11 พ.ย. 2020 เวลา 07:15 • ประวัติศาสตร์
“ไททานิค (Titanic)” เรือที่โลกไม่มีวันลืม
“ไททานิค (Titanic)” เป็นเรือที่ได้สร้างโศกนาฏกรรม อับปางกลางทะเล คร่าชีวิตคนนับพันและเป็นข่าวดังไปทั่วโลก
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) และจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 100 ปี หากแต่เหตุการณ์นี้ก็ยังคงเป็นที่จดจำ และไม่มีใครลืมเหตุการณ์นี้ลง
ผมเคยเขียนเรื่องราวของเรือนี้เป็นซีรีส์มาแล้ว หากแต่ผมจะเล่าเรื่องราวของเรือลำนี้อีกครั้ง เป็นการสรุปอย่างย่อๆ ในบทความเดียว
1
“ไททานิค (Titanic)” เป็นเรือโดยสารที่สร้างโดยบริษัท “ไวท์สตาร์ไลน์ (White Star Line)” โดยบริษัทมีความต้องการจะให้ Titanic เป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ มีความหรูหรา
ไททานิคระหว่างการก่อสร้าง
ไททานิค ได้ถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่โตที่สุดในบรรดาเรือลำอื่นๆ ของบริษัท โดยมีความยาวถึง 268 เมตร กว้าง 28 เมตร และหนักกว่า 45,000 ตัน
สำหรับความเร็วของเรือนั้น สามารถเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โครงสร้างภายในเรือจะถูกแบ่งออกเป็นตอนๆ และแต่ละตอน จะมีประตูเหล็กกั้น หากมีน้ำเข้ามาในตัวเรือ ประตูเหล็กจะทำหน้าที่กั้นน้ำ และถึงแม้จะมีน้ำเข้ามาได้ แต่หากเข้ามาเพียงสามถึงสี่ส่วน จากทั้งหมด 16 ส่วน เรือก็ยังคงไปต่อได้
งบประมาณในการสร้างไททานิคนั้น หากตีตามค่าเงินปัจจุบัน จะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 12,000 ล้านบาท) และถูกตกแต่งอย่างหรูหราอลังการ
ไททานิคสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 2,600 คน ลูกเรืออีก 900 คน
วันที่ 10 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) ผู้โดยสารกว่า 2,200 คนได้ขึ้นเรือไททานิค ซึ่งกำลังจะออกจากเซาท์แทมตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ผู้โดยสารหลายรายเป็นผู้อพยพที่เก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อที่จะขึ้นเรือไททานิค มุ่งไปสู่ชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกา
สำหรับราคาค่าตั๋วนั้น หากเป็นชั้นหนึ่ง ตั๋วจะมีราคาแพงมาก หากคิดตามค่าเงินปัจจุบัน ก็หลักแสนถึงหลักล้านบาท แต่หากเป็นชั้นสาม ค่าตั๋วก็จะเพียงแค่หลักหมื่นบาทเท่านั้น
1
ไวท์สตาร์ไลน์ได้พยายามจะโฆษณาว่าไททานิคเป็น “เรือที่ไม่มีวันจม” หากแต่ก่อนการออกเดินทาง ปัญหาต่างๆ ก็ตามมาเป็นระลอก และบริษัทก็เลือกที่จะเพิกเฉย
กฎเรื่องความปลอดภัยก็ได้ถูกละเลย ไม่จริงจังเท่าที่ควร เรือชูชีพก็มีเพียง 16 ลำ สามารถจุคนได้เพียง 1,500 คน ตัวเรือเองก็ได้รับการทดสอบก่อนออกเดินทางจริงไม่กี่ชั่วโมง แถมยังไม่เคยลองทดสอบด้วยความเร็วสูงสุด ระบบการส่งโทรเลขบนเรือก็ยังใหม่ คนที่ใช้งานเป็นก็ยังมีไม่มากนัก
ห้องยิมบนไททานิค
ค่ำคืนวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) น้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกมีอุณหภูมิประมาณ -2 องศาเซลเซียส
ในช่วงเวลากลางวัน ไททานิคก็ได้รับข้อความทางวิทยุ เตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็งรอบๆ บริเวณนั้น หากแต่กัปตัน “เอ็ดเวิร์ด สมิท (Edward Smith)” ก็ไม่ได้ให้ความสนใจ เขามั่นใจว่าเรือลำนี้ไม่มีวันจม สิ่งที่เขาสนใจ คือการสร้างสถิติโลก คือการสร้างสถิติการเดินเรือที่เร็วที่สุดในโลก
ไททานิคจะต้องไปถึงนิวยอร์กได้เร็วกว่าที่คาดและสร้างสถิติใหม่
เอ็ดเวิร์ด สมิท (Edward Smith)
แต่ฝันของกัปตันสมิทก็ต้องสลาย เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นภูเขาน้ำแข็งข้างหน้า ทำให้มีการดับเครื่องยนต์ทั้งหมดลง หากแต่ก็ไม่ทัน
ด้านข้างของเรือกระแทกกับภูเขาน้ำแข็ง
น้ำเริ่มทะลักเข้ามาในตัวเรือ และลามไปเรื่อยๆ เข้ามามากถึงห้าส่วน
ภูเขาน้ำแข็งลูกที่เชื่อว่าไททานิคชนและอับปาง
ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกถึงความผิดปกติหรือแรงจากการชนกับภูเขาน้ำแข็ง หลายคนยังคงเต้นรำ เล่นไพ่ บางคนก็นอนหลับอยู่ในห้องพัก
หัวเรือค่อยๆ จมลงใต้ทะเล และท้ายเรือก็เริ่มลอยสูงขึ้น และเมื่อกัปตันสมิทรู้ว่าไททานิคจะจมแน่นอนแล้ว จึงได้ทำการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หากแต่เรือที่อยู่ใกล้ที่สุดก็ห่างออกไปกว่า 100 กิโลเมตร
เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ความโกลาหลได้เกิดขึ้นบนเรือ เด็กและสตรีได้รับอนุญาตให้ลงเรือชูชีพก่อน และเมื่อเวลาผ่านไป ระบบไฟฟ้าบนเรือก็หยุดทำงาน และในเวลาประมาณ 2.20 น. ไททานิคก็ได้แตกออกเป็นสองส่วนและจมสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก
1
“เรือคาร์เพเธีย (Carpathia)” ซึ่งเป็นเรือที่อยู่ใกล้ที่สุด ได้เดินทางมาถึงเรือชูชีพที่เต็มไปด้วยผู้รอดชีวิตจากไททานิค และทำการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต
เมื่อถึงเช้าวันต่อมา ข่าวโศกนาฏกรรมนี้ก็ดังไปทั่วโลก
ไททานิค เรือที่ได้ชื่อว่าเป็น “เรือที่ไม่มีวันจม” ได้อับปางลงตั้งแต่การเดินทางเที่ยวแรก และคร่าชีวิตคนไปราว 1,513 คน
โฆษณา