Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ออมให้เงินโต แบบเข้าใจง่ายๆ
•
ติดตาม
7 พ.ย. 2020 เวลา 01:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP25
“รู้จักและเลือกกองทุนผสม”
สวัสดีครับ ตอนนี้กองทุนตราสารหนี้เราเลือกเป็นแล้ว กองทุนหุ้นเราก็เลือกเป็นแล้ว ดังนั้นได้เวลาไปรู้จักกองทุนผสมกันแล้ว
(ถาม) ทำไมถึงรู้แค่กองตราสารหนี้ กับ กองหุ้นแล้วมากองผสมได้อะครับ มันไม่มีผสมอย่างอื่นเหรอ
(ตอบ) อาจจะมีผสมอย่างอื่นบ้าง แต่น้อยครับ หลักๆก็ผสมแค่ตราสารหนี้ กับ หุ้นนี่แหละ แต่ 2-3 ปีหลังๆมานี่เห็นมีอสังหาริมทรัพย์มาผสมด้วย ซึ่งเราอาจจะมองว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นหุ้นตัวนึงไปเลยก็ได้ครับ
และเนื่องจากเป็นส่วนผสมของหุ้นและตราสารหนี้ ความเสี่ยงของกองทุนผสมก็จะอยู่ระหว่างกองหุ้น (เสี่ยงระดับ 6) และ กองตราสารหนี้ (เสี่ยงระดับ 4) นั่นคือกองผสมจะมีระดับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 5 นั่นเอง
เว็บคัดเลือกกองทุนเรียกชื่อกองทุนผสม ในภาคภาษาอังกฤษค่อนข้างหลากหลาย เช่น Mixed Fund, Balanced Fund, Allocated Fund หรือแม้แต่ Multi-Asset Fund ก็เคยเห็น ซึ่งจริงๆแล้ว บางคำมีความหมายเจาะจงลงไปอีก เช่น Multi-Asset Fund มักใช้เรียกกองทุนผสมที่ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย มากกว่าแค่ตราสารหนี้ และ หุ้น
ส่วน Balanced Fund ก็มีความหมายเจาะจงเช่นกัน และ เป็นเรื่องที่เราจะคุยกันต่อไปนี้แหละ
นั่นคือ กองทุนผสม แบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ (แอ่ๆๆๆๆ เสียงเอ็คโค่)
1. กองทุนผสมแบบคงที่ (Balanced Fund)
2. กองทุนผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible Fund / Flexible Portfolio Fund)
มาดูกันทีละอันนะครับ
กองทุนผสมแบบคงที่ (Balanced Fund)
ว่ากันตามตำรา กองทุนนี้จะลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 35-65% ขึ้นอยู่กับว่าทางกองทุนมองว่าตอนนั้นควรลงทุนในหุ้นแค่ไหน สัดส่วนที่เหลือก็จะลงทุนในตราสารหนี้
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ กองทุนจะวางนโยบายไว้แล้วว่า จะลงหุ้นเป็นสัดส่วนเท่านี้ (ซึ่งมักจะไม่บอกในเอกสาร แต่มีวิธีดู) และปรับสัดส่วนได้บ้างนิดหน่อย เช่น กองทุนผสมคงที่ A มีนโยบายลงทุนในหุ้น 50% ซึ่งในสถานการณ์จริงก็อาจจะปรับได้ +/-10%
กองทุนประเภทนี้มีข้อดี-ข้อเสียคล้ายๆกับ กองหุ้นแบบ Passive คือ ไม่ต้องพึ่งพาความสามารถของผู้จัดการกองทุน ในการจับจังหวะตลาดว่าช่วงนี้ควรลงหุ้นเยอะหรือน้อย เรียกว่าไม่ต้องคิดเยอะลงทุนเป็นสัดส่วนตามนโยบายไปก็พอ
กองทุนผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible Fund / Flexible Portfolio Fund)
ว่ากันตามตำรา (อีกแล้ว) กองทุนนี้สามารถลงทุนในหุ้นได้ตั้งแต่ 0-100% เลยทีเดียว โดยถ้าไม่ลงในหุ้น 100% ที่เหลือก็จะเป็นตราสารหนี้
แต่ทว่าในทางปฏิบัติ ส่วนมากก็จะเหมือนกองผสมคงที่ ก็คือเขาจะมีนโยบายที่กำหนดตัวเลขมาแล้วล่ะ ว่าจะลงในหุ้นเท่าไหร่ แต่อาจจะปรับสัดส่วนได้เยอะกว่า เช่น กองทุนผสมยืดหยุ่น B มีนโยบายลงทุนในหุ้น 60% และอาจจะปรับได้ +/-20% ประมาณนี้ ซึ่งกองกลุ่มที่ลงหุ้นเป็นสัดส่วนสูงๆ ผลตอบแทนแทบไม่ต่างจากกองหุ้นเลยนะ เดี๋ยวจะได้เห็นกัน
ปัญหาของกองทุนผสมทั้งแบบคงที่และแบบยืดหยุ่นก็คือ ส่วนใหญ่แล้วเอกสารกองทุนมักจะไม่ค่อยบอกว่ากองทุนนี้นั้นมีสัดส่วนการลงทุนเท่าไหร่
แล้วมันเป็นปัญหายังไง?
จาก EP ที่ผ่านๆมา ถ้าเราอยากซื้อกองทุน แน่นอนว่าเราก็ต้องเอากองทุนมาเปรียบเทียบกันเนาะ แต่ในกรณีกองผสมเนี่ย ถ้ากองที่เราเอามาเปรียบเทียบนั้นมีสัดส่วนการลงทุนไม่เหมือนกันล่ะ จะเป็นยังไง?
(ตอบ) กองที่มีสัดส่วนหุ้นเยอะกว่า ตอนหุ้นขึ้น ผลตอบแทนก็จะดีกว่า และ ถ้าเกิดหุ้นตก ผลตอบแทนก็จะแย่กว่า
ซึ่งทำให้การเปรียบกองทุนมันทำไม่ได้ เหมือนเราเอาจักรยานไปแข่งกับรถยนต์ มันคนละเรื่องกันเลย แข่งกันไม่ได้
แล้วเราควรทำไงดี?
ก่อนอื่นไปดูกันก่อนว่า เราจะดูยังไงว่ากองไหน “ผสมคงที่” กองไหน “ผสมยืดหยุ่น”
คราวนี้เปลี่ยนแนวไปทำกันที่เว็บ Wealthmagik นะครับ เพราะ Morningstar ทำไม่ได้
ที่หน้าแรกเว็บ Wealthmagik ให้เราคลิกที่โลโก้ของเว็บ
จากนั้นเลื่อนลงมากลางๆ เราจะเห็น WealthMagik Top5 ให้คลิกที่ รายละเอียดทั้งหมด อยู่ด้านขวาล่าง
เราจะสามารถเลือกประเภทกองทุนผสม และ กองทุนผสมยืดหยุ่นได้ ในที่นี้เลือกกองทุนผสมเฉยๆนะครับ ซึ่งก็คือกองทุนผสมคงที่นั่นเอง
คลิกแท็ปผลตอบแทนระยะยาว แล้ว คลิกที่หัวคอลัมภ์ 10 ปี เพื่อให้เรียงผลตอบแทน 10 ปีจากมากไปน้อย หน่วยของผลตอบแทนเหมือนกับเว็บ Morningstar คือ % ต่อปีทบต้น
เสร็จแล้วครับ เราก็จะได้รายชื่อกองทุนผสมคงที่ เรียงตามผลตอบแทน 10 ปี วิธีนี้มีข้อควรระวังคือจะมีกองทุนที่จ่ายปันผลปนมาด้วยนะครับ คือเว็บ Wealthmagik เราไม่สามารถกรองเอามาเฉพาะกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล
จากนั้น ถ้าเราต้องการจะเปรียบเทียบกองทุนผสมคงที่ เราต้องเข้าไปดู Fund Fact Sheet ทีละกองทุนครับ
ใช่ครับ ฟังไม่ผิดหรอก ต้องไล่ดูทีละกองว่ามีสัดส่วนการลงทุนเป็นแบบไหน จากนั้นค่อยเอากองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบกัน
จากหน้านี้คลิกที่ชื่อกองทุนได้เลยครับ เว็บจะพาไปที่หน้ากราฟ NAV ที่เราไปดูกันบ่อยๆน่าจะคุ้นเคยกันดีแล้วเนาะ
จากรูปผมเลือกกองแรกสุด UOBSMG ละกัน เลื่อนลงมาใต้กราฟ ดูนโยบายจ่ายปันผลซะก่อน แล้วค่อยคลิกดู Fund Fact Sheet
ใน Fund Fact Sheet หลักๆให้ดูสัดส่วนการลงทุนก่อนเลย ถ้าเจอว่าลงทุนในหุ้นเกิน 65% แบบในรูป แปลว่ากองนี้มันคือกองผสมยืดหยุ่นหลุดมานะครับ (อ่าว เฮ้ย) ซึ่งการหลุดตัวกรองนี้ก็เป็นเรื่องปกติครับ ต้องคอยดูดีๆ
กลับไปดูกองที่อยู่อันดับ 2 กอง ABV เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา ตัดภาพไปที่ Fund Fact Sheet ของกอง ABV จะเห็นว่าลงทุนในหุ้นที่ 33%
จากนั้นไปดูว่าดัชนีชี้วัดเป็นอะไร ตามรูปดัชนีชี้วัดคิดจากหุ้น 35% และที่เหลือเป็นตราสารหนี้ (พันธบัตร 29.25% บวกกับ พันธบัตรระยะสั้น 29.25% บวกกับหุ้นกู้ 6.5%)
จากข้อมูลที่ได้ เราก็พอจะบอกได้ว่ากองทุนนี้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ 35% และ ตราสารหนี้ 65% แถวๆนี้ ก็ให้เราจดบันทึกไว้ แล้วไล่ดูกองอื่นๆต่อไป
ซึ่งการเลือกกองผสมเนี่ย เราต้องมีธงไว้ในใจก่อนว่าเราต้องการสัดส่วนลงทุนแบบไหน ก็ให้หากองที่มีสัดส่วนการลงทุนที่เราต้องการสัก 3-4 กอง แล้วค่อยเอามาเปรียบเทียบโดยส่วนที่ลงทุนในหุ้นก็เปรียบเทียบเหมือนกองหุ้น ส่วนที่ลงตราสารหนี้ก็เปรียบเทียบเหมือนที่กองตราสารหนี้ที่ทำกันมาแล้ว
แนวทางในการเลือกกองทุนผสมว่าควรจะเลือกสัดส่วนประมาณไหน ก็ตามนี้เลย
1. ในกรณีที่เรารับความเสี่ยงได้กลางๆ ควรเลือกสัดส่วนลงทุนในหุ้นระหว่าง 50-70%
2. ในกรณีที่เรารับความเสี่ยงได้น้อย ควรเลือกสัดส่วนลงทุนในหุ้นระหว่าง 30-50%
3. ในกรณีที่รับความเสี่ยงได้มากก็ไปกองหุ้นเลยครับ
ในส่วนของกองทุนผสมแบบยืดหยุ่นก็ใช้วิธีดูแบบเดียวกัน สังเกตว่ากองที่ให้ผลตอบแทนมากสุด 2 อันดับแรก ผลตอบแทนแทบไม่ต่างกับกองหุ้นเลยเนาะ และทิ้งห่างอันกับ 3 พอสมควร เรียกว่ากระโดดออกมาเลย
ก็น่าจะเดากันไม่ยากว่า 2 กองแรกนี่คงลงทุนแบบกองหุ้นแน่ๆ เพราะกองผสมยืดหยุ่นสามารถลงทุนในหุ้นตั้งแต่ 0-100%
ข้อดีของกองผสม
1. ไม่ต้องวุ่นวายซื้อหลายกองเพื่อกระจายความเสี่ยงระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้
2. ง่ายในการมองภาพรวม เพราะดูแค่กองเดียวจบ
3. กองทุนมีการปรับสัดส่วนการลงทุนให้โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร อย่างที่บอกว่ากองทุนจะมีสัดส่วนการลงทุนอยู่แล้ว แต่สามารถปรับสัดส่วนได้บ้าง
ข้อเสียของกองผสม
1. วุ่นวายตอนเลือกกองทุนพอสมควร อย่างที่เห็นกันแล้ว
2. อาจจะไม่เจอกองที่ลงทุนแบบที่เราต้องการเป๊ะๆ เช่น อยากได้กองผสมที่ลงหุ้นแบบ Passive และ ลงตราสารหนี้ภาครัฐล้วนๆ แบบนี้อาจจะไม่มีก็ได้นะครับ
3. อาจจะไม่เจอกองที่มีสัดส่วนแบบที่เราต้องการ เช่น เราอยากได้กองที่ลงหุ้น 20% ตราสารหนี้ 80% ซึ่งตอนเลือกนอกจากจะใช้เวลานานแล้ว ยังอาจจะไม่เจออีกตะหาก
4. ในกรณีกองผสมยืดหยุ่นที่ลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนสูงๆ ความเสี่ยงแทบไม่ต่างจากกองทุนหุ้น
สรุป
ในการลงทุนระยะยาวนั้น ถ้าเราอายุยังน้อยสามารถลงทุนได้ยาวๆ แนะนำให้ลงกองทุนหุ้นแท้ๆไปเลยจะดีกว่า
อย่างไรก็ตามในกรณีที่เราเหลือระยะเวลาลงทุนระหว่าง 5-10 ปี กองทุนผสมก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ต้องดูสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมด้วยนะครับ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
https://bit.ly/3mBhhio
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
https://www.facebook.com/EzyFinPlan
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก >
https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD
คลิก >
https://s.lazada.co.th/s.ZRnKa
2 บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย