Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
10 ต.ค. 2020 เวลา 21:38 • ปรัชญา
๓๗. ตะวันออก – ตะวันตก
ผมพบกับคนหนึ่งเขาเป็นชาวสวิส เขาเล่าชีวิตของเขาให้ฟังว่าเขาบวชเป็นพระอยู่ลังกาถึง ๒๕ ปี แล้วหมอนี่เป็นศิลปินด้วย พบกับเขาที่สวิส เขาบอกว่าผมไม่ได้ตั้งใจไปเอเชีย จะไปประเทศกรีซเพื่อศึกษาศิลปะต่อ แต่แล้วเครื่องบินถูกจี้กลางอากาศแล้วไปลงที่บอมเบย์ ในที่สุดเขาเลยบวช ๒๕ ปีในลังกา
แปลกมากคน ๆ นี้ เขาบอกผมว่า ในชีวิตเขาเรียนรู้สิ่งเดียวที่วิเศษสุดจากเอเชีย “ผมรู้ว่าเวลาออกบิณฑบาตแล้วไม่มีอะไรเหลือเลย ตระกูล วงศาคณาญาติ พี่น้อง เงิน แต่ผมรู้สึกสุขใจเป็นบ้าเลยที่ยากไร้เช่นนี้”
จุดนี้สำคัญมาก ความยากไร้ของผู้ใช้ชีวิตทางปัญญาใช่จะชั่วร้ายเสียเมื่อไร
ปรัชญาจีนบอกไว้ว่าอาชีพที่ดีที่สุดคือตัดฟืนขาย แจวเรือจ้าง เพราะไม่ต้องคิดอะไรมากมาย และง่ายในการเข้าร่วมกับวิถีแห่งเต๋า เมื่อสิ้นคิดสิ้นยึดถือ การดำรงชีวิตล้วน ๆ ก็เริ่มขึ้น
เราเตรียมที่จะมีชีวิตมากี่สิบปีแล้วตั้งแต่จบ ป.๔ เรียน ม.๘ เข้ามหาวิทยาลัยก็เตรียมเพื่อมีชีวิตใช่ไหมครับ เราไม่เคยใช้มันจริง ๆ เลย ทำไมเราไม่วิ่งไปกลางสนามหลวง แล้วร้องตะโกนว่าแท้จริงฉันมีชีวิตแล้ว
ประหลาดมากเลย มหาวิทยาลัย คู่ผัวตัวเมีย วงศ์ตระกูล ทำให้เรารู้สึกว่า ยังก่อนแกยังไม่ได้อะไรนะ แกยังไม่เป็นชีวิต แกต้องได้ปริญญาก่อน แกต้องวาดรูปแล้ว Exhibition ก่อน แล้วมั่ว ๆ ว่าตัวเป็นศิลปินก่อน แกจึงจะมีชีวิตที่สมบูรณ์
แท้จริงตัวเราไม่ได้ดีหรือด้อยเลย ตัวเราก็เหมือนกับเพื่อนมนุษย์ทั่ว ๆ ไป แต่ทำอย่างไรความเชื่อมั่นอย่างนี้จึงจะเกิดขึ้น
ดังนั้นเราต้องพังทลายสิ่งที่พ่อแม่สอนให้หรืออย่างไร มันไม่ยิ่งบ้าคลั่งกันใหญ่หรือ ต้องรักษาน้ำใจของพ่อแม่และครูที่เรารักด้วย เป็นตัวของตัวเองด้วย เราก็สับสนวุ่นวาย
คิดว่าเราควรปฏิบัติภายในเงียบ ๆ ก่อน การปฏิวัติเงียบๆ เฝ้าดูจิตใจให้ดีคิดอะไรขึ้นมาแล้วรู้ ทิ้งไป คิดดีก็ทิ้ง คิดร้ายก็ทิ้ง ในที่สุดเราจะพบว่าหัวใจของเราค่อย ๆ ถอยหลังเข้าสู่สภาพเดิม ค่อย ๆ เป็นจิตใจทารก
แท้จริงเราเป็นทารกของจักรวาลนี้ตลอดเวลา เราไม่ได้เป็นจักรพรรดิ เราไม่ได้เป็นขอทาน ไม่ได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสักหน่อย ทุกคนเหมือนกันหมดภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์
โดยข้อเท็จจริงชีวิตเป็นอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่แรกจนนาทีสุดท้าย แต่เราหลงทางไปยึดติดตัวตนเข้า เรื่องง่ายเลยยาก
พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเพื่อบอกทาง บอกข่าวดีว่า เจริญสติเสียคือกลับเข้าไปสู่ตัวเอง วางมือจากการไขว่คว้าผิด ๆ หยุดความบ้าคลั่งทะเยอทะยาน ก็คือการทำให้ทุกข์ถึงที่สุดไปเอง หยุดความเป็นคนทุกข์ร้อน หยุดวุ่นวาย เริ่มต้นชีวิตใหม่ ชีวิตซึ่งไร้อำนาจราชศักดิ์
มนุษย์ไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริงเลย หยุดสำคัญตนผิด ๆ ไปจากครรลองของธรรมชาติ ปรัชญาจีนโบราณสอดคล้องกับพุทธศาสนา อำนาจเป็นเรื่องของฟ้า การกระทำเป็นเรื่องของเรา
เมื่อใดเธอเห็นรูปสักแต่ว่าเห็น เคยได้ยินไหมครับ ประโยคนี้ ดู ๆ แล้ว หากเอาปรัชญาตะวันตกมาจับเป็นเรื่องโง่เต็มประดา
พระพาหิยะนักบวชรูปหนึ่งร้อนใจมาก เดินทางไปทั้งคืนเพื่อพบพระพุทธเจ้า ท่านจับข้อเท้าแล้วถามว่าช่วยบอกท่านว่าปฏิบัติธรรมทำอย่างไร คือท่านไม่ต้องการเรื่องอื่น เรื่องประเพณี เรื่องขนบท่านอิ่มแล้วในเรื่องเหล่านี้และรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่ง แล้วไม่มีสาระ
การรู้แจ้งที่เรียกว่าการตรัสรู้
พระพุทธเจ้าทรงห้ามสองครั้งสามครั้งว่า ไม่ใช่เวลาแสดงธรรม กำลังบิณฑบาตอยู่ในตลาด
แต่สังเกตดูพระพาหิยะร้อนใจ อยากรู้ พระพุทธเจ้าจึงแสดงโดยสังเขปที่สุด ท่านบอกว่าถ้าเช่นนั้น เธอจงตั้งใจฟังให้ดี ท่านจะแสดงโดยย่อที่เป็นแก่นจริง ๆ
ท่านบอกว่า “เมื่อใดตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จิตรับรู้อารมณ์ใดให้สักแต่รู้สักแต่เห็น เมื่อนั้นความหมายมั่นว่าเธอจะไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏที่นี่ในอนาคต อดีต คือเรื่องของตัวตนไม่มีเลย ที่ตรงนั้นที่สุดทุกข์” แล้วพระพาหิยะก็ตรัสรู้ที่ตรงนั้น
คือท่านเข้าถึงเดี๋ยวนั้นเช่นเดียวกับพระองคุลีมาล ต่อมาขอบวช พระพุทธเจ้าบอกให้ไปหาบาตรจีวรมา พอออกไปวัวบ้าก็ขวิดตาย
จุดที่สำคัญมากก็คือความดับสิ้น ความตายลงของความหมายมั่นว่าเป็นตัวฉัน
ในขณะที่ตะวันตกถือว่าความคิดของตัวตนนั้นเป็นหลักยึดหมายมั่นในตัวตน จำได้ไหมครับที่ผมอ้างแต่ต้น “ฉันคิดได้ฉันจึงมี” มันไปตั้งรากอยู่ในตัวตน
ดังนั้นแนวทางศิลปะตะวันตกกลายเป็นปัญหา ผมยอมรับในแง่สุนทรียภาพว่าเขามีพลังมาก หากแต่ความสำคัญของศิลปะอยู่ตรงวิถีชีวิต และอุปสรรคก็คือความหมายมั่นในตัวตน ความคับแคบจำกัด
ศิลปะอารยธรรมควรเป็นการแสดงออกอหังการ์
อัตตาหรืออนัตตาควรเป็นการคลี่คลายของอุปาทาน การไขว่คว้าหมายมั่นหรือปล่อยวาง ผมฝากไว้ให้ช่วยกันขบคิด คงสมควรแก่เวลาแล้ว ยุติเท่านี้
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย