Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
29 ต.ค. 2020 เวลา 23:08 • ปรัชญา
๕๒. จากสมุดอนุทิน
จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ด้วยหลักเมตตาและความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทำให้ช่างเขียนไทย (โบราณ) เขียนรูปสัตว์ต่าง ๆ (เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า) ดูละม้ายคน ใกล้มากทางคน
ไม่ได้เขียนให้ดูคล้ายเป็นสัตว์ ไม่เหยียดหยามสรรพสัตว์ แต่มองด้วยความเคารพ
โดยเชื่อว่าไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งที่สัตว์เหล่านั้นจะได้ชาติเป็นคนและรู้อริยสัจ
บางทีก็เขียนดูหน้าตาบ้องแบ๊ว เขียนเสือไม่น่ากลัวเลย ดูน่าเอ็นดูมากกว่า
ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าช่างไทยเขียนให้ดุร้ายไม่เป็น แต่เขาเลือกแสดงออกอย่างน่าสะพรึงกลัวในรูปยักษ์มาร ราหู ผีเสื้อสมุทร ไม่ใช่สัตว์ เพราะรู้สึกว่าสัตว์นั้นน่าสงสาร
นาค นั้นวาดให้ดูน่าเกรงขาม มีหนวดเคราด้วยเพราะหมายถึงอำนาจ (มานะ)
๑๐ ก.พ. ๒๕๓๐
ภาพ: Ted Mayor (ตัดมาบางส่วนจากหนังสือ ทะเลสาบ)
ระหว่างนักยิมนาสติคกับศิลปินนักเต้นระบำปลายเท้านั้นมีความแตกต่างอยู่มาก การร่ายรำของระบำปลายเท้าบอกเราถึงอารมณ์รู้สึกต่าง ๆ ความร่าเริง ท้อแท้ ความหวัง กิเลส ตัณหา ฯลฯ
ในขณะที่นักยิมนาสติคแสดงได้เพียงความเก่งอันมาจากการฝึกอย่างช่ำชอง และมาสร้างความหวาดเสียวให้ดู เป็นความกล้าหาญ
นักระบำนั้นต้องอาศัยพรสวรรค์ (Gift) มากในการใช้อารมณ์ให้สอดคล้องกับท่าร่ายรำเพื่อสื่อภาษาใจไปสู่ผู้ชม เพียงปลายนิ้วที่มีความสง่างามและบอกอารมณ์ของนักระบำนั้น มีอะไรมากกว่าการที่นักยิมนาสติคเหวี่ยงตัวขึ้นไปตีลังกา ๓ ทอดกลางอากาศ
ความกลมกลืน ความสง่า อารมณ์และที่สำคัญคือลักษณะ Divine (ทิพย์) อยู่ในทุก ๆ ตอน ทิพยลักษณะนี้เองคือโอชารสทางศิลปะ ศิลปินผู้มองเห็น Divine และสามารถแสดงออกได้
๒๗ ก.พ.๒๕๓๐
ถ้าความวิจิตรบรรจง ความเชี่ยวฉานชำนาญอย่างใดอย่างหนึ่งไม่มีความจริงทางปัญญาอยู่ ศิลปะนั้น ๆ ก็พลัดไปสู่โลกแห่งแฟนซี
ดังนั้นหน้าที่ศิลปะกับสาระทางปัญญาจะต้องมาด้วยกัน จนกลมกลืนมีเนื้อหาประสานกันอย่างแนบแน่น
ผลรวมก็คือสาระความจริงทางพุทธิได้แสดงออกอย่างเด่นชัดจนรูปลักษณ์ภายนอกของงานได้กลายเป็นสื่อที่สัตย์ซื่อ
สัตย์ซื่อต่อสาระความสัจจริงที่หัวใจรู้สึกได้โดยตรง ณ ที่ตรงนี้เราเรียกว่าแตกฉาน (Break Through) เข้าถึงสารัตถะและทั้งแตกกระจายไปสู่ทุก ๆ สาขา
ถือได้ว่าเป็นผลงานแห่งการรู้แจ้งซึ่งผ่านมาทางการภาวนา
๑๕ เม.ย.๒๕๓๐
ศิลปะตะวันตก จากรากฐานของความคิดแบบกรีกนั้นค่อนไปทางสิ่งเทียมความจริง (Artificial)
ส่วนตะวันออก ศิลปะนั้นเป็นสภาพประพิมพ์ประพาย (ปฏิพิมพ์ – Seemingness) ต่อความจริงนั้น
สภาพประพิมพ์ประพายต่อความจริงนั้นกลับเป็นก้าวสำคัญของอารยธรรมในการไม่ห่างความจริงและเชื่อมประสานโลกกับความจริง
ศิลปะตะวันออกจึงเป็นสื่อระหว่างโลกีย์กับโลกุตรธรรม มีสภาพประพิมพ์ประพายของวิมุติในทางของศิลปะตะวันออก เช่น พระพุทธรูป
ส่วนศิลปะเทียมความจริงนั้นได้แก่เทวดากรีกหรือรูปสลักของโรมัน เหมือนของจริงมาก ยิ่งเหมือนเท่าไรก็กลายเป็นสิ่งเทียมความจริงเท่านั้น ยิ่งเทียมความจริงเท่าไรก็ยิ่งมดเท็จเท่านั้น
๑๘ เม.ย.๒๕๓๐
จากหนังสือ : อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทยที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย