4 พ.ย. 2020 เวลา 00:07 • ท่องเที่ยว
ช๐๙๔_วัดน่างรั้วหรือวัดยางกวง พระเจ้าแสนแสว้
◇ตามรอยโคลงครู นิราศหริภุญชัย◇ ตอน๑๕
๏ อารามเรียงรุ่นหั้น เงางาม
เป็นปิ่นบุรีนาม น่างรั้ว
บเห็นนาฎนงราม บวรสวาท สยบเอย
ทั้งชื่อชีพิตกั้ว โลกนี้นานนิพาน ฯ
นิราศหริภุญไชย บทที่๓๑
......วัดน่างรั้วอยู่ต่อจากวัดกุฏีคำไปไม่ไกลนักและอยู่กับชุมชนเชียงตุงแต่สมัยโบราณด้วยกันทั้งคู่ ที่อพยพมารุ่นเจ้ากาวิละฟื้นฟูเชียงใหม่จากเมืองร้าง อุปฐากหลักของวัดทั้งสองนี้ จึงเป็นคนในชุมชน รูปแบบวัดจึงมีอิทธิพลของงานสถาปัตยกรรมทางเชียงตุง ผสมไปกับเชียงใหม่ ที่นี่เป็นวัดเดิมมาจากสมัยก่อนอย่างน้อยก็ในสมัยครูท่าน ยังมีบันทึกเขียน ไว้ แต่ตอนนั้นมีพระเจ้าแสนแสว้หรือยัง
๑๐๖.ก่อนกาวิละฟื้น แปงเมือง
โอ๋อดีตพิงเคยเรือง แสงกล้า
สามสิบปีเวียงร้างเนื่อง ปกชัฎฎ
กลับประเทืองแสงจ้า พิงแก้วสุกฉาด ฯ
๑๐๗.กวาดครัวเข้ามาตั้ง ถิ่นฐาน
ชาวเขินเชียงตุงวาน ปักรั้ง
ยางกวงรอยอดีตนาน ยังจำ
นำแสงพุทธเชียงตุงจั้ง ขวัญข้าชนเขิน ฯ
๑๐๘.วันรุ่งดูพระเจ้า รอยเศียร
สัมริดใหญ่โตเจียน สูงแน้
พิพิธภัณฑ์เชียงใหม่เชียร ชลอลง
รอยสิงห์เชียงแสนแท้ แสนแสว้เทียมฟ้า ฯ
๑๐๙.งามเอ่วาดพักตร์พริ้ม สิหิงส์
ใหญ่เอยสัมฤทธิ์จริง เช่นเนื้อ
แสนแสว้แสนงามคิง แมนสรวง
เทินองค์ลงโลกเกื้อ ถากแผ้วนรกานต์ ฯ
๑๑๐.เห็นครู*นั่งเกวียนหน้า ผ่านอาราม
แน่เห็นวิหารขาม ใหญ่ล้ำ
ฤๅเห็นพระเจ้างาม ดั่งสิหิงค์
กาลผ่านเจื่องเวียงค้ำ จับจ้าฯ
*ท่านผู้แต่งนิราศหริภุญไชย
๑๑๑.ก่อนถ้าผ่านทางน้อย เห็นพุทธ
ใหญ่โอ่ปานจักหยุด ใจแล้ว
พรายแย้มขูโนดจุด ธรรมแสดง
อาจรั้งใจเฉกแก้ว แววแกล้งกลายปัญญา ฯ
๑๑๒.ยังเห็นรอยปธานล้วน แสดงอดีต
เนาเห็นภาพก่อนกรีด เวียงฟ้า
เห็นสัทธาเชียงใหม่ขีด ข้ามกาล
เห็นชนห้อมแสงจ้า จักรู้เย็นใจ ฯ
๑๑๓.
แปดเหลี่ยมเจดียแก้ว เสียดสุด
ครอบระฆังเยี่ยมยุด แทกฟ้า
แปดพุทธรอบฐานผุด แปดทิศ
ขาวใสยอดสิงคีจ้า จับแจ้งรอยพิงค ฯ
....ถ้าใครเคยเข้าไปในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ซึ่งอยู่ใกล้ๆวัดเจ็ดยอดนั้น เมื่อเดินเข้าทางซ้ายมือจะเห็นมีเศียรพระองค์ใหญ่ดูจากรูปร่างหน้าตาแล้ว เป็นพระในรูปแบบที่เรียกว่าพระพุทธสิหิงส์แต่ดูจากขนาดแล้วใหญ่โตทีเดียวสูงร่วมสองเมตรทีเดียว ทำให้ต้องนึกถึงขนาดขององค์พระจริงว่าควรจะใหญ่โตเท่าไร และเศียรพระองค์นี้ออกจะเป็นแม่เหล็กสำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ใครเข้าไปแล้วจะจำท่านได้ทุกคน
........คำว่า "แสว้"บ้างก็เขียนว่า "แซว่" แปลว่าสลัก สลักในความหมายของ งานช่างโลหะคือการยึดตอก ในตัวอย่างเช่น พระเจ้าเก้าตื้อ มีบันทึกไว้ว่า การหล่อแยกเป็น ๙ ส่วน น่าแปลกที่ว่า พระพุทธรูปในล้านนาส่วนใหญ่มีบันทึก ในรายละเอียดจัดทำหรือมีการจดจารที่ฐานองค์พระ เบื้องแรก เป็นเรื่องเวลาการจัดสร้าง มีผู้วิจารณ์ว่า ถ้าท่านแสนแสว้ ปรากฏเป็นองค์ใหญ่โต อยู่ที่วัดยางกวงจริง ในสมัยนั้นท่านผู้แต่งโคลงนิราศหริภุญชัย คงจะต้องเขียนบรรยายถึง เพราะจะต้องเด่นชัดต่อสายตา ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา แต่ก็ไม่มีบรรยาย บ่งชี้ในนิราศเลย ลองกลับไปอ่าน โคลงบทที่ ๓๑ อีกครั้ง ก็ได้ครับ
ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ ปัจจุบัน
เศียรท่านแสนแสว้ วางไว้หน้าประตูโบสถ์วัดเบญจมบพิตรกรุงเทพฯสมัยก่อน ช่วงรัชกาลที่ 6 ขอบคุณเพจเชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น
....วัดในปัจจุบันชื่อว่ายางกวง แต่ในนิราศท่านเขียนว่าน่างรั้ว ซึ่งก็เป็นชื่อเก่าของวัดนี้ และเศียรพระเจ้าแสนแสว้ ก็พบกันที่นี่ ในหลักฐานหลายๆทางบอกว่าวัดแห่งนี้ดั้งเดิมมีความสำคัญทีเดียว แต่โดยวิธีคิดแบบใช้ความรู้สึก(แบบผม)นั้นก็จะต้องสำคัญแน่ๆ เพราะวัดระดับชาวบ้านไม่มีทางสร้างองค์พระพุทธรูปสูงใหญ่ขนาดนั้นได้ (เพราะต้องใช้เทคโนโลยี่และทุนทรัพย์เยอะ) และยิ่งในสมัยก่อนการหล่อสัมฤทธิ์โดยเฉพาะพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้เป็นเทคโนโลยี่ระดับสุดยอดทีเดียว ดูท่านแสนแสว้นี้แล้วนึกถึงพระสุโขทัยสำริดที่ว่าใหญ่ เช่นท่านศรีศากยมุนีวัดสุทัศน์ผมเห็นท่านครั้งแรกถึงกับหยุดตกตะลึงร้องอยู่ในใจว่าใครหนอช่างสรรสร้าง ท่านแสนแสว้ก็ดูจะเป็นขนาดต่อเนื่องกับพระที่พบเศียรในแม่น้ำโขงที่เชียงแสนได้กระมัง แต่ที่วัดก็สร้าง องค์จำลอง ของท่านแสนแสว้ ใหญ่โตพอให้เราเห็นภาพได้ว่าท่านเป็นพุทธสิหิงค์ที่องค์ใหญ่ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของเศียรที่พบ
......และเป็นเรื่องน่าแปลก เรื่องหนึ่งเช่นเดียวกับเศียรพระองค์ใหญ่ของอยุธยาในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเทพฯ คือตำแหน่งที่พบเศียรพระ นั้น เรากลับไม่พบชิ้นส่วนอื่นๆเลย มีผู้ตีความ เรื่องนี้ไว้เยอะ แต่ก็เป็นแค่การสันนิษฐาน ยังไม่มีหลักฐานใดๆที่บ่งชี้ชัดแจ้งชัดเจน
หมายเหตุ
เมื่อวานนี้ได้ดูช่องพีบีเอสมีข่าวเรื่องที่จะมีคนเข็นเมืองเชียงใหม่เวียงกุมกามและลำพูนให้เป็นมรดกโลกจะมีการเมืองแฝงเร้นหรือไม่ใช่ก็ตามที่นี่อาจจะแตกต่างจากสุโขทัยหรือศรีสัชนาลัยเมืองโบราณที่นี่มีชีวิต มีการสืบต่อมีชุมชนแม้จะมีรุกเข้าไปพื้นที่โบราณบ้างโดยเฉพาะสถานที่ราชการเราควรจะพิจารณาดูความเป็นไปได้จากตัวเราเองไม่ใช่เอาเงื่อนไขของมรดกโลกมาเป็นธงตั้ง
ทางแก้ว
โคลงชมวัด
วาดวัด
**ขอจบ ตามรอยโคลงครู นิราศหริภุญชัย ไว้ที่บทนี้ ขอบคุณที่ติดตามอ่านมาโดยตลอด โปรดดูรายละเอียดย่อยในซีรีส์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา