6 ต.ค. 2020 เวลา 09:16 • ท่องเที่ยว
ช๐๗๙_หอไตรวัดพระสิงห์
◇ตามรอยโคลงครู นิราศหริภุญชัย◇ ตอน๕
หภ๑๐๏ นบวรเชฐสร้อย สิหิงส์
ลาเทพเบญจาจริง จึ่งผ้าย
เชิญวานเทพดลถลิง ถลากระหม่อม เรียมเอย
เทาดำเนินเยื้อนย้าย พร่ำพร้อมเดินเดียว ฯ
หภ๑๑๏ ลาถึงปราสาทสร้อย สิงห์สอง
โอนต่ำลุงทิพทอง ที่อ้าง
เบญจาจำเนียรปอง ปดต่ำ งนรา
จากจ่ำเลวแล้วร้าง ราศนั้นฤๅดี ฯ
นิราศหริภุญไชย
หอไตรวัดพระสิงห์
๒๗.พุทธศกสองสามห้าสี่ จารึก
นิมนต์สังฆราชาตรึก ส่งสร้าง
หอธรรมปิฎกปรุงปึก เก็บไตร ธรรมเอ่
กาวิละบำรุงสืบว้าง แต่ต้นรัชชกาล ฯ
๒๘.คติคิดคติเชื่อด้วย หอใตร
ศักดิ์สิทธิ์สถานรักษ์ใน ปิฏกล้วน
คำภีร์ศาสน์ส่งไกล ปุณย์เฮย
สืบอายุพุทธยงถ้วน ครบห้าพันปี ฯ
๒๙.หอไตรกึ่งปูนไม้ รูปน้อย
ส่วนสัดสมบูรณ์ช้อย งามล้าน นาเอ่
นาคสิงห์มอมคู่ร้อย เรียงขึ้น
สัตว์หิมพานต์ปูนจ้าน เทพชั้นปั้นงาม ฯ
แน่นอนครับคติคิดในการสร้างหอไตรคือเขาพระสุเมรุหรือไกรลาสมีป่าหิมพานต์อยู่รอบ
๓๐.ส่วนใหญ่ประนมน้อม อัญชลี
เทพรักษ์รักษาสรี หอแก้ว
เก็บธรรมคำภีร์ชี้ ทางสว่าง
ยืนคุ้มหอไตรแพร้ว สืบแย้มยิ้มสมัย ฯ
๓๑.เทพสวรรค์ชั้นคล้ายจะ เหาะเหิน
ถือช่อเพียดวงเกิน กิ่งไม้
เท้าขวาราวเหยียบเทิน เท้าซ้าย
มกุฏสามชั้นงามไซร็ กระจังร้อยรัดเกล้า ฯ
๓๒.บ้างเหยียบปทุมชี้ช่อ โพธิ์ปัก
บ้างเหยียบสิงห์สลัก จักรเร้น
บ้างถือไม้ดวงเพียปัก หลากหลาย
บ้างถือภาชน์รูปเค้น ปูรณฆฏหม้ออุดมสรรพ์ฯ
๓๓.คู่องค์ปกปักษ์คุ้ม หน้าทวาร
บิดเอวบิดกายปาน จะก้าว
ตริภังค์เอี้ยวกายขาน ชื่อก่อน
พร้อมป้องปกศาสน์น้าว กี่เบี้ยวจักคลาย ฯ
๓๔.ฐานสัตว์สื่อหมายแล้ว หิมพานต์
เหมราชคชสีห์ขาน รูปร้อย
สิงห์กิเลนมอมเงือกปาน จักวิ่ง
งูค่างช้างนรสีห์ถ้อย กอรปแกล้งฐานภูมิ ฯ
๓๕.หอไตรควรค่าค้ำ พระสิงค์
กระจ่างเรืองแสงพิงค์ พิงฟ้า
กระจ่างใจชนจริง สืบศาสน์
วอนชวนมองค่าท้า ศาสน์โพ้นเพื่อนเอ๋ย ฯ
.....ตอนที่ผู้แต่งนิราศหริภุญชัย เดินจากตลาดลีเชียงพระหน้าวัดพระสิงห์ นั้น หอไตรหลังนี้ยังไม่ได้สร้าง จนผ่านมาสองราชวงศ์ถึงราชวงศ์ทิพย์จักร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมาที่วัดพระสิงห์ กราบพระสิงห์ แล้วก็ต้องมาดูหอไตรหลังนี้ มาชมปูนปั้นเทวดาและสัตว์ หิมพานต์ งานปูนปั้นเทวดา แม่จะเป็นรุ่นหลังแล้วแต่เมื่อเทียบกับที่วัดเจ็ดยอด ก็ยังถือว่าเป็นรองแต่ก็ยังงดงามใช้ได้ ส่วนสัตว์หิมพานต์ที่อยู่ในกรอบ ย่อยเล็กๆ ตอนล่างของเทวดา ดูมีลีลาคล้ายกับงานจีน ลวดลายของสัตว์ นั้นถือเป็นขั้นเซียนเลย ความพริ้วไหว ของปูนปั้น ทำได้ไม่น้อยหน้า กับวัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน ที่ลำปางเลย
ประวัติหอไตรได้มาจากจารึกหินทรายแดงที่อยู่ใกล้ฐานพระอุโบสถ์ว่า”สมเด็จเชษฐาบรมพิตราธรรมิกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่(พระยากาวิละ) ได้นิมนต์พระสังฆราชาวัดพระสิงห์สร้างพระอุโบสถ์ มณฑปปราสาทภายในอุโบสถและหอธรรมปิฎกชึ้นเมื่อ วันพุธ เดือน๖ ขึ้น๑๕ค่ำ พศ.๒๓๕๔ หลังจากนั้นมีบันทึกสมัยพระปกเกล้าในอีกร้อยกว่าปีต่อมาว่า “ทรงทอดพระเนตรเห็นหอไตรวัดพระสิงห์ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่ง ให้บูรณะตามลักษณะเดิมและฉลองสมโภชในปี ๒๔๗๒
หลังจากสิ้นสุดราชวงศ์มังราย ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ากษัตริย์สืบเชื้อสายมาถึง๑๕รัชกาล จริงจริงมีในบันทึกถึง๑๘รัชกาล ช่วงรอยต่อนั้นเป็นช่วงเวลาที่เข้มแข็งที่สุดของบุเรงนอง มีกษัตริย์เชียงใหม่เป็นสตรีบ้าง และมีกษัตริย์จากล้านช้างคือพระไชยเชษฐาที่มีแม่เป็นกษัตริย์ที่เชียงใหม่ จนกระทั่งพม่าเข้าปกครองเชียงใหม่อยู่ประมาณสองร้อยปีในช่วงนั้นมีข้อมูลน้อยว่าเป็นอย่างไร เมืองเชียงใหม่ก็เป็นอาณาจักรที่เจริญคู่ขึ้นมากับกรุงศรีอยุธยา มีการกระทบกระทั่งของเพื่อนบ้านเป็นระยะๆถ้าจำไม่ผิดอยุธยาจะเคยเข้าไปตีเชียงใหม่ได้อยู่สองครั้งในสมัยพระนเรศวรและพระนารายณ์จนสมัยธนบุรีได้ร่วมมือกับพญาจ่าบ้านและพญากาวิละและในต้นรัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงแต่งตั้งพญากาวิละ เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่อันเป็นการเริ่มราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนหรือเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ลำดับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ยุคที่สาม ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์
เฉพาะเมืองเชียงใหม่
๑.พญากาวิละ (๒๓๒๕-๒๓๕๖)
๒.พญาธรรมลังกา (๒๓๕๘-๒๓๖๔)
๓.พญาคำฝั้น (๒๓๖๖-๒๓๖๘)
๔.พญาพุทธวงศ์ (๒๓๖๙-๒๓๘๙)
๕.พระเจ้ามโหตรประเทศ (๒๓๙๐-๒๓๙๗)
๖.พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (๒๓๙๙-๒๔๑๓)
๗.พระเจ้าอินทวิชยานนท์ (๒๔๑๖-๒๔๓๙)
๘.พระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ (๒๔๔๔-๒๔๕๒)
๙.เจ้าแก้วนวรัฐ (๒๔๕๔-๒๔๘๒)
ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์เริ่มจากหนานทิพช้างในสมัยพระเจ้าท้ายสระหรือช่วงปลายอยุธยาใครสนใจไปดูประวัติและรายละเอียดย่อยเอง
โคลงชมวัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา