30 ต.ค. 2020 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
“การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (Siamese revolution of 1932) การปฏิวัติที่เป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ไทย” ตอนที่ 2
“คณะราษฎร”
เมื่อรัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ไม่ได้ทรงอยู่เฉย
1
รัชกาลที่ 7 นั้นไม่ได้ทรงคิดเลยว่าพระองค์จะต้องขึ้นรับราชสมบัติ เนื่องจากถึงแม้จะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชั้นเอก หากแต่ก็เป็นพระราชโอรสองค์เล็ก ไม่มีใคร แม้แต่พระองค์เองจะทรงคิดว่าจะได้ขึ้นครองราชย์
1
เมื่อได้ขึ้นครองราชย์ในขณะที่เงินแทบจะหมดท้องพระคลัง อันเป็นผลมาจากการใช้จ่ายในรัชกาลก่อน รัชกาลที่ 7 จึงไม่ทรงอยู่เฉย หากแต่ต้องทำทุกวิถีทางให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้
3
พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ตัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในราชสำนัก และเสด็จไปทั่วประเทศ เยี่ยมเยียนพสกนิกร และออกงานต่างๆ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ได้นิ่งเฉย
5
รัชกาลที่ 7 ขณะทรงเยี่ยมประชาชน
แต่ถึงจะพยายามปรับตัว หากแต่คนหนุ่มผู้มีการศึกษา โดยเฉพาะเหล่านักเรียนนอก ซึ่งมองเห็นปัญหาและความล้าหลังของประเทศ ต่างรู้สึกไม่พอใจ
2
คนหนุ่มเหล่านี้ เป็นบัณฑิตที่เรียนจบจากต่างประเทศ พวกเขาเห็นความเจริญของต่างประเทศ และเมื่อนำมาเทียบกับประเทศของตนแล้ว ช่างแตกต่างกันลิบลับ อีกทั้งยังมีเรื่องของการขาดโอกาสต่างๆ ความแตกต่างทางชนชั้น ทำให้บัณฑิตเหล่านี้เริ่มจะคิดอะไรบางอย่าง หากแต่ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
3
หากเป็นคนธรรมดา ผมคงพูดว่าซวยจริงๆ ซึ่งกับรัชกาลที่ 7 ก็เรียกได้ว่าท่านขึ้นครองราชย์ในเวลาที่มีแต่ปัญหา
ในยุค 30 (พ.ศ.2473-2482) ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่ม และเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โดยเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาในปีพ.ศ.2469 ก่อนจะค่อยๆ ลามไปทั่ว แม้แต่ไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
2
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ รัชกาลที่ 7 ได้ทรงเสนอให้เก็บภาษีรายได้และอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแบ่งเบาภาระของชาติ หากแต่สภาไม่เห็นด้วยเลย เนื่องจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ย่อมต้องกระทบถึงพวกตนแน่นอน
2
สภาได้แก้ปัญหาด้วยการลดเงินค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนและลดงบประมาณทางทหารแทน ซึ่งทำให้เหล่าข้าราชการและทหารไม่พอใจมาก
1
ความไม่พอใจนี้ ได้ทำให้ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช” เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและเป็นพระญาติกับรัชกาลที่ 7 ได้ทรงตัดสินพระทัยลาออก ซึ่งพระองค์เจ้าบวรเดช จะเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทพระองค์หนึ่ง หลังการปฏิวัติ ซึ่งผมจะกล่าวถึงในบทต่อๆ ไป
1
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
ในเวลาเดียวกัน รัชกาลที่ 7 ก็ได้ทรงมุ่งมั่นในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้านายพระองค์อื่น รวมทั้ง “เรย์มอนด์ บาร์ทเล็ตต์ สตีเฟนส์ (Raymond Bartlett Stevens)” ที่ปรึกษาชาวอเมริกัน ในการร่างรัฐธรรมนูญ
1
แต่หลายฝ่ายก็ได้ทูลทัดทานพระองค์ว่าชาวไทยยังไม่พร้อมต่อประชาธิปไตย หากแต่พระองค์ก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญก่อนงานเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี ราชวงศ์จักรีในปีพ.ศ.2475 หากแต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ถูกสภา ซึ่งประกอบด้วยเจ้านายหลายพระองค์ตีตกไป
แต่ถึงรัชกาลที่ 7 จะทรงตั้งพระทัยจะมอบรัฐธรรมนูญ หากแต่ก็มีข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงโปรดประชาธิปไตยจริงหรือไม่ เนื่องจากพระองค์เคยตรัสในทำนองที่ไม่เห็นด้วย หากจะให้ประเทศไทยปกครองแบบประชาธิปไตย
10
ปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2475 รัชกาลที่ 7 เสด็จไปประทับพักผ่อนที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมอบหมายให้ “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยไม่ทรงทราบเลยว่า การเสด็จออกจากกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เมื่อเสด็จกลับ ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม
4
พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
ทางด้านเหล่าคนหนุ่ม หัวสมัยใหม่กลุ่มหนึ่ง พวกเขากำลังวางแผนจะทำอะไรบางอย่าง
1
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2470 (บางแหล่งบอกว่าปีพ.ศ.2469) ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในโรงแรมแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ในกองทัพไทยและนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่ง กำลังจับเข่า พูดคุยกันถึงเรื่องการหาทางเปลี่ยนแปลงสยาม
1
พวกเขาอยากจะตั้งกลุ่มหรือพรรคที่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่สยาม
ที่ผ่านมา กบฏ ร.ศ.130 เป็นตัวอย่างความพยายามเปลี่ยนแปลง หากแต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า พวกเขาจึงต้องระมัดระวัง ไม่ซ้ำรอยกบฏ ร.ศ.130 จะต้องไม่พลาด
คนหนุ่มกลุ่มนี้เห็นความเจริญในประเทศตะวันตก และรู้สึกหงุดหงิดใจที่ประเทศไทยไม่เจริญดังเช่นตะวันตก หากแต่ย่ำอยู่กับที่ รวมทั้งการที่อำนาจทางการเมืองตกอยู่เพียงกลุ่มชนชั้นปกครองในสยาม
2
คนหนุ่มกลุ่มนี้นำโดย “ปรีดี พนมยงค์” พร้อมด้วย ร้อยโท แปลก ขิตตะสังคะ (จอมพลป. พิบูลสงคราม ในเวลาต่อมา) , ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี, ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), แนบ พหลโยธิน ต่างประชุมกัน โดยมีปณิธานให้สยามบรรลุเป้าหมาย 6 ประการ ซึ่งต่อมาเรียกว่า "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร"
2
อันที่จริง ย้อนกลับไปตั้งแต่ปีพ.ศ.2467 ปรีดีได้พูดคุยและเห็นตรงกันกับ “ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี” เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาก่อนแล้ว
ปรีดี พนมยงค์
กลุ่มคนหนุ่ม ที่ร่วมกันประชุมและตกลงทำการณ์ใหญ่นี้ เรียกตัวเองว่า “ผู้ก่อการ”
กลุ่มผู้ก่อการ ได้วางแผนว่าเมื่อกลับสยาม พวกตนจะหาทางเผยแพร่แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ต่างก็รู้ว่าคนไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย และก็ตระหนักดีว่าชนชั้นกลางต่างก็ยังต้องพึ่งพาบารมีของขุนนางและชนชั้นสูงในการได้งาน ได้โอกาสในการทำงาน
1
ดังนั้นหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ มีเพียงการทำรัฐประหารโดยทหารเท่านั้น
1
ด้วยเหตุนี้ “คณะราษฎร” จึงได้รับการก่อตั้ง
คณะราษฎร
เมื่อสิ้นยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) คณะผู้ก่อการได้เดินทางกลับสยาม และค่อยๆ เผยแพร่แนวคิดนี้ไปยังเหล่าบุคคลต่างๆ ดึงเข้ามาเป็นพวก
ปรีดีได้เป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดึงตัวคนรุ่นใหม่ราวๆ 50 คน ผู้ที่ต้องการจะเห็นการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์ เข้ามาเป็นพรรคพวก ในขณะที่ร้อยโทแปลก ซึ่งในเวลานั้น ได้เป็น “หลวงพิบูลสงคราม” ได้พยายามดึงตัวนายทหารหลายนายเข้ามาสนับสนุน รวมทั้งกองทัพเรือ ก็ได้มีการหาทางขยายแนวคิดและดึงตัวบุคลากรให้เข้ามาสนับสนุน
6
สมาชิกของคณะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และภายในสิ้นปีพ.ศ.2474 สมาชิกคณะราษฎรก็มีถึงกว่า 102 คน แบ่งเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร
หลวงพิบูลสงคราม (จอมพลป. พิบูลสงคราม)
ทางด้านร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อการ ได้หาทางดึงตัวนายทหารระดับสูงในกองทัพ ซึ่งต้องการจะยุติอำนาจของกษัตริย์และราชวงศ์ ให้มาเข้าร่วม ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ
มีทหารระดับสูงที่มีอำนาจได้เข้าร่วม ให้การสนับสนุน และกลายเป็นสี่ทหารเสือของคณะราษฎร ซึ่งได้แก่
1
1.พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
2.พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)
3.พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)
4.พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)
สี่ท่านนี้ ได้เข้าร่วมและกลายเป็นผู้นำกลุ่มคณะราษฎร
สี่ทหารเสือแห่งคณะราษฎร
สำหรับสาเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475 ก็มีมากมายหลายสาเหตุ แต่ผมขอยกสาเหตุหลักๆ และพอจะอธิบายคร่าวๆ ได้ดังนี้
1.ความไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ความไม่พอใจนี้คุกรุ่นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว โดยเหล่าทหารต่างรู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญ มีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจนระหว่างเจ้ากับไพร่ ชาวบ้านก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับโอกาสอย่างที่ควรจะได้
1
ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงถูกโจมตีในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้จ่ายที่ออกจะสิ้นเปลือง รวมทั้งการตั้งกองเสือป่าที่หลายฝ่ายมองว่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เป็นเพียงเพื่อสนองความพอพระทัยของพระองค์เท่านั้น
ด้วยเหตุเหล่านี้ ทำให้ในรัชสมัยของพระองค์ ฐานะการคลังของประเทศ เริ่มจะไม่สู้ดีนัก แม้แต่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ก็ต้องตัดรายจ่ายบางส่วนออกไป นอกจากนั้น ขุนนางผู้มีประสบการณ์หลายท่านก็ไม่พอใจรัชกาลที่ 6 เนื่องจากรัชกาลที่ 6 ทรงส่งเสริมสามัญชนที่พระองค์ทรงโปรด และแต่งตั้ง พระราชทานความดีความชอบมากมาย แทนที่จะส่งเสริมขุนนางระดับสูง
1
นอกจากนั้น ความที่พระองค์ทรงโปรดการละคร ทำให้ทหารและขุนนางหลายคนเหน็บพระองค์ว่าทรงหมกมุ่นอยู่แต่กับการละคร ไม่บริหารบ้านเมือง ทำให้ในสมัยรัชกาลที่ 7 กลุ่มคนที่ไม่พอใจอยู่ก่อนแล้ว จึงเริ่มคิดถึงการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครอง
1
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)
2.การที่สามัญชนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ และมีความรู้มากขึ้น
แต่เดิมนั้น การเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ที่ไปศึกษายังต่างประเทศ ก็จำกัดแวดวงในหมู่พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 รวมทั้งสามัญชนบางส่วนเท่านั้น หากแต่ในเวลาต่อมา สามัญชนจำนวนมากก็สามารถเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
ทั้งหลวงพิบูลสงคราม, ปรีดี พนมยงค์ และร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ล้วนแต่เป็นนักเรียนนอก ที่ได้เดินทางไปศึกษายังยุโรป
นอกเหนือจากความรู้ในวิชาที่เรียนแล้ว พวกเขายังได้รับแนวคิดเรื่องระบบการปกครองแบบต่างๆ รวมทั้งเห็นถึงความแตกต่างระหว่างสยามและประเทศในยุโรปที่เจริญแล้ว ทำให้นักเรียนนอกเหล่านี้ คิดว่าถึงเวลาที่ควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
1
ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี
3.ความไม่พอใจระบบอภิรัฐมนตรีสภา
สมาชิกในอภิรัฐมนตรีสภา ล้วนแต่เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ คนดีมีความสามารถต่างไม่สามารถก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่สำคัญได้ ทำให้กลุ่มเจ้าและขุนนาง รวมทั้งบัณฑิตนักเรียนนอก เกิดความขัดแย้งกันขึ้น
เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475
ตอนต่อไป ผมจะมาเล่าถึงวันที่ลงมือ และเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ผลเป็นอย่างไร
รออ่านได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา