14 ต.ค. 2020 เวลา 21:06 • ปรัชญา
๔๑. ตะวันออก – ตะวันตก
คำถาม : คนเราจะคิดโดยอิสระจากความคิดได้หรือไม่ เพราะในการมีชีวิตอยู่ตามความเป็นจริงนั้น เราต้องคิด อยากทราบว่าเรามีวิธีการหรือไม่ที่จะอิสระจากความคิด
คำตอบ : ตรงนี้ผมคิดว่าคำตอบไม่ได้อยู่ที่ผมหรือที่ใครเลย คำตอบอยู่ที่ความสุกงอมของประสบการณ์ หมายความว่าถ้าเราติดคิดอันหนึ่งอันใด มันไม่ใช่ปัญหาที่ใครจะเข้าไปช่วยได้
เมื่อผมบอกว่าให้เลิกคิดเสียก็เริ่มคิดตามที่ผมบอกว่าเลิกคิด เป็นอันว่าเรายึดถือในความคิดอีกแนวหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นปัญหานี้จะถูกแก้ไขปรับปรุงได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเจ้าตัวจะต้องเฝ้าดูกระแสความคิดซึ่งห้ามไม่ได้ อาการคิดนั้นเหมือนกับการกะพริบตาเราจะหยุดมันไม่ได้
เรามีชีวิตอยู่สองชั้นคือ ชีวิตทางสมองซึ่งทำให้เราค้นพบคุณค่าภายใต้ Time & Space ได้ เรานัดเวลาคนอื่นได้ ถ้าเราไม่มีความคิดเลย ไม่จำเลยเราจำเวลาไม่ได้ จำสถานที่ไม่ได้ ตำแหน่งเราไม่รู้ ความสัมพันธ์กับคนอื่นก็ล้มเหลว
แต่ว่าชีวิตอีกด้านหนึ่งคือชีวิตที่เรียกว่าเป็นเรื่องของใจ ใจไม่ได้กินระยะทาง ไม่ได้กินเวลา
ดังนั้นในโครงสร้างของมนุษย์คนหนึ่งๆ มีความขัดแย้งระหว่างสมองซึ่งเป็นแหล่งของข้อมูลทรงจำ (Data) ต่าง ๆ ซึ่งบรรจุไว้มาก จำมากคิดมาก จำน้อยคิดน้อย ไม่จำไม่คิด
คล้าย ๆ ความจำเป็นฟืนของไฟคือความคิด
ใจมันไม่เป็นอย่างนั้น ใจไม่มีขอบเขต อาจารย์มองลึกเข้าไปในใจ เดี๋ยวนี้จะพบว่าคลื่นสมองเริ่มระงับเป็นไปเองโดยธรรมชาติ
ความขัดแย้งระหว่างหัวใจกับสมองในมนุษย์นี้รุนแรงอยู่ เพราะเราพัฒนาโลกของสมมุติ โลกของความหมายสะสมขึ้นทุกที
จุดที่ประสานหัวใจกับสมองเริ่มรอมชอมกันก็คือเรื่องวิปัสสนา เมื่อเราเริ่มรู้สึกตัวเมื่อเราเริ่มขยับเขยื้อน สมองกับใจเริ่มประสานกันเราก็มีชีวิตอยู่ได้ในโลกสมมติที่ต้องใช้ความคิดและอิสระที่ใจ
เราอิสระที่ใจ สมองอิสระไม่ได้ ยิ่งคิดเสรีเท่าใด ยิ่งติดกับตัวเองมากเท่านั้น
คนที่ตะโกนเรื่องเสรีภาพมันเสรีเสียเมื่อไร การเรียกหาเสรีภาพเป็นเรื่องทางสมอง วิปัสสนาเป็นเรื่องทางใจประสานกับสมอง ความหลุดพ้นเป็นเรื่องทางใจ ตรงนี้มันต้องผ่านประสบการณ์ของการภาวนาแล้ว
โดยย่อ เมื่อใดอาจารย์เฝ้าดูกระแสความคิดซึ่งแตกต่างจากการติดคิด เรามักเผลอชอบที่จะคิด มากกว่าที่จะสำรวจความคิด เราจะผลุนผลันเข้าไปอีก อะไรต่ออะไรใครทำอะไรให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เราจะคิดเป็นคืน ๆ แล้วในที่สุด เราก็นอนไม่หลับ เป็นโรคประสาทขึ้นมา
แต่ถ้าเราเริ่มหันเหชีวิต เริ่มจับความรู้สึกตัวสด ๆ แล้วก็เฝ้าดูเฝ้าสังเกตการณ์เคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เป็นจริง เช่น การกะพริบตา กลืนน้ำลาย การกระทำเช่นนี้ ถ้าเอาปรัชญาตะวันตกมาจับถือเป็นเรื่องโง่เง่าสิ้นดี เกิดคำถามว่าคุณจะฉลาดได้ยังไงมีปัญญาได้อย่างไร เรียนหนังสือดีกว่า
เราพบว่าบางทียิ่งเรียนหนังสือมาก ยิ่งโง่ มัวคิดว่าปัญญาอยู่ตรงที่รู้หนังสือ
แต่ว่าเมื่อเราเฝ้าดูจิตใจว่า เราคิดนึกอย่างไรเฝ้าดูไปๆ ประสบการณ์นี้จะมาถึงจุดหนึ่ง
วันหนึ่งซึ่งกระแสสืบต่อนั้นขาดลง พอขาดลง และที่ตรงนั้นเองจะเห็นความเป็นเอง และที่ตรงนี้ที่ศิลปะทั้งหลายแสดงออกมาได้ นอกนั้นเป็นเรื่องสมอง
ศิลปะทางตะวันตกเป็นเรื่องของสมอง ทางตะวันออกเป็นเรื่องของหัวใจ แต่ผมบอกแล้วนะว่าซีกโลกทั้งสองซีกแยกจากกันไม่ได้ เมื่อแยกมันเสียการทรงตัว
เราควรจะรู้อะไรให้มากและโดยเฉพาะเรื่องราวของชีวิต สติปัญญา พร้อม ๆ กันเราควรจะกระตุ้นให้พลังความรู้สึกตัวเข้าไปเคลียร์พื้นที่ให้หัวใจเรา
 
โดยย่อแล้วผมอยากจะอ้างคำของเซนต์ปอลว่า “มนุษย์เรานั้นควรมีหัวใจบริสุทธิ์, ซื่อเยี่ยงทารก แต่คิดอย่างผู้ใหญ่” แต่ถ้าในทางกลับกันแล้วยุ่ง ถ้ามีจิตใจอย่างผู้ใหญ่แล้วหัวเหมือนทารกแล้วยุ่ง เวลาล่วงเลยมามากแล้วผมขอยุติเท่านี้
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ.๒๕๓๒
โฆษณา