1 พ.ย. 2020 เวลา 09:21 • ปรัชญา
๕๔. จากสมุดอนุทิน
งานศิลปะเท่าที่ตาเห็น หูได้ยินนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนงานที่สัมผัสด้วยความรู้สึกเป็นการเห็นทางใจ ยินทางใจ จึงจะเป็นงานชั้นสูง ไม่ใช่วาดรูปหรือเขียนภาพ แต่สื่อความรู้สึกทางใจ
ถ้าความรู้สึกนั้นแฟนซีก็จะออกมาอย่างหนึ่ง หากความรู้สึกนั้นจริงใจ สัตย์ซื่อและมีรากฐานจากชีวิตที่มีหัวใจ (ไม่กะล่อน ไม่ฉาบฉวย) มีมาโนช (มโน+โอชะ=ความรัก) รสแห่งใจที่สัตย์ซื่อนั่นเองคือศิลปะ
จินตนาการแห่งความงามคืออย่างไร มีเด็กที่จิตใจอ่อนโยนและรู้จักนึกคิดในทางสร้างสรค์ ประดิษฐ์คิดค้น หรือรู้จักใช้พู่กันระบายสี ใฝ่ฝันถึงสิ่งดีงาม รู้สึกรักเคารพต่อสิ่งสูง เชื่อและอ่อนโยนยิ่งต่อความรักของบิดา มารดา และต่อดอกไม้ สัตว์เลี้ยง ทั้งไม่ก้าวร้าวข่มขี่ผู้ใดคือความซาบซึ้ง คือความละมุนละม่อม
๗ พ.ค.๒๕๓๐
จิตรกรรมฝาผนังของไทยนั้น ในการใช้สี สีก็ยังรักษาลักษณะสัญลักษณ์ กล่าวคือเป็นการแทนที่ (ติ๊งต่าง) มากกว่าเป็นการแสดงออกตรง ๆ เช่นส่วนที่เป็นแสง (รอบพระเศียรพระพุทธรูปหรือเทวดา) แทนที่จะใช้สีอ่อนผสมกับพื้นให้เกิดแสงและเงาตามทางตะวันตก (โดยเฉพาะ Renaissance) กลับใช้สีแดงล้อมกรอบ แทนแสงสว่างในความหมายว่า แดงสว่าง ความสว่างแทนด้วยแดงจ้า
หรือในกรณีเครื่องทรงกษัตริย์อันงดงามก็ใช้สีหลายสีกล้อมแกล้มกันเป็นลวดลายต่าง ๆ สีหลากหลายแทนความงามมั่งคั่งอลังการ ท่าทาง (Posture) ของละครก็แทนเข้ามา ท่ากรีดน้ำตาแทนความโศกเศร้ารันทด หลังคาปราสาทซึ่งระยิบระยับสะท้อนแสงแดดและหลาย ๆ ยอดก็เขียนสีสลับกล้อมแกล้มกันมาดูเป็นพุ่มพวงดวงดอกมากมาย
งานเขียนไทยจึงเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกต่าง ๆ นานา ผู้ดูผู้รู้จักสัญลักษณ์ร่วมสมัยเท่านั้นจึงจะดูสนุกและได้รับรส
งานศิลปกรรมของไทยพอแบ่งหัวข้อพิจารณาได้ดังนี้
๑. Theme ส่วนใหญ่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พุทธประวัติ ชาดก ปริศนาธรรม พุทธรูปปางต่าง ๆ ส่วนที่เกี่ยวโดยอ้อมก็เช่น โองการแช่งน้ำ บทมนตร์ต่าง ๆ ที่รับอิทธิพลจากพราหมณ์
๒. วิธีการนำเสนอ (Approach หรือ Method)
ในข้อ ๑. นั้น แม้จะเล่าพุทธประวัติ ชาดก ชีวิตในชาติก่อน ๆ ของพระพุทธเจ้าก็จริง แต่มุ่งแสดงบารมีเพื่อการตรัสรู้ ดังนั้น ในข้อ ๑. นี้พอกล่าวได้ว่าเป็นการมุ่งแสดงเรื่องราวของชีวิต ว่าชีวิตที่ดีนั้นคืออย่างไร (ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับชีวิตที่ประเสริฐที่สุด) รวมความว่า ในข้อ ๑. Theme นั้นว่าด้วยชีวิตและการหลุดพ้น
ในข้อ ๒. วิธีการนำเสนอซึ่งคลุกเคล้าระหว่างความจริงและมโนคติ (Idiation) จึงปนเประหว่างเล่าโดยตรงและเป็นสัญลักษณ์
เช่นพุทธประวัติหรือชาดกที่เล่าโดยตรง (Historical) ไม่มีอภินิหาร เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ มีชื่อ สถานที่ วันเวลา บุคคลอื่นตามเป็นจริง ครั้นบางส่วนก็ผสมผสานเข้ากับสัญลักษณ์ ซึ่งต้องตีความหรือเข้าใจศิลปะของการใช้สัญลักษณ์เข้าประกอบจึงจะได้เนื้อหาสอดรับกัน
ทั้งที่จริงและที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยพลังจินตนาโดยใช้สัญลักษณ์ คลุกเคล้ากลมกลืนกันจนเป็นสัญลักษณ์พุทธ โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์คุปตะ รู้ได้จากทรวดทรงพระพุทธรูปนั้นเป็นจริง
ด้าน Scale ส่วนใหญ่เท่าคนจริง แต่ก็แฝงสัญลักษณ์ของมโนคติไว้ทุก ๆ ตอน
เช่น ในทรวดทรงสัดส่วนของร่างมนุษย์ที่ทำให้สลวยอ่อนและง่าย ราวกับใช้รูปลักษณ์ภายนอกอธิบายน้ำใจของพุทธอันง่ายดาย (Simple) สะอาด (Serene) บริสุทธิ์ (Pure) ไปในตัว
และนี้เองคือเนื้อหาของ ศิลปะความเชื่อมโยงระหว่างมโนคติกับรูปทรงธรรมชาติ
๑๗ มิ.ย.๒๕๓๐
ภาพ: Ted Mayor ( เวสสันดรชาดก ตอนพระโพธิสัตว์พร้อมทั้งชายาและพระราชบุตรพระราชธิดาเสด็จสู่ป่า พราหมณ์ทูลขอราชรถ, จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ วัดคูเต่า ฝีมือช่างชาวบ้าน) จากหนังสือทะเลสาบสงขลา
ในทางวิปัสสนานั้น มนุษย์ผู้ได้บรรลุถึงความเป็นมนุษย์แท้-นรชน ใช่ว่ามนุษย์จะเพียงได้ลุถึงความเป็นเทพ
ทางแห่งการเข้าถึงเทพไม่ใช่ของพุทธ แต่ทางของพุทธคือทางของคนธรรมดา ผู้รู้สึกได้ เจริญวิปัสสนาจนเห็นความเป็นคนและลุถึงความเป็นเลิศอันอยู่ในคน นั่นคือเห็นความเป็นธรรม
เข้าถึงความเป็นนรชนแท้นั้นต่างจากเข้าถึงความเป็นเทพหรือเซียน เข้าถึงความเป็นคน จิตใจก็สงบไม่วุ่นวายไปด้วยสุขอย่างผู้เข้าถึงเทพ หรือวุ่นวายไปด้วยความเดือดร้อนใจอย่างผู้เข้าถึงอบาย
จากคนสู่คนแท้ จากรากฐานของอารมณ์เยี่ยงคนสามัญ ผู้รัก-เกลียด และสุข-ทุกข์ คลุกเคล้ากันไปเกิดวิปัสสนาขึ้น
เห็น-รู้-เข้าใจ ต่อความเป็นไปต่าง ๆ ของความเป็นคนว่าทุกข์เช่นไร จำยอมเช่นไร ไร้อำนาจแท้จริงเช่นไร โกหกมดเท็จเช่นไร ถือดี ยโส โอหัง โง่ หยิ่ง และเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นไร ก็คลายความยึดถือในตัวตน ในโอหัง แล้วลุถึงความเป็นนรชน
คนจริงไม่ใช่คนครึ่งผี ครึ่งคนครึ่งเทวดา (อยากให้คนอื่นเคารพ ติดตัวตนที่ดี บูชาตัวตนที่ดี เคารพผู้ดีกว่าตนตามตนเปรียบเทียบได้) แต่กลายเป็น คนเต็มคน
คนเต็ม ไม่ใช่พร่องหรือเกินจากความเป็นคน
๑๒ ก.ค.๒๕๓๐
จากหนังสือ : อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทยที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา