลิ่นหอมกลิ่นนี้ไม่ใช่กลิ่นธรรมดา แท้ก็คือความรู้สึกที่มันกระจ่าง เป็นกลิ่นหอมเกิดแต่ใจนึกถึงสภาพวิเศษได้
ระหว่างผู้มองและสิ่งที่ถูกมอง ผู้วาดกับสิ่งที่ถูกวาดไม่มีความขัดแย้งเมื่อใด เมื่อนั้นงานแห่งความกลมกลืนก็มีได้ เกิดการปลดปล่อย
เมื่อเอ่ยถึงความเป็นไปเองผมคิดว่าจุดนี้เองที่รุ่นพี่ ๆ พูดกันมากซึ่งครั้งนั้นผมไม่เข้าใจเลย สามปีแรกที่ผมเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ ผมไม่เคยเข้าใจเรื่ององค์ประกอบและเรื่องที่ว่าบางโอกาสมันเป็นเอง ตั้งใจมากแล้วไม่เป็น
คิดว่าพวกเราเข้าใจนะครับ ตั้งใจมากมันแข็ง มีเจตนา มนุษย์ของธรรมชาติจะมีสถานะหนึ่งซึ่งเป็นสถานะของการปลดปล่อยเป็นสถานะซึ่งกระแสของชีวิตไหลเทเข้าไปรวมกับกระแสของธรรมชาติทั้งหมด
ในขณะเช่นนั้นลักษณะจำกัด คับแคบทางด้านจิตใจ อารมณ์ ความเห็นแก่ตัว มักได้ถูกละลืม ต่อแต่นั้นคือทาง ทางแห่งการงานศิลปะ ไม่ใช่เพื่อขายรูปหรือเพื่อเอาคะแนน ผมอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะมองศิลปะให้ลึกซึ้งถึงแก่น
เมื่อผมไปอินโดนีเซียและเห็น โบโรโบดัว เข้าครั้งแรกผมใจหาย ความรู้สึกมันสะทกสะท้าน เพราะไม่เคยคิดเลยว่าศิลปะมันจะพัฒนาไปถึงระดับสูงเช่นนั้น จิตใจผมยอมแพ้อย่างสิ้นเชิง
อนุสรณ์สถานนั้นชี้หน้าเราว่า “แกไม่เข้าใจศิลปะ แกศรัทธาน้อย แกรู้อะไรน้อยเกินไปเรื่องศิลปะ” สักพักเดียวผมค่อยๆ ฟื้นกำลัง ค่อย ๆ ชุ่มชื่น เกิดความหวัง
อันนี้อาจจะเล่าเรื่องส่วนตัวแต่ว่าเป็นเรื่องสำคัญ ผมเกิดความศรัทธาที่จะทำงานศิลปะโดยไม่ต้องเกี่ยวกับการแสดงหรือว่าปิกัสโซ่หรือโมดิเกลียนี ไม่จำเป็นเลย
เราอยากจะเข้าร่วมในธารน้ำใจและสติปัญญาของบรรพบุรุษ ขอร่วมด้วยคนหนึ่ง เพราะว่ากระแสธารอันนั้น เป็นกระแสธารของหัวใจ
เมื่อเขาบรรจงสร้างช่อฟ้า อย่าคิดนั่นเป็นฝีมือเท่านั้น นั่นเป็นหัวใจของเขา
เมื่อเราเห็นพระพุทธรูปที่สวยงามของอู่ทองรุ่นแรก ซึ่งถ้าเอาสุโขทัยจับจะดูไม่สวยนัก แต่เราเห็นหัวใจทั้งหมด เขาให้มันทั้งหมด เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใครด้วยซ้ำ ช่างปฏิมากรผู้เป็นเจ้าของหัวใจนั้น แต่เขาให้มันหมดสิ้น เขามีเท่าไรเขาให้มันทั้งหมด เขาเอาหัวใจเข้าทำ
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
ขอบคุณภาพ: อินเทอร์เน็ต
โฆษณา