10 พ.ย. 2020 เวลา 10:20 • ประวัติศาสตร์
การเหยียดเชื้อชาติ (Racism)
“เชื้อชาติ (Race)” เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงเผ่าพันธุ์และที่มาของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
แต่ละเชื้อชาติอาจจะมีความต่างกันในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสีผิว หน้าตา หรือนิสัยใจคอ
แต่บนโลกนี้ก็มีคนจำนวนมากที่เหยียดเชื้อชาติ เหยียดผิว คิดว่าเผ่าพันธุ์ของตนนั้นดีที่สุด
การเหยียดเชื้อชาตินี้มีอยู่เกือบทุกประเทศ มากบ้าง น้อยบ้าง สุดแล้วแต่ละประเทศ และในประวัติศาสตร์ การเหยียดเชื้อชาติก็มีมาเป็นเวลานานนับพันปี ทำให้เกิดทาส รวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกด้วย
ในยุคกรีซและโรมันโบราณ เชลยฝ่ายศัตรูจะถูกบังคับให้เป็นทาส ในสมัยอียิปต์โบราณ แรงงานที่ใช้ในการสร้างปีระมิด ก็ล้วนแต่เป็นทาส
เมื่อยุคสมัยแห่งการสำรวจได้เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 15 ชาติในยุโรปที่ค้นพบดินแดนใหม่ เช่น อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส ก็ได้พยายามที่จะสอนสิ่งต่างๆ แก่ชนพื้นเมืองที่พบในดินแดนใหม่ เนื่องจากชาวยุโรปเหล่านี้ มองว่าชนพื้นเมืองเป็นพวกป่าเถื่อน ไม่มีอารยธรรม
ที่สหรัฐอเมริกา คนผิวดำนั้นถูกบังคับให้เป็นทาส และเป็นทาสมาตลอดเวลานับร้อยปี
ทาสผิวดำต้องทำงานในไร่ฝ้ายโดยไม่มีค่าจ้าง สภาพความเป็นอยู่ก็แย่มาก และถึงแม้พวกเขาจะเป็นอิสระในเวลาต่อมา หากแต่ความเท่าเทียมสำหรับพวกเขาก็ยังคงห่างไกล ได้เกิดกลุ่มเหยียดผิวอย่างรุนแรง เช่น “คูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan)”
แรงงานทาสในไร่
คูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan)
ที่ออสเตรเลีย เป้าแห่งการเหยียดได้พุ่งไปที่ชาวอบอริจิน (Aborigine) โดยในต้นศตวรรษที่ 20 ลูกหลานที่เกิดมาในครอบครัวอบอริจิน จะถูกพรากจากพ่อแม่ และถูกนำไปเลี้ยงดูในสังคมของคนผิวขาว
ที่โหดร้ายที่สุดคงเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนาซีเยอรมันได้ฆ่าชาวยิวกว่าหกล้านคน
ส่วนที่แอฟริกาใต้ รัฐบาลก็ได้มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน คนผิวขาว คนผิวดำ คนเอเชีย จะแยกกันอยู่ อยู่พื้นที่คนละส่วน โบสถ์ โรงเรียน ก็ยังแยก
การแบ่งแยกในแอฟริกาใต้ได้หมดไป เมื่อ “เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)” ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในยุค 90 (พ.ศ.2533-2542)
เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)
ถึงแม้ว่าในทุกวันนี้ การเหยียดเชื้อชาติอาจจะไม่ได้รุนแรงเหมือนสมัยก่อน หากแต่ก็ยังคงอยู่
พรรคการเมืองในยุโรปหลายๆ ประเทศก็ได้พยายามจะยุให้คนเกลียดชาวต่างชาติ และกีดกันคนต่างชาติ
ที่สหรัฐอเมริกา ถึงแม้จะเลิกทาสมานับร้อยปีแล้ว แต่การเหยียดผิว และเหยียดเชื้อชาติก็ยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไป 100%
สำหรับประเทศไทย การเหยียดอาจจะไม่ได้รุนแรงเท่าต่างประเทศ แต่จะบอกว่าไม่มีเลย ก็คงไม่ใช่
คงเป็นการยากที่จะทำให้การเหยียดบนโลกนี้หายไป
โฆษณา