28 ต.ค. 2020 เวลา 07:32 • ปรัชญา
๕๑. จากสมุดอนุทิน
ศิลปะอันยิ่งใหญ่ดีเลิศเกิดไม่ได้หากไร้ซึ่งความดีงามภายใน มีความงามวิเศษในภายในอยู่ การสร้างสรรค์ศิลปะเกิดแต่ความวิเศษอันนั้น
จิตที่บริสุทธิ์ งาม และจริงแท้ คือแสงสว่างของศิลปวัฒนธรรมและอารยธรรม ความงามแห่งน้ำใจนั้นเองคือรสวิเศษ
ศิลปะถูกสรรค์สร้างจากน้ำใจเช่นนี้ สมอง ความคิด ความฉลาดมีไว้เพียงเพื่อสนับสนุนความมีน้ำใจงามให้สัมฤทธิ์ผลออกมาเป็นรูปธรรม
ประแจจีนก็คือสัญลักษณ์ของ Chi พลังชีวิต ประแจเข้าสู่สารัตถะของศิลปะจีน คือพลังชีวิต อันเป็นอยู่ในรูปทรงต่างๆ พลังชีวิตนั่นเองที่จะไขเข้าสู่ความลี้ลับของธรรมชาติ
พลังชีวิตซึ่งบริสุทธิ์ล้วน ๆ ย่อมเป็นไปกับเต๋า ร่วมทางกับเต๋า
ศิลปะจะสูงส่งเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่า Chi พลังชีวิตได้แหวกความซ้ำซากลอกเลียนออกไปเพียงใด หมายความว่าพลังชีวิตได้แสดงร่องรอยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีพลัง มนต์ขลัง และอิสระในทางสร้างสรรค์เพียงใด
ศิลปะชั้นสูง จึงมีเป้าหมายหรือคติเป็นวิมุติ เมื่อคติทางศิลปะจีนไม่มุ่งทางจินตนาการ ดังเช่นศิลปะอินเดียแล้ว จุดมุ่งหมายกลายเป็นสัมผัสต่อความ เป็น (Being)
สุนทรียภาพอันไม่เนื่องด้วยอาเวค (Emotion) และไม่ใช่อารมณ์รัญจวน (Romantic) กับธรรมชาติ
แต่เป็นอารมณ์ร่วมทางกับเต๋า หยุดนิ่ง สนิทอยู่บนรากฐานของ Is-Ness และโยงใยกับสรรพสิ่งโดยไม่เกี่ยวกับการคิดนึกจินตนาการ แต่เป็นพลังแห่งจิตเดิมต่อสภาพเวิ้งว้างกว้างไกล ต่อ Space อวกาศที่ไม่ใช่อุดมคติ
งานศิลปะที่ถึงขนาดจริง ๆ นั้นจะทำให้ผู้ดูลืมหายใจทีเดียว
ลมหายใจ (อัสสาสะ-ปัสสาสะ) ขาดไปชั่วขณะที่ได้ประสบไม่ว่าผ่านทางตาหรือหูหรือทั้งสองประกอบกับในช่วงขณะวิกฤตเช่นนั้น ชีวิตได้หันเหออกจากวงจรของความซ้ำซาก (อาสวะ) ไปสู่ทิศทางใหม่ ลืมตัวลืมตน
แล้วความหวังใหม่ชีวิตใหม่ก็ร้องประกาศตัวมันออกมาจากรากฐานภายในตัวเอง จากแก่นในของชีวิตเป็นตัวของตัวเอง หมดสิ้นปัญหาในความด้อยหรือเด่นของความเป็นมนุษย์
ลมขาดก็ลุถึงฐานบริสุทธิ์ของชีวิตอันพลังชีวิตได้พบทางออก พลังชีวิตอันไร้ตัวตนพบทางออกสู่ทางของมันเอง สู่เต๋า
ลมขาด สติเป็นธรรมชาติ บริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ฐานที่ฤทธิ์แสดงบทเป็นจิตใหญ่ จิตสากล (มหัคคตารมณ์) เป็นจิตที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ เป็นความเป็น (Is-Ness) เหมือนที่ น้ำเป็นน้ำ ดินเป็นดิน หินเป็นหิน ไฟเป็นไฟ ลมเป็นลม วิญญาณเป็นวิญญาณ
๑๐ ธ.ค. ๒๕๒๘
Space แบบคติจีนนั้นแตกต่างจาก Space ในคติของอินเดีย
Space จีนไม่ใช่อุดมคติแต่เป็นสิ่งคงอยู่ธรรมดาและลึกซึ้งยิ่งในตัว Space เอง ไม่จำเป็นต้องใช้จินตนา
Space ไม่ใช่เป็นที่สถิตของเทพยดาหรือร่างทิพย์ จีนมองโลกตรง ๆ และตรงเข้าสู่แก่นธรรมชาติมากกว่าอินเดียซึ่งมองธรรมชาติในฐานะของการสำแดงออกของเทพดา (Divinity) หรือทิพยศักดิ์ (Divine Potentiality)
ธรรมชาติในทัศนะของจีนไม่ใช่สิ่งที่อธิบายได้ เป็นสิ่งลี้ลับ ความงามคือสภาพโอบอ้อมของธรรมชาติเอง ความเป็นเองของธรรมชาติดั้งเดิม
ในทัศนะของอินเดียนั้น ให้ความสำคัญแก่อภิปรัชญา ธรรมชาติเป็นสิ่งที่อธิบายได้ แต่ก็ด้วย Divine Logic
อินเดีย กล้าหาญชาญชัยในการให้อรรถาธิบายโลก จักรวาลตามทางของอินเดีย โลกเป็นโลกแห่งการรังสฤษฏ์ของพระผู้เป็นเจ้า และทุกอณูทุกรูปร่างทุกช่องว่าง ก็เป็นที่สำแดงออกขององค์พระผู้เป็นเจ้า
พลังจินตนาถึงสภาวะทั้งหมดที่เนรมิตโดยพรหมคือรากฐานปรัชญาในการสร้างสรรค์ศิลปะ
ในขณะที่จีนถือเอาปรากฏการณ์เป็นเพียงความสัมพันธ์ของหยินกับหยาง ปรัชญาของจีนไม่มีอะไรซับซ้อนยุ่งยาก แต่มองตรงสู่แก่นธรรมชาติ
ธรรมชาติไม่อาจเข้าถึงได้โดยพลังจินตนา ธรรมชาติ ไม่อาจเป็นสิ่งอยู่ในมโนคติของมนุษย์ หากแต่มนุษย์เป็นสิ่งเล็ก ๆ ในธรรมชาติ
ด้วยการเข้าถึงระเบียบวินัยแห่งการสร้างสรรค์ของช่างไทย ในการเขียนภูเขานั้นช่างไทยจะเขียนแบบเลื่อนไหล คือ แผ่นหิน-ดินค่อยๆ เลื่อนตันนูนขึ้นเป็นภูเขา สอดคล้องต้องกันกับทฤษฎีใหม่ว่าด้วยการเลื่อนไหลของทวีปอันก่อเกิดภูเขาต่าง ๆ นักธรณีฟิสิกส์ถือว่าทวีปคือแผ่นดินซึ่งเคลื่อนได้
จีนเขียนภูเขาตั้งนิ่ง ตั้งอยู่ชั่วนิรันดร์ อันสะท้อนถึงทัศนะต่อธรรมชาติ สื่อความหมายผ่านการเขียนภูเขาให้มีลักษณะเสถียร
เช่นเดียวกัน ช่างอินเดียเขียนภูเขาเพื่อประกอบภาพเทพ จึงให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์รูปทรงน้อย ช่างอินเดียไม่ให้ความสำคัญแก่โลกทางวัตถุ
เช่นเดียวกับช่างทิเบตมักเขียนภูเขาเป็นเส้นง่ายๆ เกินไป ขาดพลังสร้างสรรค์ เพราะสกุล Trans Himalayan Culture นั้นเป็นลัทธินิยมเทพ Arts ถิ่นนี้เป็นการสำแดงออกของเทพ (Divinity) ปรากฏการณ์เป็นเพียงสัญลักษณ์ของเทพ ศูนย์กลางรวมอยู่ที่มหาเทพ
ส่วนช่างไทย เนื่องแต่ทัศนะต่อโลก ชีวิต จักรวาลทั้งหมด เป็นทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนาทำให้ช่างสื่อความหมายผ่านทางการใส่ใจในรูปทรงของทุกสิ่ง ต้นไม้ ใบหญ้า ภูเขา สัตว์ ซึ่งล้วนแล้วเขียนให้อ่อนไหว มีพลังชีวิตแฝงอยู่
ช่างไทยจึงสนุกสนานในการเขียนกว่าจีนและอินเดีย รวมถึงกลุ่ม Trams Himalayan Culture ทั้งหมด (สิกขิม ภูฏาน ทิเบต เนปาล)
ภูเขาของไทยเป็นรูปทรงที่แสดงออกของพลังเคลื่อนไหวอยู่ภายใน เรียกว่าภูเขานั้นมีชีวิตและเติบโตอยู่เหมือนกับสิ่งมีชีวิต มิใช่สิ่งนิ่งและไร้ชีวิต
ภูเขากำลังเป็นอยู่และเคลื่อนไหวได้ โลกมิได้หยุดนิ่ง ทุก ๆ ขณะคือชีวิตซึ่งเป็นอยู่
๒๘ ม.ค.๒๕๓๐
ขอบคุณภาพ: มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต
ในห้วงของกาลเวลา กระทำให้ช่อฟ้า ฯลฯ บรรลุถึงขีดสมบูรณ์ เช่นเดียวกับสิ่งสุนทรอื่น ๆ
ดังนั้นหากเราสามารถเข้าใจความงาม-สติปัญญาในสิ่งหนึ่งได้ ในความสมบูรณ์ของมัน เราก็อาจบรรลุถึงสิ่งสุนทรอื่น ๆ ได้ ไม่เพียงแต่ของชนชาติใดชาติหนึ่ง แต่รวมกว้างไปถึงนานาชาติ
ด้วยการบรรลุถึงปัญญาแห่งความงาม (สุนทรีย์) ของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่นั้นเองที่ทำให้ลุถึงความเป็นสากลได้
ความเข้าใจถ่องแท้ สติปัญญาที่แทงทะลุเหนือกาลเวลานั่นเองคือสภาพสากล
มองในแง่สัมพันธ์กับสิ่งอื่นจะพบว่า หากนายช่าง ศิลปิน กวีคนใดบรรลุถึงทางหรือวิถีของศิลปะได้อย่างถ่องแท้แล้ว สามารถสร้างสรรค์งานอันบริสุทธิ์ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อศิลปศาสตร์สาขาอื่นด้วย ทั้งศิลปินสาขาอื่นก็จะได้อาศัยแรงดลใจอันนั้นในการสร้างสรรค์งานในสาขาของตนๆ
กล่าวได้ว่าผู้เข้าถึงการงานบริสุทธิ์จะปลุกจิตใจของผู้คนให้เข้าถึงด้วยความสลักสำคัญอยู่ตรงการบรรลุถึงการงานอันบริสุทธิ์
งานศิลปะเป็นผลพวงของวิถีชีวิตของศิลปิน เมื่อวิถีชีวิตบริสุทธิ์ งานย่อมสะท้อนความบริสุทธิ์ออกมา
๒ ก.พ.๒๕๓๐
จากหนังสือ : อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทยที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา