Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
13 ต.ค. 2020 เวลา 22:02 • ปรัชญา
๔๐. ตะวันออก – ตะวันตก
คนธรรมดาสามัญนี่เองที่จะเข้าถึงคุณค่าของศิลปะไทย ไม่ต้องกลัวครับไม่ต้องกลัวจะเข้าไม่ถึง แต่ว่าถ้าเราอยากเป็นฝรั่งนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
ผมพูดเพื่อให้น้ำหนักถ่วงดุลมาทางตะวันออก ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าตะวันตกเขาไม่มีอะไรเลย ที่จริงเพลงซิมโฟนีมีความงามอย่างลึกซึ้ง เรายอมรับเราไม่ได้ดื้อด้าน จนต้านสิ่งที่มาจากตะวันตกไปหมด
แต่ว่าเราต้องเข้าใจความลึกซึ้งของคนไทย ท่วงท่าของไทย เสน่ห์ของชีวิตไทย ๆ เสน่ห์ของการวาดเส้นแบบไทย ช่างไทยโบราณเขาเขียนไม่ได้ระวังอะไรมาก เรามองในแง่ของเสน่ห์ สีทึม ๆ พอปิดทองเข้าดูวาวแล้วสดชื่นขึ้น
ส่วนที่จะซาบซึ้งให้กว้างและลึกเราต้องเรียนต้องเรียนรู้ ต้องมีการวิพากษ์ในแง่ปรัชญาว่าการกระทำอย่างนี้มันมีนัยยะที่ลุ่มลึกอย่างไร
อันนี้ที่จริงไม่เกี่ยวกับศิลปะแล้ว เป็นการศึกษาความคิดเบื้องหลัง ส่วนศิลปะหรือความงามนั้นพอเห็นปั๊บมันปราดเข้ามาที่หัวใจเลย
อย่างที่ผมเล่าให้ฟังเห็นบรมพุทโธ ป้องกันตัวไม่ทัน รู้สึกได้ทันทีเลย เป็นภาษาใจเป็นสิ่งกระทบใจให้รู้สึกได้ในความงาม เรารู้สึกทันที
ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นศิลปินผู้สร้างงานหรือเป็นผู้ที่รักศิลปะเท่านั้น เราควรจะฝึกปรือให้อินทรีย์ประสาทของเราให้อ่อนไหว คำว่าอ่อนไหวอ่อนโยนไม่ใช่ขี้แยไม่ใช่อย่างนั้นนะ
หมายความว่าเราควรจะฉับไวในการเห็นนกขยับปีก หรือว่ากล้วยกำลังออกปลี ส่วนใหญ่เราผ่านสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อย่างผิวเผิน
ดังนั้นเมื่อใดที่สติเราดีขึ้น เราเริ่มเห็นสิ่งต่าง ๆ โดยตรง การเห็นโดยตรงนี้สำคัญมาก
ผมสรุปนะครับว่าความงามที่แสดงออกทางศิลปวัตถุ (Art work) จะต้องมาจากศิลปะของการดำรงชีวิตที่ดีงามและแจ่มแจ้ง ศิลปะแห่งการดำรงชีวิต ซึ่งเราจะเป็นศิลปินก็ได้ เป็นผู้รักงานศิลปะก็ได้ไม่สำคัญอะไร
ศิลปะอยู่ที่หัวใจ ถ้าเราจะฝึกฝนศิลปะโดยตรงก็ได้ ไม่ฝึกฝนก็ได้แต่เราต้องมีชีวิตที่งดงาม เมื่อเป็นดังนี้เราก็จะเข้าใจความงามได้อย่างลึกซึ้งและพอเพียง ทั้งเราจะไม่มัวบ้าคลั่งศิลปะด้วย
คำถาม : จำเป็นไหมที่การตีความหมายศิลปะนั้นต้องตรงกับความหมายที่ศิลปินตั้งใจจะสื่อความ และการที่ศิลปินสอดใส่ปรัชญาส่วนตัวมามากเกินไป ซึ่งทำให้เกิดการตีความผิดพลาด ศิลปะเลยกลายเป็นสิ่งสร้างปัญหาให้กับผู้คนไป มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร เราควรหาข้อสรุปอะไรไว้ล่วงหน้าหรือไม่?
คำตอบ : ถ้าเป็นไปได้ มันทำให้เกิดอารมณ์ร่วมสูง แต่โดยข้อเท็จจริงไม่เป็นอย่างนั้น เราดูภาพของศิลปินบางคน เราก็เข้าใจตามที่เรารู้สึกเอาเอง ก็ถูกเหมือนกัน แต่ว่าถ้าเราสามารถเข้าถึงและตรงกับที่เขาวางไว้ เช่น เป้าหมายที่เขาวางไว้ แล้วเราเข้าถึงได้ อันนั้นนับว่าดี
แต่โดยความเป็นจริง บางทีเราตีความพลาด เช่น ผมเคยวิจารณ์เขา แต่ปัจจุบันผมรู้สึกผมทำพลาด ผมเคยคิดว่าแวนโก๊ะเป็นโรคประสาทที่เขียนรูปท้องฟ้าเป็นเกลียว ปัจจุบันผมเริ่มจับได้ใหม่แล้ว ผมเริ่มคิดว่าแวนโก๊ะสัมผัสท้องฟ้า ความรู้สึกของเขาเป็น Touchable เข้าใจไหมครับ
ที่เป็นคลื่นเป็นเกลียว ภาพ Starry Night, Sunflower ของเขาที่ขายได้นับร้อยล้าน
แต่ก่อนผมเคยคิดว่าเขาคงไม่สบาย
แวนโก๊ะ เป็นพระแล้วก็เบื่อโบสถ์มาก เขาเริ่มงานศิลปะเมื่ออายุ ๓๐ กว่าจวน ๔๐ แล้ว แต่เขาเป็นคนมีประสบการณ์สูงมากในชีวิต ผมไปที่พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะที่อัมสเตอร์ดัม ผมจึงเห็นอะไรบางสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน
ชีวิตของแวนโก๊ะส่วนใหญ่แต่เดิมนั้นมองทางหนังสือแล้วตัดสินเป็นภาพ ๆ พอเอาภาพเหล่านั้นมาเรียงกันหมดแล้ว ผมเห็นนิสัยของเขากลับกันกับศิลปินใหญ่คนอื่น ๆ อีกมาก
เขามองชีวิตด้วยสายตาของสามัญชน ด้วยสายตาของเพื่อนมนุษย์ที่มีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์
ดังนั้นภาพชาวนากินหัวมันเป็นการสะท้อนถึงมนุษยธรรมในใจของแวนโก๊ะ เขาชอบที่จะเขียนคนยากไร้ ภาพผู้หญิงที่กำลังตักดิน ผมเห็นได้เพราะว่าเห็นมันทั้งหมด สำรวจภาพทั้งหมด จึงเข้าใจในมิติใหม่ของแวนโก๊ะ
แต่ก่อนผมดูบางภาพ เพราะเราดูผ่านทางหนังสือซึ่งแล้วแต่ว่าใครเป็นผู้นำเสนอ เมื่อเราเข้าถึงเบื้องหลังทั้งหมดที่เขามีที่เขาให้ เราก็เริ่มเปลี่ยนทัศนะที่มีต่อเขา
บางคนเข้าใจยาก เรารู้เพื่อนบางคนปากร้ายแต่ใจดี แต่ถ้าเราเข้าใจได้เร็วมันก็ดี มันก็กินช่วงสั้น
เมื่อผู้สร้างศิลปะกับผู้บริโภคตรงกันในเวลาเดียวกันก็นับว่าวิเศษ แวนโก๊ะใช้เวลาค่อนศตวรรษกว่าที่คนรุ่นหลังจะขานรับเขา เหมือน ๆ กับโมเน่ต์ที่แสดงครั้งแรกภายใต้ชื่อ Impression ผู้คนเดินกันไปถ่มน้ำลายรดเขาถือว่าโมเน่ต์ทำลายศิลปะ
ศิลปิน นักเขียนจะต้องใช้เวลามาก เสียสละมาก กว่าโลกจะเข้าใจ แวนโก๊ะใช้เวลานานมาก แต่ถ้าการขานรับตรงในเวลานั้นก็นับว่าดี
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
ขอบคุณภาพ: อินเทอร์เน็ต
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย