27 พ.ย. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมพืชถึงกินแมลง?
พืชบางชนิดสามารถกินแมลงเป็นอาหารได้ พืชกินแมลงเหล่านี้พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในพืชกลุ่มต่างๆ ทำไมพืชเหล่านี้สามารถกินแมลงได้ และมีวิวัฒนาการมาอย่างไร และในประเทศไทยสามารถพบพืชชนิดใดได้บ้างในธรรมชาติ เราจะลองมาสำรวจดูกันครับ
พืชกินแมลงนั้นไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว แต่มีพืชดอกหลายกลุ่มที่มีวิวัฒนาการให้สามารถกินแมลงได้ โดยปัจจุบันมีการพบพืชกินแมลงแล้วกว่า 500 ชนิด พืชกินแมลงนั้นมีความหลากหลายในทางลักษณะ โดยปัจจัยสำคัญที่ขับดันให้เกิดวิวัฒนาการของพืชกินแมลงคือ พืชเหล่านี้จะต้องการสารอาหารที่ได้มาจากสัตว์ และโปรโตซัวที่ถูกพืชเหล่านั้นดักกิน
ซึ่งสัตว์ส่วนใหญ่ที่ถูกพืชเหล่านี้กินได้แก่ กลุ่มของแมลงและสัตว์ขาปล้องอื่นๆ (เช่น แมงมุม กิ้งกือ ตะขาบ) แต่พืชเหล่านี้ไม่ได้ต้องการพลังงานจากสัตว์ที่พวกมันกิน เนื่องจากพืชเหล่านี้จะได้รับพลังงานจากการสังเคราะห์ด้วยแสงเช่นเดียวกันกับพืชอื่นๆ
ดังนั้นเรามักจะพบพืชกินแมลงเหล่านี้อยู่ตามพื้นที่ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ในดินที่มีสารอาหารต่ำ ขาดสารอาหารเช่น ไนโตรเจน ทำให้พืชต้องการไนโตรเจนจากสัตว์ โดยตัวอย่างของพื้นที่เหล่านี้ เช่น พรุที่ดินมีความเป็นกรด
พืชกินแมลงอาจจะมีได้หลายลักษณะ เช่น
1. กับดักแบบหลุมพราง (Pitfall traps, pitcher) เป็นกับดักที่เกิดจากใบที่ม้วนงอจนมีรูปทรงคล้ายหม้อ ภายในบรรจุด้วยเอนไซม์ย่อยอาหารหรือแบคทีเรีย เมื่อมีแมลงตกลงไปจะถูกย่อยด้วยเอนไซม์หรือแบคทีเรียและพืชจะดูดสารอาหารเข้าไป บางชนิดอาจจะมีฝาปิดด้านบนเพื่อป้องกันน้ำฝนที่จะทำให้เอนไซม์เจือจางได้
พืชในกลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีคือ หม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่มีการแพร่กระจายในเขตร้อน ตั้งแต่มาดากัสการ์ อินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงออสเตรเลีย โดยในกลุ่มนี้มีพืชมากกว่า 160 ชนิด บางชนิดพบได้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย เช่น เขนงนายพราน [Nepenthes mirabilis] ที่พบได้ตามหนองน้ำในเขตร้อนชื้นในแทบทุกภาคของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขนงนายพราน [Nepenthes mirabilis] (ที่มา By apes_abroad - https://www.flickr.com/photos/apes_abroad/303512096/, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1737423)
2. กับดักแบบกระดาษเหนียว (Flypaper traps) โดยใบของพืชกลุ่มนี้จะมีวิวัฒนาการให้มีต่อมสร้างเมือกเหนียวบนใบ เป็นกับดักที่คอยดักแมลงและสามารถย่อยสลายแมลงและสัตว์อื่นๆ ที่มาติดและดูดซับให้กลายเป็นสารอาหารของพืชได้ เล่น พืชในสกุลหยาดน้ำค้าง [Drosera] บางชนิดสามารถโค้งมาจับสัตว์ที่มาติดกับกับดักได้ ในประเทศไทยพบพืชในสกุลนี้สามชนิด ได้แก่ จอกบ่วาย [Drosera burmannii], หญ้าน้ำค้าง [Drosera indica] และ หญ้าไฟตะกาด [Drosera peltata]
หญ้าไฟตะกาด [Drosera peltata] (ที่มา CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=759476)
3. กับดักแบบตะครุบ (Snap traps) เป็นกับดักแบบหุบเพราะสัมผัส โดยมีพืชสองชนิดที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ได้แก่ กาบหอยแครง [Dionaea muscipula] และ [Aldrovanda vesiculosa] โดยพืชทั้งสองมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกันที่เป็นพืชที่เป็นกับดักแบบกระดาษเหนียว โดย [Aldrovanda vesiculosa] เป็นพืชน้ำและจะจับสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังในน้ำเป็นอาหาร ส่วนกาบหอยแครงเป็นพืชบก และจะจับแมลง แมงมุมและสัตว์ขาปล้องอื่นๆ ที่อยู่บนบกเป็นอาหาร
กับดักของพืชกลุ่มนี้จะมีความไวต่อการสัมผัส เมื่อมีสัตว์ที่สัมผัสกับเส้นขนบนใบ ใบก็จะหุบเข้าหาส่วนของเส้นกลางใบคล้ายกับบานพับ เพื่อดักแมลงให้ติดอยู่ในใบ และถัาแมลงหนีออกมาไม่ได้ก็จะถูกย่อยดัวยเอนไซม์จากในใบ
กาบหอยแครงมีการแพร่กระจายจำกัดในเขตอบอุ่นในทางตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ส่วน [Aldrovanda vesiculosa] พบในยุโรป แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย และมีแนวโน้มที่จะลดลง
แมลงติดอยู่บนต้นกาบหอยแครง (ที่มา By Beatriz Moisset - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=83312055)
เอกสารอ้างอิง
1. Aaron M. Ellison, Nicholas J. Gotelli, Energetics and the evolution of carnivorous plants—Darwin's ‘most wonderful plants in the world’, Journal of Experimental Botany, Volume 60, Issue 1, January 2009, Pages 19–42, https://doi.org/10.1093/jxb/ern179

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา