23 ต.ค. 2020 เวลา 09:47 • ปรัชญา
๔๙. ข้อเสนอแนะบางประการต่อการสร้างสรรค์ศิลปะ
แบบอย่างศิลปะทางตะวันตกนั้น ปัจเจกเป็นผู้นำในการเปลี่ยนสไตล์ของศิลปะ พลังปัจเจกมีบทบาทสูง
เมื่อโมเน่ต์พยายามจะเขียนภาพให้ทันกับบรรยากาศ สมัย Impressionism ก็เกิดขึ้น แต่ใช่ว่าเขาคนเดียว หมายความว่าถ้าไม่มีนกนางแอ่นตัวอื่นช่วยกระพือ ฤดูใบไม้ผลิใหม่จะไม่เกิดขึ้น
พลังปัจเจกในทางตะวันตกมีความหมายและบทบาทสูง นวมกาโบซึ่งเป็นวิศวกรหันมาทางศิลปะ ลัทธิ Constructivism ก็เกิดขึ้น เมื่อเขาเอาเส้นแรงทางฟิสิกส์กลศาสตร์มาสร้างสรรค์ในงานศิลปะ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น การเข่นฆ่าศัตรูต่างเผ่าต่างพันธุ์ ผลพวงอันเลวร้ายของสงครามและความตระหนักในความตกต่ำถดถอยในคุณค่าของมนุษย์และจริยธรรม กระทำให้เกิดสไตล์ทางสถาปัตยธรรมที่เรียกว่า International Style
ยุคสมัยแห่งศิลปะนั้นเป็นเรื่องของกาลเวลา ผมอยากเป็นศิลปิน สมมุติไปนะแล้ว ๆ เล่า ๆ ผมก็ไม่ได้เป็น ผมแต่งตั้งตัวเองเป็นศิลปินไม่ได้ ผมอาจจะบ้าไปได้ ถ้าคิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน
งานและวิถีชีวิตภายนอกเราอาจจะกวาดขยะอยู่บนถนนเหมือนเดิม แต่ถ้าข้างในเปลี่ยนไปแล้วงานของเขาก็เปลี่ยนค่าไปด้วย
ศิลปินผู้วาดรูปก็ไม่ได้วิเศษไปกว่านักกฎหมายหรือภารโรง อย่าสำคัญผิดไป แต่ว่างานที่ออกมาจากหัวใจที่บริสุทธิ์นั่นต่างหากที่จะชี้ขาด
เมื่อเป็นเช่นนั้นต่อให้เป็นรัฐมนตรีก็ไม่อาจจะมีศักดิ์ศรีเหนือภารโรงได้
ถ้าเรามองจากจุดนี้ต่อให้เป็นโป๊ป ก็ไม่อาจบอกได้ว่านี่เป็นชีวิตที่ดี หากไม่มีหัวใจที่บริสุทธิ์
ดังนั้นเขียนรูปต่อไป เพื่อแสวงหาความเป็นธรรม เพื่อต่อสู้กับความอคติ อยุติธรรม เพื่อขัดเกลาตัวเองเรื่อย ๆ เพื่อให้ชีวิตผ่านความระกำลำบาก เพื่อให้โชคชะตาค่อย ๆ เข้ามาขัดเกลา ถนอมหัวใจของเราให้ดี ๆ ความยากไร้นั้นไม่ใช่สิ่งชั่วเลย
จริง ๆ แล้วผมไม่ค่อยจะรู้เรื่องศิลปะร่วมสมัยนัก
แต่สิ่งที่ผมเข้าใจนั้นมักจะมองจากมุมมองของชีวิต โดยเฉพาะจากรากฐานของพุทธศาสนา และนี่คือจุด ๆ หนึ่งที่ต้องสังวรมาก ว่าพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาหรือเป็นวิถีชีวิต
งานศิลปะนั้นออกมาจากวิถีชีวิต เราดำเนินชีวิตอย่างไรมันจะสะท้อนออกในงานศิลปะ
ไม่ใช่ว่าผมเป็นอะไรบางอย่าง ผมเป็นเศรษฐีหน้าเลือด ตะกละ ละโมบ แล้วผมจะสร้างงานศิลปะที่บริสุทธิ์ได้ งานของผมจะฟ้องขึ้นมาทันทีว่า สิ่งที่เขียนสีสันวรรณะนั้น ออกมาจากจิตสำนึกเช่นไร
ดังนั้นถ้าสมัครใจทำงานศิลปะต้องให้มันทั้งชาติทั้งชีวิต พี่มานิตเล่าว่า อาจารย์ฝรั่งพูดกับพี่มานิตโดยตรงว่า นายดูดกลืนมันให้หมด ย่อยมันให้ได้แล้วจะแสดงออกได้
 
คำนี้เดี๋ยวนี้เราอาจจะไม่ค่อยได้ยินได้ฟัง การใช้ชีวิตทางศิลปะนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะเอามนต์ขลังทั้งทุกข์ยาก ทั้งชุ่มชื่นเอาไว้ทั้งสองด้าน
ถ้าเราหันไปดูศิลปะร่วมสมัยทุกวันนี้ไม่ว่าในอินโดนีเซีย ไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งหมดนี้เป็นไปในแนวทางตะวันตก ผมให้ข้อสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า แม้รูปนอกของศิลปะจะเป็นไทย เป็นอินโดนีเซีย แต่ว่าเนื้อหาเป็นฝรั่ง
ที่จริงศิลปะเป็นสื่อที่ให้พลังจินตนาการเลื่อนไหล ให้เขาฝันเอง ให้เขารื่นรมย์เอง และคนทุกคนมีอิสระในทางจินตนา ฝันอย่างเสรี อันนั้นคือการเติบโตของสุนทรียภาพ
เมื่อใดที่ศิลปะกลับกลายเป็นคำตอบไม่ใช่เป็นสื่อ (Means) งานศิลปะที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์นั้นข่มคนดูหยาบเกินไปแม้จะมีฝีมือลึกซึ้ง แต่งานที่กล้อมแกล้ม ๆ จะมีเสน่ห์สูง
ถ้ามองทางเอเชีย เนื้อหาคุณค่าทางศิลปะคือเสน่ห์ เสน่ห์นี้เกิดจากระบบอินทรีย์ประสาทอ่อนโยนและมีพลานามัย
ทุกวันนี้เราไม่ค่อยจะชุ่มชื่นไม่ค่อยได้เห็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ดูแล้วจับจิตจับใจและรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ที่ดีได้
สิ่งที่เราพูดกันทุกวันนี้ของเก่าทั้งนั้น
เราไม่มีพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ที่ทำให้เราชุ่มชื่น เราไม่มีละครอะไรที่ดูแล้วชุ่มเข้าไปในหัวใจ แต่ว่าเราพูดถึงเรื่องเก่าโบราณ ดังนั้นเราจึงมองประเมินสุนทรียศาสตร์ผ่านหน้าต่างประวัติศาสตร์เท่านั้น
งานบางชิ้น เช่น พระปรางค์วัดมหาธาตุพิษณุโลก หรือพระพุทธชินราชที่วัดนั้นลอยเด่นอยู่กลางหัวใจเรา เพราะว่าช่างเขาออกแบบโบสถ์ให้แสงสว่างผ่านประตู่สู่หน้าองค์พระประธาน ปิดกั้นแสงด้านอื่นเพื่อให้มืดทึม
เพราะว่าความมืดสลัวนั้นเต็มไปด้วยเสน่ห์
ความรู้สึกทางใจของเราเป็นอะไร เราจะเป็นอันนั้น ถ้าหัวใจเราอ่อนโยนเราเห็นดอกไม้ เราจะเบิกบาน แต่ถ้าเรากระด้าง เราถือดี เราโลภ เรามีความเกลียดอยู่ในใจ เราจะไม่เข้าร่วมกับทางธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัวเรา
เด็กเห็นดีกว่านี้ หูของเราตอนเด็ก ๆ เราฟังเสียงจิ้งหรีดได้อย่างฉับไว เดี๋ยวนี้หัวใจเรามีแต่ทฤษฎี เราอยากเป็นศิลปินมากเกินไป เราพยายามแต่งตั้งตัวเองให้เป็นศิลปินตามที่เราอยาก
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
ขอบคุณ: เจ้าของภาพ
โฆษณา