13 พ.ย. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
น้ำหวานนอกดอกจากพืช (Extrafloral nectaries)
ในธรรมชาตินั้นพืชที่เป็นผู้ผลิตจะถูกสัตว์กินพืช (Herbivores) กินเป็นอาหาร ถึงแม้ว่าพืชจะไม่สามารถหนีสัตว์กินพืชไปได้ แต่จริงๆ แล้วพืชก็มีกลยุทธ์ที่จะมาใช้ต่อสู้กับสัตว์กินพืชได้หลายวิธี
วิธีหนึ่งคือ การที่พืชหลั่งน้ำหวานที่เหมือนกับน้ำหวานในดอกไม้ออกมาทางอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่ใช่ดอก น้ำหวานนี้ถูกเรียกกันว่าน้ำหวานนอกดอก หรือ Extrafloral nectaries หรือ Extranupital nectaries โดยน้ำหวานเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผสมละอองเกสร (Pollination) ของดอกไม้อย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่ว่าจะมีประโยชน์ในด้านการป้องกันตัวของพืชแทน
ภาพดัดแปลงมาจาก By Superruss, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=16400045
น้ำหวานเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นมาที่ใบหรือก้านใบ ตามแนวของเส้นใบ หรืออาจจะเกิดที่อวัยวะอื่นของพืชก็ได้ขึ้นกับชนิดพันธุ์พืช น้ำหวานที่หลั่งออกมาเหล่านี้จะประกอบไปด้วยสารอาหารสำคัญที่สัตว์ต้องการ โดยส่วนประกอบหลักของน้ำหวานนี้คือ น้ำตาลทั้งซูโครส ฟรักโตส และกลูโคส นอกจากนั้นยังมีสารอื่นๆ ได้ เช่น กรดอะมิโนหรือกลิ่นบางอย่างที่ช่วยดึงดูดแมลงเข้าหาได้ด้วย
น้ำหวานที่ออกโคนใบของพืชในสกุลพรุน [Prunus african] (ที่มา By Superruss, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=16400045)
เมื่อพืชหลั่งน้ำหวานออกมาจากใบ ก็มักจะมีแมลงมากินน้ำหวานเหล่านี้ โดยน้ำหวานจะดึงดูดแมลงตัวห้ำหรือแมลงผู้ล่าเข้ามาที่บริเวณต่อมน้ำหวาน แมลงเหล่านี้ก็จะมากินทั้งน้ำหวานและแมลงกินพืชที่อยู่รอบๆ ต่อมน้ำหวาน โดยทำหน้าที่เหมือนบอดี้การ์ดคอยปกป้องพืชจากสัตว์กินพืชไปด้วย แมลงส่วนใหญ่ที่ถูกดึงดูดโดยน้ำหวานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นมด ซึ่งมีการสังเกตพบว่า น้ำหวานนอกดอกในพืชสกุลกะทกรกจะดึงดูดมดมาช่วยในการไล่ผีเสื้อที่จะมาวางไข่บนใบของกะทกรกได้
มดที่มากินน้ำหวานใต้ใบของใบอ่อนเฟิร์นชนิด [Drynaria quercifolia] (ที่มา By Obsidian Soul - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=15945699)
มดที่กำลังกินน้ำหวานจากพืชในสกุล [Senna] (ที่มา By Beatriz Moisset - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=77901628)
ในทางตรงกันข้าม พืชกินแมลงบางชนิดอาจจะสร้างน้ำหวานเหล่านี้มาเพื่อล่อแมลงมากินเป็นอาหารได้เช่นกัน
น้ำหวานนอกดอกถูกรายงานในพืชกว่า 3,000 ชนิด ได้แก่ กลุ่มของเฟิร์น พืชใบเลี้ยงคู่และพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แต่ไม่พบในพืชกลุ่มสนและพืชเมล็ดเปลือยอื่นๆ (Gymnosperm) โดยถ้าเราอยากเห็นน้ำหวานนอกดอกเหล่านี้ อาจจะต้องสังเกตใกล้ชิดในพืช เช่น ในวงศ์ยางพารา ชบา พืชในวงศ์พริกไทย หรือพืชวงศ์ถั่ว ที่สังเกตเห็นได้ง่าย เช่น บนใบของต้นกระถินจะเห็นมีน้ำหวานเหนียวๆ อยู่บนใบ
ตัวอย่างของพืชกินแมลง [Cephalotus follicularis] ที่มีน้ำหวานไว้ล่อแมลงให้ตกลงไปในใบที่เป็นกับดัก (ที่มา By H. Zell - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=56478465)
ถ้าชอบเรื่องมด ก็มีให้อ่านอีกหลายเรื่องเลยครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Marjorie G. Weber, Kathleen H. Keeler, The phylogenetic distribution of extrafloral nectaries in plants, Annals of Botany, Volume 111, Issue 6, June 2013, Pages 1251–1261, https://doi.org/10.1093/aob/mcs225

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา