15 ต.ค. 2020 เวลา 21:17 • ปรัชญา
๔๒. ข้อเสนอแนะบางประการต่อการสร้างสรรค์ศิลปะ
การศึกษาสิ่งใหม่ ๆ นั้น ในใจของเราต้องเกลี้ยงจากทฤษฎีต่าง ๆ สิ่งที่เรียกว่า คิดล่วงหน้า หรือภาษาอังกฤษว่า Pre-concept จะเป็นจุดอ่อนที่สุดในการวาดรูป ในการฟังรวมไปถึงการมีชีวิตอยู่ เพราะว่า เรามักจะถูกทฤษฎีและข้อสรุปนั้นเองจับตัวไว้
ถ้าผมเกลียดใครคนหนึ่ง ก็เพราะผมมีภูมิหลัง
สมมุติว่าครั้งหนึ่งผมเคยถูกชาวอินเดียรังแก ดังนั้นผมจะรู้สึกมีอคติทันทีที่เกี่ยวข้องกับชาวอินเดีย และมีสิ่งที่เรียกว่า ตัดสินล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่ชาวอินเดียคนนั้น เขาอาจจะเป็นคนดีมากก็ได้ แต่ผมลำเอียง
ด้วยเหตุนี้เองในการศึกษา ในการฟังหรือในการดำรงชีวิตอยู่ เราควรรักษาตัวให้พ้นจากอคติ
บางพวกนั้นต้านฝรั่ง อะไรที่มาจากตะวันตกก็ต้านเต็มที่ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่าโลกเรามีเอกภาพ และก็สิ่งดี ๆ หลายอย่างเกิดทางตะวันตก เท่า ๆ กับสิ่งเสีย
ดังนั้นธรรมชาติแห่งความรู้สึกตัวง่าย ๆ จะเป็นสิ่งเดียวที่เข้าร่วมในความเป็นสากล ในแวดวงศิลปะนั้น
เมื่อปิกัสโซ่ได้รับฟังคำเตือนของศิลปินผู้พี่คือ เฮนรี มาร์ติส ให้ไปศึกษาคุณลักษณะทางวิญญาณของหน้ากากแอฟริกา ซึ่งมีรากฐานจากความรู้สึกและการแสดงออกง่าย ๆ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาปิกัสโซ่ก็สามารถครองใจผู้รักศิลปะได้ทั่วถึง เพราะว่าเขากลับไปสู่งานศิลปะพื้นบ้าน หรือพริมิทีฟ
งานโฟล์ค เป็นสิ่งที่ผู้คนทุกชาติทุกภาษาเข้าร่วมได้ง่าย เพราะมีลักษณะพื้นเพอันเป็นสากลอยู่อย่างสูง
เหมือนเพลงรำวงของเรานี่รำให้ฝรั่งดูทีเดียวเขาเข้าร่วมได้ แต่ถ้าเป็นเรื่อง Classic ยากมาก ต้องเรียนรู้กฎเกณฑ์มาก
ขอให้เราเริ่มพิจารณาจากสมัยเริ่มแรกหรือ ปุริมกาล ภาพเขียนที่เรียกว่า X-ray Painting ของชาวพื้นเมืองในหลาย ๆ ทวีป ก็ยังเป็นที่ชื่นชอบของพวกเราอยู่ ผมเองก็ชอบมาก ๆ เมื่อเห็นภาพแบน ๆ ของชนที่เรียกว่า แอบอริจินิส ลักษณะ Primitive นั้นไม่ใช่ไร้ปัญญา แต่ไร้เทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีก็ใช่ว่าจำเป็นสำหรับคนสมัยนั้น มนุษย์กับเทคโนโลยีนั้นแยกจากกันไม่ได้ จำเดิมตั้งแต่มนุษย์คนใดคนหนึ่งเอาหินเสียบเข้าที่ง่ามไม้สำเร็จเป็นขวานหิน นั่นคือเทคโนโลยี เทคโนโลยีคือการที่มนุษย์รู้จักนำประสบการณ์มาปรับปรุงวิถีชีวิต สำเร็จเป็นการดำรงชีวิตที่ดีกว่า เราไม่รู้ว่าเป็นใครที่รู้จักเอาไฟมาหุงต้มอาหาร คนนี้สำคัญมากเพราะก่อนหน้านั้นโครงสร้างทางด้านขบวนการทางเคมีชีวะของมนุษย์เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่พอกินของสุกระบบต่าง ๆ เริ่มปรับตัว เดี๋ยวนี้เราหันไปกินของดิบไม่ได้แล้ว เว้นไว้แต่บางอย่าง เราค่อย ๆ ไต่เต้าหาความเข้าใจต่อพัฒนาการของศิลปะควบคู่กับการพัฒนาสังคมและเทคโนโลยี คือผมไม่มีคำตอบว่าอะไรคือปัญหาของศิลปะร่วมสมัย แต่ว่าถ้าอะไรที่เป็นปัญหาของชีวิตร่วมสมัย ก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะ นั่นคือปัญหาของศิลปะหรือปัญหาร่วมสมัยของศิลปะ คือปัญหาร่วมสมัยของศิลปะอาจจะหมายถึงว่าทุกยุคศิลปะมีปัญหา เมื่อตอนที่สิ้นสุดอิทธิพลของ Neo-Classic หรือที่เรียกว่า Renaissance ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยานั้น เดอลาครัวส์ตะโกนก้องยุโรปว่าศิลปะตายแล้ว ตันแล้ว เราลอกเลียนแบบ Classic จนตันแล้ว แต่ไม่ช้าไม่นานสมัยที่เรียก Modern เกิดขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่โรแมนติกเป็นต้นมานักวิชาการถือว่าสมัยโรแมนติกเป็นสมัยใหม่ เพราะว่าเริ่มหลากหลายในสไตล์ ที่จริง Romantic ไม่ใช่ภาพอันใดอันหนึ่ง ผมไม่เอาเฉพาะเรื่องจิตรกรรมเท่านั้นนะ แต่รวมไปถึงวรรณกรรมในยุคนั้น ยุคสมัยโรแมนติกได้ถูกประกาศขึ้นโดยเฟรเดอริก นั่นคือว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปมนุษย์ทุกคนสามารถค้นหาสัจจะ หรือพระเจ้า ภายใต้อารมณ์รัญจวนของตัวเอง ไม่ต้องขึ้นกับโบสถ์ ไม่จำเป็นต้องเชื่อกฎเกณฑ์ใด ๆ ดังนั้นเองจึงเกิดความหลากหลายในทางแบบอย่าง แต่พักเดียวเท่านั้นโรแมนติกก็ถึงจุดสั่นสะเทือนเพราะว่ามันเพ้อไป ล้นไป ในที่สุดสัจนิยม (Realism) ก็ปรากฏขึ้นแทนที่ Realism แข็งแกร่งกว่า ขอให้สังเกตว่าศิลปะตะวันตกเท่านั้นที่โฟกัสลงบน Realism ในทางตะวันออก ยกเว้นจีนบางช่วงแล้ว (แต่เป็น Subjective Realism) เราไม่เคยโฟกัสลงบน Realism เลย เมื่อผมเรียนประติมากรรมใหม่ ๆ ผมงงอยู่อันหนึ่งว่า ทำไมหนอบรรพบุรุษของเราจึงไม่เห็น ๓ มิติ ทั้ง ๆ ที่น่าเห็นนานแล้ว ผมเข้าใจไม่ได้และตัดสินว่าช่างไทยโง่ไม่เข้าใจมิติ เขียนรูปก็แบน ๆ แต่เดี๋ยวนี้ผมเข้าใจแล้วว่า บรรพบุรุษของเราไม่สนใจสิ่งที่เรียกว่ามิติ แต่ใส่ใจสภาพเหนือมิติกาลเวลา อันเป็นอกาลิโก สามมิติ คือ กว้าง ยาว และลึก ซึ่งเป็นรากฐานของศิลปะตะวันตก ปรัชญากรีกนั้นตั้งฐานอยู่บนคณิตศาสตร์ เรขาคณิต จึงขุดคุ้ยเข้าไปในกล่องของมิติ กล่องของเวลาและเทศะ เป็นการโน้ตเหตุการณ์หนึ่งโดยใช้ Perspective, Vanishing Point, Foreground, Background เราเริ่มต้นอย่างนี้และถูกฟื้นฟูขึ้นอย่างสูงส่งในสมัย Renaissance สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและก็ถูกเขย่าด้วยโรแมนติก แต่โรแมนติกไม่ได้สร้างอะไรที่เป็นสาระมากมาย เพลงของบีโธเฟ่นนั้นเป็น Romantic มากกว่า Classic มีการเคลื่อนไหวแรงกล้าท้าทาย ต่อมาดสมบูรณ์ (Perfect Manner) ของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้) บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
โฆษณา