10 พ.ย. 2020 เวลา 05:04 • ประวัติศาสตร์
สรุป “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)”
3
ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนเรื่องราวของ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)” เป็นซีรีส์ไปแล้ว
แต่โพสต์นี้จะเป็นการสรุปอย่างสั้นๆ ให้เข้าใจในบทความเดียว ซึ่งหากใครอยากอ่านรายละเอียดแบบเต็มๆ ก็สามารถหาอ่านได้ในซีรีส์ของผมนะครับ
“ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)” คือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) และกินเวลาต่อเนื่องนานนับสิบปี
วิกฤตินี้ทำให้คนทั่วโลกตกงาน ยากจน และหมดตัว
ช่วงทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นยุคที่เรียกว่า “Roaring Twenties” หรือยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) ซึ่งเป็นยุคที่เรียกได้ว่าสุดเหวี่ยง วัฒนธรรม ความบันเทิงต่างๆ เฟื่องฟู
ยุคนี้ เป็นช่วงเวลาที่ชาวอเมริกัน ได้รับการเยียวยาและกลับมาคึกคัก หลังจากที่โลกต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1
ในเวลาเดียวกัน อุตสาหกรรมต่างๆ ก็เฟื่องฟู มีการผลิตสินค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ วิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ หากแต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีเงินสดพอที่จะซื้อ คนส่วนใหญ่จึงต้องไปกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ซื้อสินค้า
โรงงานในยุค 20
คนส่วนมากก็ซื้อหุ้นมาเก็บไว้ และภายในเวลาไม่กี่ปี ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้คนตื่นเต้น และนำเงินมาลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) ราคาหุ้นก็เริ่มตก ก่อนจะร่วงไม่เป็นท่าในอีกหนึ่งเดือนต่อมา
1
เหตุการณ์ “วันอังคารทมิฬ (Black Tuesday)” ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) เป็นเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นสหรัฐทิ้งดิ่งอย่างหนัก สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว
วันอังคารทมิฬ (Black Tuesday)
ภายหลังจากเหตุการณ์นี้ หุ้นที่หลายคนกว้านซื้อก็แทบจะไม่มีราคา ไร้ค่าในทันที
ชาวอเมริกันหลายคนหมดตัว สูญเสียเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต แม้แต่ธนาคารเองก็ล้ม เนื่องจากลูกหนี้ต่างก็ไม่มีเงินมาจ่ายเงินที่กู้ยืมไป
บริษัทและโรงงานหลายแห่งก็ต้องเลิกกิจการ เนื่องจากผู้คนไม่มีเงินมาซื้อสินค้า หลายๆ บริษัทต้องปลดคนงาน คนที่ยังมีงานทำก็ถูกลดค่าแรง
ภายในปีค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ชาวอเมริกันประมาณ 13 ล้านคนตกงาน คิดเป็น 25% ของคนงานทั้งประเทศ
คนตกงานและหางานทำในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ
ในเวลานั้น รัฐบาลยังไม่มีระบบในการช่วยเหลือคนยากจน ทำให้ชีวิตของคนที่ตกงานนั้นลำบากมาก ต้องกินอาหารตามโรงทาน
วิกฤตินี้ไม่ได้เกิดแค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ยังลามไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ชาติยุโรปหลายชาติที่ทำการค้ากับสหรัฐอเมริกา ได้พยายามปกป้องเศรษฐกิจของตนโดยการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้า ทำให้สินค้าจากต่างประเทศมีราคาแพงมากขึ้น กระตุ้นให้ประชาชนใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ
ในปีค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ประธานาธิบดี “แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)” จากพรรคเดโมแครต ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)
รูสเวลต์ได้ออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกัน เรียกว่า “ความหวังใหม่ (New Deal)” และรัฐบาลก็เริ่มจะหาตำแหน่งงานให้ประชาชนในประเทศ
จุดจบของวิกฤตนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้น
หลายประเทศในยุโรปเริ่มมีการเปลี่ยนตัวผู้นำ โดยที่เยอรมนี ผู้คนจำนวนมากสนับสนุน “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” และพรรคนาซี (Nazi)
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
ผู้นำและพรรคการเมืองใหม่ในประเทศต่างๆ ได้สัญญาว่าจะทำให้คนมีงานทำ และขยายตำแหน่งงานใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านการผลิตอาวุธ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของสงครามโลก
ภายหลังการโจมตี “เพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbour)” ในปีค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) สหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นอันสิ้นสุดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้
โฆษณา