11 ต.ค. 2020 เวลา 21:43 • ปรัชญา
๓๘. ตะวันออก – ตะวันตก
คำถาม : คนเราต้องได้รับการสั่งสอนฝึกฝนก่อนจึงสามารถซาบซึ้งเข้าถึงศิลปะหรือสุนทรียภาพ หรือว่าเข้าถึงซาบซึ้งได้ โดยไม่จำเป็นต้องฝึกฝน หมายความว่าคนทั่วไปรู้สึกได้ไหม?
คำตอบ : ...เป็นคำถามที่ดีมาก โดยทั่วไปเราคิดว่าสุนทรียภาพเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เพื่อยกระดับรสนิยม ต้องฝึกมาก ๆ ก่อนจึงจะเข้าใจได้
ส่วนหนึ่งเห็นด้วยเหมือนกับที่อาจารย์ฝรั่งพูดว่า ใหม่ ๆ เราค่อย ๆ พัฒนา ค่อย ๆ ฝึกปรือ นั่นส่วนหนึ่งครับ
แต่ผมจะชี้แจงอย่างนี้ว่า เราวิตกกันมากในเรื่องของความงามความดีและความจริง เราวิตกกันว่าเด็ก ๆ รุ่นหลังไม่ค่อยจะมีจริยธรรม ไม่ค่อยเคารพบิดามารดา ครูอาจารย์ กลัวแกจะไม่รู้จักความดีหรือความงาม
ผมคิดว่าไม่ต้องกลัว ถ้าความดีและความงามมีจริง วันหนึ่งแกต้องเดินชนเข้าเอง กลัวแต่จะไม่มีจริงเราไปสร้างคุณค่าเทียมเท็จขึ้น เด็กก็จับโกหกได้ เราพูดว่าอันนี้ดี ๆ วันหนึ่งจับได้ว่าไม่จริง คราวนี้ก็ยุ่งกันใหญ่
ลองพิจารณาดูผมชอบที่จะยกตัวอย่าง เมื่อเราจะดูพระอาทิตย์ขึ้นให้เต็มตา ถ้าเราไปกับไกด์ที่พูดมาก ๆ เราจะยุ่งหัวใจมาก ๆ เขายิ่งอธิบายมากเท่าไรเราไม่มีโอกาสเป็นตัวของเราเลย จงดูมันด้วยตัวเอง เพราะความงามเป็นสิ่งสัมผัสทางใจ
สุนทรียภาพเป็นคุณค่าจากใจมนุษย์มาอยู่แล้วแต่ต้นมือ ฟังทัศนะของพระพุทธเจ้าบ้าง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเมื่อพระภิกษุบรรลุวิโมกข์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงวิมุตติ ไม่ใช่หลุดพ้นหรือหมดกิเลส
วิโมกข์นั่นก็คือภาวะซึ่งหลุดจากความยุ่งยากชั่วคราว เช่นว่าโกรธใครคนหนึ่ง แต่ด้วยอำนาจของการตั้งสติและเมตตา หลุดจากความโกรธชั่วคราวอย่างนี้เรียกว่าวิโมกข์
 
บางทีเรียกว่าหลุดพ้นคือเมตตาเจโตวิมุตติ หลุดพ้นจากอารมณ์พยาบาทขุ่นใจด้วยพลังเมตตา เมื่อภิกษุนั้นเข้าถึงวิโมกข์คือโน้มใจไปที่จะเห็นความงาม ความงามก็ปรากฏออกมา ท่านเรียกว่า สุภาธาตุ เป็นธาตุหนึ่งในตัวมนุษย์
เมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน ผมพบมุสลิมคนหนึ่ง อยากจะเล่าให้ฟังเพราะเป็นตัวอย่างที่ดี
เขามีความเชื่อต่างจากผม เขาไปหาผมราว ๔ ทุ่มกลางคืน นั่งเรือไปด้วย ผมอยู่เกาะ
เขาตั้งข้อสังเกตกับผมว่าเขารู้สึกว่าบางวันเรือของเขาที่ใช้มา ๒๐ ปีนั้นใหม่เอี่ยม ทะเลก็ใหม่ด้วย แต่บางวันมันเก่ามาก ๆ และเบื่อ เขาสังเกตอะไรที่แม่นยำ
โลกใบเก่านี้ เมื่อจิตใจเปล่งประกายขึ้นมา มันปรากฏเป็นสิ่งใหม่ ภรรยาหน้าจืดของเราจะงามขึ้น อะไร ๆ รอบตัวซึ่งน่าเบื่อมากจะค่อย ๆ แจ่มใสขึ้น เพราะภาวะภายในนั่นเอง
ภาวะภายในถูกปลดปล่อย มันพร้อมแล้วที่จะเห็นความงามความความดีและความจริง
ดังนั้นผมว่าไม่ต้องสอน ที่ต้องสอนเพราะอะไร เพราะเราไปทำลายเขาหมดแล้ว เราเลยต้องสอนกันใหม่ สอนกันใหญ่เลย
เราทำลายดนตรีในเด็ก ๆ เด็ก ๆ ทุกคนหูไวเสียงจิ้งหรีดเขาจะจับได้ทันที เขาเห็นดาวในท้องฟ้าโดยตรง เขารู้สึกมันทั้งชีวิต เขาวาดรูปด้วยความรู้สึกทั้งชีวิต แต่พอเติบโตขึ้นเขาค่อย ๆ สูญเสียทีละน้อย ๆ
 
รัฐ ผู้ปกครองทำลายเด็ก ภายใต้ลัทธิคัดคนเก่งนี่ทุกชีวิตยับย่อย เด็กนักเรียนเก่ง ๆ นี่มีอะไรโหดอยู่ในตัวเองด้วย เพราะว่าเราคัดเด็กเก่งเราทำลายเด็กกันเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่ทำลายเด็ก ภาระการสอนจะน้อยลงมาก
การสอนเป็นเพียงเครื่องส่องทางซึ่งไม่ใช่ทาง ทางคือตัวของเขาเอง เขาต้องเติบโตขึ้นมาเอง ในตัวเขา โดยตัวเขาเอง โดยอาศัยเครื่องส่องทาง ดังเราใช้กระจกส่องหน้าตาของเรา
ความงาม ความดี ความจริงเป็นเรื่องง่าย และมันเปิดเผยกับจิตใจที่ซื่อ ๆ ง่าย ๆ หากจิตใจเราแจ่มใสไม่เกรอะกรังไปด้วยการไขว่คว้า เราสัมผัสความงามได้เสมอไม่ว่าในธรรมชาติของทิวทัศน์ท้องทุ่งหรือความรู้สึกสูงส่งทางมโนคติในงานศิลปะ
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
โฆษณา