Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
30 ก.ย. 2020 เวลา 23:36 • ปรัชญา
๒๗. ตะวันออก – ตะวันตก ๒
เพื่อจะสืบอนุสนธิจากการบรรยายคราวก่อน ผมจะทบทวนพอให้ได้เค้าโครงของเนื้อความครั้งก่อน
เนื่องจากอารยธรรมถือกันว่าเริ่มต้นที่กรีก เขาสรุปไว้ว่าเป็นอารยธรรมที่เกิดขึ้นในกำแพงเมือง Civil หรือ Civilization ที่แปลว่าเมือง ในขณะที่อารยธรรมตะวันออกเริ่มต้นที่ป่า ซึ่งเรียกยุคสมัยนั้นว่าอารันยกะ
อารันยกะนั้นหมายถึงการที่มนุษย์ได้เข้าไปสัมผัสป่าดงพงพีและเป็นการเริ่มต้นของภูมิปัญญาใหม่
วัฒนธรรมและอารยธรรมของตะวันตกนั้นได้ก่อร่างสร้างขึ้นเพื่อที่จะเน้นความสลักสำคัญของเมืองและมนุษย์ โดยดึงเทพเจ้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่งของมนุษย์
ผมได้ย้ำว่าทางตะวันตกนั้นได้มีการขุดคุ้ยเข้าไปสู่มิติ เนื่องจากความเจริญทางวิชาการเรขาคณิต คณิตศาสตร์ และศิลปะของการขบคิด
ดังนั้นเองอารยธรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นทางตะวันตกนั้นมีแกนสำคัญที่ความคิด
คราวที่แล้วผมเน้นเรื่อง Renaissance อีกแง่มุมหนึ่งซึ่งต่างจากที่เคยได้ยิน
โดยทั่วไปถือว่า Renaissance นั้นเป็นยุคเกิดใหม่เราจะเห็นได้จากภาพเขียนไบเซนไทน์ หรือก่อนหน้านั้นถือเป็นยุคมืดหรือยังไม่เกิด
แต่พอถึง Renaissance นั้นเป็นการเกิดแล้ว ยักษ์ใหญ่ทั้งสามคนคือ ไมเคิล แองเจโล, ราฟาเอล, เลโอนาโด ดาวินชีได้กระทำให้ทิศทางของศิลปะตะวันตกนั้นกลายเป็นสถาบัน (Academy) คือเขาเชื่อว่าเขาจะฝึกคนธรรมดาให้เป็นศิลปินได้
ซึ่งก่อนหน้านั้นในสมัยไบเซนไทน์ถือว่าศิลปะเป็น Gift เป็นพรสวรรค์พระเจ้าหรือสิ่งลึกลับเบื้องบนอาจบันดาลให้ใครก็ได้เป็นศิลปินโดยเขาไม่ต้องเรียนก็ได้
แต่แล้วมองอีกด้านหนึ่งของสมัย Renaissance ก็คือ Renaissance กระทำให้ศิลปะศาสตร์ทุกแขนงเกิดอหังการ์ขึ้นในแขนงนั้น ๆ พวกพระก็ไปทางหนึ่ง พวกศิลปินก็ไปทางหนึ่ง แพทย์ก็ไปทางหนึ่ง
ดังนั้นถ้ามองในแง่ลบบ้างก็จะพบว่า Renaissance เป็นยุคที่เกิดใหม่ แต่เกิดใหม่เพื่อการกระเจิดกระเจิงของศาสตร์ต่าง ๆ ขาดเอกภาพ
ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้นำทางศาสตร์ต่าง ๆ ตื่นตัวและเริ่มโค่นคติความเชื่อต่อพระเจ้า แต่ในที่สุดความเห่อเหิมทะเยอทะยานอันนี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าแบบฉบับที่แน่นอนและซ้ำซาก (Regularity)
เช่นเรารู้ว่าประติมากรรม Classic จะเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ และในที่สุดกฎเกณฑ์จะเป็นสิ่งที่ครอบงำทุกคนไว้
ถ้าเราไปที่วาติกันจะพบว่าประติมากรรม Classic หรือจิตรกรรม Neo-Classic เมื่อมารวม ๆ กันแล้ว น่าเบื่อ
คือมันดีจนไม่อยากจะดูมัน อยากเห็นอะไรที่หลุดๆ หลวมๆ ที่มนุษย์หายใจได้อิสระ และทำตัวเองให้อิสระอย่างง่าย ๆ
เมื่อเรายืนต่อหน้าภาพที่ดีเกิน เราถูกข่มขู่ด้วยฝีมืออันร้ายกาจนั้น
จริง ๆ แล้วมนุษย์อยากเห็นตัวเองไหลเทเข้ากับภาพที่ตัวเองเห็น ควรจะเป็นฝีมือของมนุษย์เพื่อมนุษย์และเพื่อสนองน้ำใจของมนุษย์ ภาพหรือประติมากรรมไม่ควรจะขู่เราจนกลัวลาน
อารยธรรมตะวันตกซึ่งผมสรุปสั้น ๆ ว่าแทนได้ด้วยคำว่า to do
นับตั้งแต่อริสโตเติลเป็นต้นมาถือว่า Art เป็นสิ่งที่ต้องทำ อารยธรรมตะวันตกเป็นอย่างนั้น คุณมีอะไรคุณต้องแสดงออกมา ต้องแสดงออกมา ต้องทำออกมา
ย่นย่อคือต้องทำเพื่อจะมี Artwork
สิ่งนี้เองถ้าเราสำรวจมาทางตะวันออกโดยเฉพาะจีน ผมเน้นที่จีนเพราะว่าอินเดียเราจะไม่เห็นอะไรเด่นชัด ถ้าเทียบกับตะวันตกเพราะเป็นเชื้อสายอารยันโบราณเดียวกัน
ทางตะวันออกเรานั้นโดยเฉพาะจีนเราสามารถที่จะประมวล Method หรือกรรมวิธีของศิลปะ อยู่บนรูปประโยคที่ว่า “ไม่ทำ”
ในขณะที่ทางตะวันตกนั้นเป็นการกระทำ “ต้องทำ”
ทางตะวันออกถือว่าสิ่งที่ดีทั้งหลายจะต้องไม่สร้างขึ้น ไม่ทำขึ้นจึงจะร่วมทางกับเต๋าได้
การมุ่งกระทำแสดงว่าขัดแย้งกับกฎสากลของจักรวาล
ดังนั้นคำว่าไม่ทำนี่เองเป็นกุญแจดอกเอกที่เราต้องทำความเข้าใจกันในชั่วโมงตอนบ่ายที่น่าง่วงนอนนี้
คำ ไม่ทำ นั้นเป็นภาษาเฉพาะของจีนว่า อู่หวุย หรือ วูเว้ หรือจะยึดเป็นสามประโยค “อุ๊ยบ่อุ๊ย” “ทำแต่ไม่ได้ทำอะไร” ตรงนี้เองคือความลึกลับและลึกซึ้งของมัน
ถ้าเราเข้าใจตื้น ๆ ไม่ทำ หมดเลยไม่มีอะไรเหลือ นั่นไม่ใช่เนื้อหา
แต่คำว่า อู่หวุย คือทำชนิดที่ไม่ได้ทำอะไรแต่ว่ามันมีการกระทำแน่ แต่ไม่มีการกระทำที่ขัดแย้งกับเต๋า
ไม่ทำด้วยเจตนา เป็นกิริยาล้วนๆ หรือเรียกว่าเป็นอกรรมกิริยา
เรามาหารายละเอียดกัน จากจุดนี้ผมจะนำเข้าไปสู่กรรมวิธีของชาวบุรพทิศในการดำรงชีวิต สร้างสรรค์งานศิลปะ กิจกรรมระหว่างเพศ ปกครองบ้านเมือง
ไม่เข้าใจเรื่อง อู่หวุย ฟ้าดินก็ลงโทษ เมื่อไม่ร่วมทางกับเต๋าสิ่งนั้นก็แหลกพินาศไป นี่ข้อความในเต๋าเต้กิง คัมภีร์หลักของลัทธิเต๋า
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย