1 ต.ค. 2020 เวลา 23:38 • ปรัชญา
๒๘. ตะวันออก – ตะวันตก
ผมจะเริ่มจับเค้าตรงคำว่า สยาม ประเทศนี้ซึ่งเดี๋ยวนี้เราเรียกว่า ไทยแลนด์
เมื่อผมไปที่มหาวิทยาลัยศานตินิเกตัน ลูกศิษย์ใกล้ชิดของรพินทรนาถ ฐากูร เขาถามผมและผมตอบไม่ได้ว่าทำไมประเทศคุณจึงเปลี่ยนชื่อจากสยาม ทั้งๆ ที่มีทั้งความลึกและไพเราะ
เนื้อหาทั้งหมดของคำว่าสยามคือ อู่หวุย หรือคำว่า “เป็นเอง”
สยามนั้นเนื่องกับคำว่า สยัมภู สยามแปลว่าเป็นเอง ผมตอบไม่ได้และก็ไม่รู้ว่าจะตอบว่าอย่างไร แต่คิดได้ตามที่จำมาว่ายุคนั้นจอมพลป. คิดว่าประเทศเราไม่มีคำว่า แลนด์ ไม่เหมือนอิงแลนด์เขา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลด
ประเทศเรานี้ตั้งอยู่บนแหลมอินโดจีน แหลมระหว่างประเทศอินเดียและจีน ประเทศเราเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ความสลักสำคัญนั้นโดดเด่น บนโต๊ะอาหารของคนไทยนั้นบางมื้อเป็นจีน เป็นแกงจืด บางมื้อเป็นแขกเป็นมัสมั่น
ดร.
ซูซูกิได้ให้ข้อวินิจฉัยที่ค่อนข้างแม่นยำมากระหว่างอินเดียกับจีนว่า
ในขณะที่ชาวอินเดียแหงนหน้ามองดาวในท้องฟ้า คนจีนระวังที่ดิน คือคนจีนเป็นชาติหนึ่งที่ Realistic ที่สุด ไม้คานอันเดียวกับพื้นดินเขาตั้งหลักฐานได้
ดังนั้นคนจีนค่อนข้างมองโลกตามความเป็นจริงมากกว่าอินเดีย
ในขณะที่คนอินเดียมองต้นไม้มีเทพเจ้าสถิตอยู่ ซึ่งความเชื่อแบบของอินเดียได้ครอบคลุมจิตใจของคนไทย
วัฒนธรรมของไทยทั้งภาษาและการแต่งกายเราค่อนข้างเอียงไปทางอินเดีย วิธีคิดของเราค่อนข้างไปทางอภิปรัชญามากแต่เราก็มีชีวิตประจำวันใกล้ไปทางจีนด้วย
เดี๋ยวนี้เรารู้จักจีนในแง่ของพิธีกงเต็ก เราไม่เคยรับวัฒนธรรมชั้นที่เป็นหัวใจจริง ๆ จากจีน เราไม่เคยศึกษาถึงแก่นของเต๋า นิกายเซนก็ดีเต๋าก็ดี
แต่ดูเหมือน ๒๐ ปีมานี่เพิ่งพูดถึงในบ้านเรา แล้วเรารู้จักเซน เต๋าในรูปของนิทานตลกซึ่งนับว่าเหลวเอามาก ๆ
ดังนั้นเราจึงควรเข้าใจความลึกซึ้งโครงสร้างทั้งหมดของวัฒนธรรมจีน ฉะนั้นผมเตือนสติไว้ว่า เราพึงทำใจให้กว้าง
มาสำรวจคำว่าอู่หวุย หรือสยาม สยัมภูกัน อู่หวุยแปลว่า กระทำแบบไม่ทำ ทำแต่ไม่ได้ทำอะไร สยัมภูแปลว่าเป็นเอง ความเป็นไปเอง สิ่งนี้เองเป็นที่มาของคำว่า สยาม
เมื่อใดที่มันเป็นเองมันก็หลุดพ้นจากอัตตาตัวตนหรือความพยายาม
เจตนาผมคิดว่าตรงนี้เป็นกุญแจดอกเอกในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เรามาสำรวจให้ใกล้เข้าไปอีก คราวที่แล้วผมพูดอิงประวัติศาสตร์และสุนทรียภาพ
เรามาเข้าสู่จิตวิทยาประจำวันเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เราเข้าใจผิดมานานคือคำว่า วิปัสสนา
ส่วนใหญ่เข้าใจว่าวิปัสสนาคือการนั่งหลับตาเห็นผีแล้วก็สะลึมสะลือไปจนปวดเอว ที่จริงวิปัสสนาเป็นเรื่องใหญ่และสัมพันธ์กับงานสร้างสรรค์ศิลปะ
ผมจะสรุปสั้น ๆ ตรงนี้ก่อน ปราศจากวิปัสสนาแล้วศิลปะไม่เป็นศิลปะ เป็นการกระทำอะไรไปอย่างบ้าคลั่ง
คราวที่แล้วผมย้ำนิดหนึ่งว่าเมื่อใดวัฒนธรรม อารยธรรมทิ้งพื้นเพดั้งเดิมไปไกล เมื่อนั้นจะเปราะบาง ค่อย ๆ กลายเป็นศิลปะตกแต่งขึ้นทีละน้อย ๆ
สำรวจดูว่าโลกนี้มันมีอยู่สองโลกซ้อนกันอยู่ คือโลกทางความคิดตามที่เรายึดให้มันเป็น และโลกล้วนของมูลธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม วิญญาณ
แก้วน้ำที่ผมยกขึ้นอันนี้ ที่จริงมันไม่ได้ชื่อแก้วน้ำ น้ำนี่นะครับภาษาไทย ชาวลังกาเรียกวาตุระ ถูกเรียกขึ้นแต่มันไม่เคยเปลี่ยนหรือกระทบถึงข้อเท็จจริงของความเป็นน้ำ แลน้ำทุกแห่งในโลกนี้เป็นอันเดียวกัน
ฉันใดก็ฉันนั้น ทุก ๆ สิ่งรอบตัวเราไม่มีชื่อ แต่เมื่อมนุษย์อุบัติขึ้นในโลกนี้แล้ว โลกหรือจักรวาลนี้ถูกมองเป็นจักรวาลทางความคิด
เราพยายามที่จะใช้ชื่อเข้าไปกำหนดสิ่งต่าง ๆของธรรมชาติ เมื่อเราเรียกต้นหมากว่าหมาก ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ก็เกิดขึ้นที่ต้องหาศัพท์ที่แยกต้นหนึ่งว่ามะพร้าวให้จงได้
แนวคิดของตะวันตกที่ถือว่าอัตตาตัวตนเป็นของเที่ยงแท้ I think therefore I am
ความคิดที่เกิดขึ้นจากระบบคณิตศาสตร์ตรรกวิธี แต่ตัวความจริงนั้นห่างไกลนักจากสภาพที่คิดขึ้น
กล่าวได้นะครับว่าความจริงไม่เคยเข้ามาสู่ความรับรู้ของมนุษย์ผ่านทางความคิดได้เลย เป็นได้เพียงความจริงสมมุติ
ตรงกันข้ามทางตะวันออกเชื่อกันว่า ต่อเมื่อใดอยู่เหนือคิดจริง ๆ เท่านั้น จึงจะเข้าถึงตัวความจริงแท้ได้
ตรงนี้เองที่เป็นความลึกซึ้งของตะวันออกและตะวันตกจนเป็นเหตุให้กวีอังกฤษ รัดยาร์ด คิปปลิง พูดว่า “ตะวันออกคือตะวันออกและตะวันตกคือตะวันตก” เพราะฝ่ายหนึ่งเชื่อพลังของความคิด อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าพลังความคิดมีข้อจำกัด
ดังนั้นต้องไปถึงที่สุดของความคิดก่อนแล้วจึงจะเข้าถึงความจริง อารยธรรมตะวันออกและตะวันตกคืออารยธรรมที่ค้นหาสถานะตำแหน่งแห่งหนของมนุษย์ว่าเป็นอะไรในจักรวาลที่ตัวเองอาศัยอยู่
ผมได้สรุปประโยคสั้น ๆ ว่า คำถามนั้นคือ ข้าคือใครในจักรวาล แต่ถ้าเป็นความคิดตะวันออกแล้ว คำถามนี้กลับกัน แทนที่จะถามว่า ข้าคือใคร กลับเป็น อะไรมาเป็นข้า อะไรที่มาเป็นเรา แตกต่างกันมากครับ
การตั้งฐานวิเคราะห์ ข้าคือใครนั้นค้นหา คิดให้ออกว่า ฉันคือใคร คือผู้ใด ทางตะวันตกคิดว่า ก. คือ ก. ก.จะปนกับ ข. ไม่ได้ คุณคือคุณ ผมคือผม
แต่ถ้าทางตะวันออก โดยเฉพาะพุทธศาสนาแล้ว เมื่อ ก.ไม่ใช่ ก. อยู่แล้ว ข.ก็ไม่ใช่ ข.อยู่แล้ว ก.อาจจะเป็น ข.เมื่อไรก็ได้ ตรงนี้มันยุ่งยาก เพราะมันเป็นวิธีเดินสายความคิดที่แตกต่างกันคนละแนว และเป้าหมายสูงสุดคนละอย่าง
ทางตะวันออกนั้นเป้าหมายคือการเข้ารวมกับเต๋า เข้ารวมกับกฎสัจธรรมที่ครอบคลุมจักรวาลทั้งหมด
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
โฆษณา