3 ต.ค. 2020 เวลา 22:04 • ปรัชญา
๓๐. ตะวันออก – ตะวันตก
เมื่อเราไปดูงานของบีโธเฟ่น โน้ตที่เขาเขียน ศิลปะทางตะวันตกนั้นความจริงเป็นวิทยาศาสตร์แห่งการสร้างศิลปะ บีโธเฟ่นวางเสียงสองนาทีอันหนึ่ง หนึ่งนาทีอันหนึ่ง ครึ่งนาทีอันหนึ่ง เป็นคณิตศาสตร์แห่งศิลปะ
ในขณะที่ทางตะวันออกเป็นเรื่องของหัวใจ เอาจังหวะของลมปราณและลีลาของพลังชีวิต เอาความเรื่อย ๆ เป็นอารมณ์ และมีเป้าหมายที่ความหลุดพ้น ดังนั้นมันจะมีลักษณะเป็นคลื่นของความรู้สึกโดยปราศจากกฎเกณฑ์ที่ตายตัว
ภาษาไทยนั้นลองไปอ่านพงศาวดาร ไม่มีรูปประโยค ไม่มีวรรคตอนอะไรทั้งนั้น เราต้องโน้มใจเข้าไปแล้วอ่านเรื่อย ๆ เป็นหนังสือสวด แต่ถ้าเราจับประเด็นมันได้ เราค่อย ๆ เติบโตขึ้นในวิถีชีวิตใหม่ซึ่งไม่ถูกจำกัดโดยห้วงของกาลเวลา
ภาพจิตรกรรมฝาผนังไม่ใช่การจำลองสภาวธรรมเข้าไว้ภายในกล่องของมิติ แบบตีกรอบขุดค้นในมิติสามมิติแล้วหาคุณค่าทางด้านปรัชญา
แต่ของเรา เป็นการแหวกกรอบของกาลเวลาออกมาและมันไปเรื่อย ๆ เข้าสู่กระแสเรื่อย ๆ
เหมือนเราพูดกันนะ เป็นไงบ้าง เรื่อย ๆ คำว่าเรื่อย ๆ นี่เองที่เป็นปัญหาอยู่ในทุกวันนี้ เมื่อชีวิตสูญเสียเรื่อย ๆ เสียแล้ว ต่อแต่นั้นโรคประสาทจะมาเยี่ยมเรา
วิถีชีวิตตะวันตกนั้นทุกข์มากเกินไป จะวาดรูปก็เครียดเป็นบ้าเลย สังเกตดูไหมครับ เพราะว่าเราต้องสร้างแบบจำลองของเหตุการณ์ขึ้น นักดนตรีของตะวันตกก็เล่นตามโน้ต
ในขณะที่ตะวันออกนั้นแต่เดิมนั้นไม่มี ผมไม่ได้ปฏิเสธโน้ตนะ เช่นเดียวกับไม่ได้ปฏิเสธทฤษฎี แต่ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่สิ่งนี้ นี่เป็นปัจจัยเล็กน้อย แล้วศิลปินไทยนักดนตรีค่อนข้างสงบเสงี่ยมไม่ค่อยมีอหังการ์
นักดนตรีไทยส่วนใหญ่มีลักษณะนิ่ง สงบ ทุกวันนี้สังเกตดูการละคร ผมอาจจะดูน้อยแต่ผมให้ข้อสังเกตว่า ศิลปะได้ก้าวย่างเข้าสู่ “To Do” หรือลัทธิมุ่งแสดงคือการกระทำ
ดาราแต่ละตัวพยายามแสดงออกให้มากจนบางทีดูจะน่าเกลียดคือเขาแสดงบทให้สมบทเป็นการแสดง มุ่งการแสดงมากเกินไป เช่นเดียวกับ ไมเคิล แองเจโล เขามุ่งแสดงกายวิภาคมากจนเราดูแล้วเบื่อ
ความเป็นเองมีโครงสร้างที่สำคัญตรงที่ว่า จิตสำนึกได้ค้นพบทางออก นั่นหมายความว่าความรู้สึกตัวที่ศิลปินมีหรือผู้ปฏิบัติธรรมมีได้แผ่กระจาย เพิกการรวมศูนย์ภายใต้ความยึดถือที่ว่าฉันเป็นผู้มองโลก
เมื่อเราเกิดความทุกข์ ความทุกข์ปรากฏขึ้นมานั้น มีอีกตัวหนึ่งขึ้นมาคือเจ้าของความทุกข์และเจ้าของพยายามดิ้นรนให้พ้นจากปัญหานั้น ดังนั้นทำอย่างไรหนอฉันจึงจะพ้นจากปัญหานี้
ความคิดที่ว่าทำอย่างไรฉันจึงจะพ้นจากปัญหา เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะมันสะท้อนความยุ่งยาก ความคิดจะแก้ปัญหาก็เป็นส่วนสะท้อนของปัญหาด้วย
ในยุคสมัยที่กำลังเฟื่องอย่างบ้านเราผมถือบ้านเราเดี๋ยวนี้ว่าเป็นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ จริยธรรมหันไปฟื้นกันทุกจุด แล้วฟื้นชนิดที่จะสร้างปัญหาด้วย
ไปฟื้นในสิ่งที่กำมะลอ สร้างสิ่งเทียมวัฒนธรรมขึ้น
เมื่อวัฒนธรรมถูกสร้างขึ้นได้ ทำขึ้นได้ มันก็กลบทับวัฒนธรรมที่ไม่ต้องทำไม่ต้องสร้าง ดังนั้นวัฒนธรรมใหม่จึงกลายเป็นปัญหาของวัฒนธรรมที่แท้
ที่ผมว่าวัฒนธรรมสร้างไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมเป็นผลสะท้อนจากการดำรงชีวิต
ชีวิตสร้างวัฒนธรรม
วัฒนธรรมสร้างชีวิตไม่ได้
แต่เมื่อเรามีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติเรื่อย ๆ ในที่สุดผลสะท้อนซึ่งเป็นไปเองก็ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมตามธรรมชาติซึ่งมีพลานามัยงดงามไม่มดเท็จน่าชัง
วัฒนธรรมนั้นเป็นผลสะท้อนที่ใจ มนุษย์เข้าไปสัมผัสกับวิญญาณของธรรมชาติ ดังนั้นการสร้างสรรค์งานศิลปะ รากฐานคือความเป็นไปเอง
ผมชอบที่จะยกตัวอย่างกรมศิลปากรออกแบบโบสถ์ ก.ข. กระทำให้ทุกๆ ภาคสูญเสียศิลปะประจำถิ่นไป เขาสร้างแบบเดียวกับที่กรมศิลป์บังคับหรือออกแบบให้ นี่เป็น ผมจะเรียกว่าอะไรดีครับ ฆาตกรรมทางวัฒนธรรมดีไหม
เพราะว่าวัฒนธรรมศิลปะนั้นสะท้อนจากแม่บท จากวิญญาณของภูมิภาคและสติปัญญาของบรรพชน โบสถ์ที่ลำพูนเดี๋ยวนี้ไม่บอกความเป็นลำพูนอีกแล้ว เมื่อสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้าไปการสร้างสรรค์นั้นก็ออกในรูปการเสแสร้งแกล้งทำ
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
โฆษณา