15 ต.ค. 2020 เวลา 04:56 • ไลฟ์สไตล์
☀️คิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9☀️
ทุกปีฉันจะค้นหนังสือ และสิ่งของเกี่ยวกับพระองค์ท่านที่เก็บเอาไว้ ออกมาเช็ด ปัดฝุ่น ทำความสะอาด
นี่ฉันละเลยที่จะหยิบหนังสือพระบรมราโชวาทมาอ่านนานมากขนาดนี้เลยหรือ?
🌟นี่คือขุมทรัพย์ ของคนไทย 🌟ที่อยู่ใกล้ชิดกับเรามานาน จนเรามักจะมองข้ามไป
ค่อยเปิดทีละหน้า ค่อยๆอ่านทีละย่อหน้า
ซึมซับความหวังดี ความห่วงใย ต่อพสกนิกร
ที่สอดแทรกอยู่ในระหว่างบันทัด ทุกตัวอักษร
หลักคิดต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด
นักเรียนนักศึกษา หนุ่มสาวที่เริ่มทำงาน ครู ข้าราชการ เกษตรกร ประชาชนทั่วไป
✨ถ้าได้อ่าน และนำไปปฏิบัติ จะทำหน้าที่ของตนเอง ได้อย่างดีงาม
ส่งผลดีต่อทั้งส่วนตัวและส่วนรวมด้วยอย่างแน่นอน✨
วันนี้ขออัญเชิญ พระบรมราโชวาทบทนี้ค่ะ
ภาพถ่ายจากโปสเตอร์ พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวง ร 9 จัดพิมพ์โดย ไปรษณีย์ไทย
“ในชีวิตของคนเรานั้น
ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะอยู่เป็นปกติสุขอย่างเดียวได้
ย่อมจะมีทั้งภัย ทั้งอุปสรรค ทั้งเคราะห์ร้าย
ผ่านเข้ามาบ้าง อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงพ้น
ข้อสำคัญ เมื่อต้องประสบเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่บางครั้งทำให้ใจหายใจคว่ำได้
จะต้องไม่ใจเสีย
เพราะจะทำให้เสียขวัญ เสียกำลังใจ
ทำให้จนปัญญา คิดไม่ออก ทำไม่ถูก
และที่สุดก็อาจผิดพลาดเสียหายได้ต่างๆ
ทางที่ถูก จะต้องพยายามสงบใจ
ทำใจให้ดี หายใจยาว
เผชิญหน้ากับสถานการณ์
อย่างที่เรียกว่า ทำใจดีสู้เสือ
ก็จะทำให้เกิดสติรู้เท่าทัน
สามารถใช้ปัญญาพิจารณา
เห็นเหตุเห็นผลได้กระจ่างชัด
หาทางปฏิบัติได้ถูกต้อง
พอเหมาะพอดี ไม่มีอับจน
บัณฑิตจึงควรอย่างยิ่ง ที่จะฝึกฝนอบรมตนเอง
ให้เป็นผู้มีใจดี มีใจที่สงบ
และหนักแน่นมั่นคง ในกาลทุกเมื่อ”
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2541
อัญเชิญ จากหนังสือ ชีวิตงาม ตามคำสอนของพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 2
โดย รศ มัลลิกา ตัณฑนันทน์ และคณะ
คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
บรรณาธิการ สมชัย เบญจมิตร
จัดพิมพ์เมื่อ พฤษภาคม 2558
หนังสือ การศึกษาพระราชดำรัส และ พระบรมราโชวาท เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนในชาติ
หยิบกล่องดนตรี และกล่องออมสิน 3 แบบ ที่ศิริราชมูลนิธิ จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกถึง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นมาชื่นชมในพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ : กังหันน้ำชัยพัฒนา
กล่องดนตรี กังหันน้ำชัยพัฒนา จัดทำโดย ศิริราชมูลนิธิ by เขียนตามใจ
รถยนต์พระที่นั่ง ที่นำพระองค์เสด็จพระ ราชดำเนินไปในท้องถิ่นทุรกันดาร
กล่องออมสิน “รถของพ่อ “ by เขียนตามใจ
วันที่ 7 กันยายน 2524 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงาน ณ บ้านเจาะบากง หมู่3 ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยมิได้นัดหมายให้ราษฎรในพื้นที่ทราบล่วงหน้า
ขณะนั้นชาวบ้านทั้งชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิม กำลังทำนาอยู่ในพื้นที่ เมื่อได้ยินเสียงรถยนต์ของตำรวจทางหลวงนำขบวนเสด็จฯ ชาวบ้านในละแวกนั้นจึงวิ่งออกมารับเสด็จฯ ริมถนน
รวมทั้งนายพร้อม จินนาบุตร ขณะนั้นมีอายุ 47 ปี ได้นั่งและยกมือกราบบังคมทูล
พระองค์ทอดพระเนตรลุงพร้อม และทรงรับสั่งให้รถยนต์พระที่นั่งหยุด
ตรัสถามลุงพร้อมว่า “ที่นี่ที่ไหน”
ลุงพร้อมตอบว่า “หมู่บ้านเจาะบากง”
พระองค์ตรัสว่า “หมู่บ้านดังกล่าวไม่มีในแผนที่ มีแต่บ้านโคกกูโน และบ้านโคกกูยิ” ซึ่งหมู่บ้านทั้ง2แห่ง เป็นหมู่บ้านที่มีเขตติดต่อกับบ้านเจาะบากง
ในระหว่างนั้นลุงพร้อม ได้เสนอขอพระราชทานให้มีการขุดคลองเชื่อมต่อคลองโต๊ะแดง
ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่งแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปที่สะพานไม้พร้อมกับลุงพร้อม เพื่อทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ดังกล่าว
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับนั่งบนสะพานไม้ ข้างรถพระที่นั่ง
ดังภาพที่ปรากฏในภาพพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะประทับอยู่บนสะพานกับลุงพร้อม และเอนพระวรกายข้างรถยนต์พระที่นั่ง Land Rover Series 3 “ร.ย.ล. 111” ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นทะเบียน ร.ย.ล.244 และถูกเก็บรักษาใน นิทรรศการ พระราชยานพาหนะ ในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ลุงพร้อม กราบบังคมทูล ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนสะพานไม้ข้างรถพระที่นั่ง
อุปกรณ์อีก 2 อย่างที่เรามักจะเห็นอยู่ข้างๆพระวรกายอยู่เสมอ : กล้องถ่ายภาพ ไว้ใช้บันทึกข้อมูลจากสถานที่จริง เพื่อนำไปปรับปรุงการทำงาน และวิทยุสื่อสารประจำพระองค์
กล่องออมสิน กล้องถ่ายรูป และ วิทยุสื่อสาร
☀️คิดถึง ในหลวงรัชกาลที่ 9
อ่านพระบรมราโชวาท
เดินตามรอยพระองค์ท่าน
เก็บข้อมูล เรียนรู้วิชาการลึก
บันทึก สื่อสาร ออกไปวงกว้าง☀️
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
อันหาที่สุดมิได้
แอดมิน เพจ เขียนตามใจ ทำตามชอบ
ขอบคุณภาพ และเรื่องจาก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา