7 ต.ค. 2020 เวลา 22:32 • ปรัชญา
๓๔. ตะวันออก – ตะวันตก
พุทธศาสนานั้นมีทั้งส่วนลุ่มลึกดังมหาสมุทรและส่วนที่ตื้นเขินเหมือนกับหนองน้ำ แต่ว่าเมื่อหนองน้ำนั้นเชื่อมโยงกับมหาสมุทร โครงสร้างและองค์ประกอบจะเป็นอันเดียวกัน
ปลาอาศัยอยู่ที่ลึกแต่มันก็แหวกว่ายกินอาหารอยู่ที่น้ำตื้นพอหาอาหารได้
ดังนั้นเราต้องศึกษาส่วนที่ลึกซึ้งที่สุด โดยที่ไม่ต้องปฏิเสธวิถีชีวิตเยี่ยงสามัญชน เพราะภายใต้รูปแบบดาดสามัญ ง่ายที่จะศึกษาส่วนลึก
เราต้องหัวเราะร้องไห้กับเพื่อนมนุษย์ ถ้ายังหัวเราะเป็น ร้องไห้เป็นก็นับว่าใช้ได้ แต่เมื่อใดร้องไห้ไม่ออก หัวเราะไม่ออก นั่นเรามีปัญหาแล้ว
แต่จากชีวิตดาดๆ เช่นนั้นเองเมื่อเรารู้จักใจแท้ ๆ ซึ่งเป็นส่วนลึกซึ้ง เราก็จะอยู่เหนือการร้องไห้การหัวเราะได้เอง เราคงไม่อยากเป็นผู้วิเศษกันนักใช่ไหมครับ
ที่ผมบอกว่าพระพุทธรูปเป็นกุญแจดอกสำคัญ เพราะว่ามันเป็นสักขีพยานว่า วิถีทางของศิลปะไม่ใช่การสร้างสรรค์งานศิลปะภายในกรอบ แล้วไม่ใช่การคลั่ง
ความสามารถเยี่ยงวีรบุรุษ ไม่ใช่การสร้างงานเพื่อตัวเองจะได้เป็นวีรบุรุษอัศวิน แล้วไม่ใช่การคิดอะไรเพื่อฉีกออกไปให้ตัวเองโดดเด่น ซึ่งเป็นการแผลง
การแสดงออกของสุนทรีย์ผ่านทางพระพุทธรูปนั้นเป็นมนุษยธรรม เราไม่รู้เลยว่าใครเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปปางลีลาที่วัดเบญจฯ เราไม่รู้ว่าใครวาดรูปสวยๆ เหล่าโน้น เพราะว่าศิลปินเหล่านั้น เขาถือว่าเขาทำบุญเท่านั้น เขามีอะไรเขาจะให้
ช่วงต้นรัตนโกสินทร์มีการบันทึกจดจำขึ้นว่าคนนั้นวาดคนนี้วาด และมีการแข่งขันกันนิดหน่อย แต่เดิมเราไม่มีศิลปะวิจารณ์ ใครวิจารณ์พระพุทธ ท่านว่าไม่ได้ความ ไม่เข้าเค้า หาเรื่องติได้แม้กระทั่งพระพุทธรูป
เราถือว่าทุกสิ่งที่ออกมาจากหัวใจนั้น เป็นความงามและความดีแล้ว เราก็ยกประโยชน์ให้ แม้ฝีมืออ่อนด้อยไปบ้าง เราไม่วิจารณ์เลย
ดังนั้นสไตล์ของศิลปะไทยจึงพัฒนาช้ามาก ใช้เวลาเป็นศตวรรษกว่าที่จะก้าวขึ้นไปทั้งนี้เพราะเราใช้วิธีตามรุ่นพี่ เราลอกเลียนกันตามพื้นของเรา เราร้องหนุนประสานกันไป เราเสริมทางของศิลปะด้วยมรรควิถีแห่งธรรม
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
โฆษณา