4 ธ.ค. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มดแดงสร้างรังอย่างไร?
มดแดงเป็นมดชนิดที่สร้างรังอยู่บนต้นไม้ ทำรังโดยนำใบไม้มาเกาะกันคล้ายๆ กับลูกบอล แต่กระบวนการสร้างรังของมดแดงเป็นอย่างไร เส้นใยที่มดนำมาใช้สร้างมาจากไหน ลองมาอ่านดูครับ
มดแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Oecophylla smaragdina] จัดอยู่ในสกุล [Oecophylla] ซึ่งทั่วโลกมีมดในสกุลนี้ที่มีชีวิตอยู่สองชนิด คือ มดแดงที่เรารู้จักกันดี พบแพร่กระจายตั้งแต่อินเดีย เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย ไปจนถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย อีกชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Oecophylla longinoda] ซึ่งพบเฉพาะในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา
2
ขอบเขตการกระจายของมดแดง [Oecophylla smaragdina] (สีแดง) และ [Oecophylla longinoda] (ที่มา By Sean.hoyland - and [1], Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=15739214)
มดแดงมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Weaver ants หรือ Green ants ซึ่ง Weaver แปลได้ว่า ช่างทอผ้า ซึ่งแสดงพฤติกรรมการสร้างรังของมดชนิดนี้ว่าเหมือนการทอผ้า
มดแดงเป็นมดที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ โดยอาศัยการสร้างรังจากใบไม้บนต้นไม้นั้น โดยในตอนแรกของการสร้างรังนั้นกลุ่มมดงานจะสำรวจใบเพื่อสำหรับทำรัง หลังจากนั้นกลุ่มมดงานเหล่านี้จะใช้ขากรรไกรล่างดึงขอบใบและดัดงอใบลงบนตัวของมันเองหรือต่อขอบที่มีกับมดงานตัวอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยกลุ่มของมดที่ทำหน้าที่นั้นจะมีจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของรังถ้ารังขนาดใหญ่ก็อาจจะมีมดงานมาช่วยเป็นจำนวนมาก
ถ้าระยะห่างระหว่างสองใบห่างเกินระยะที่มดจะทำการสร้างแบบตัวเดียวเดี่ยว ๆ มดงานอาจจะทำการเกาะเกี่ยวกับมดงานตัวอื่นๆ ที่ช่วงเอวหรือช่วงท้อง สร้างเป็นสายโซ่ของมดเพื่อดึงใบไม้ที่ห่างกันเข้ามาไว้ด้วยกัน เมื่อขอบใบถูกดึงเข้าด้วยกันแล้ว มดงานตัวอื่นๆ จะคาบตัวอ่อนไว้ในปาก และคอยดึงเส้นใยที่คล้ายเส้นไหมจากท้องตัวอ่อนมาเชื่อมใบไม้เข้าไว้ด้วยกัน โดยปกติเส้นใยนี้จะถูกเอามาใช้ในการห่อหุ้มตัวอ่อนในระยะดักแด้ แต่การที่มดงานเอาเส้นใยนี้มาใช้ในการสร้างรัง ทำให้ตัวอ่อนของมดนั้นกลายเป็นดักแด้ที่ไม่มีรังไหมห่อหุ้มตัว
เส้นใยสีขาวที่เชื่อมระหว่างใบไม้เกิดจากเส้นใยจากตัวอ่อน
มดงานช่วยกันยึดใบเพื่อสร้างรัง (ที่มา By PHGCOM - self-made, Dec 2007, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=3311166)
ในประเทศไทยมีการบริโภคตัวอ่อนดักแด้ ที่เรียกว่า ไข่มดแดง และตัวเต็มวัยของมดแดงที่เรียกว่า แม่เป้ง ถ้าเราดูไข่มดแดงให้ละเอียด จะเห็นว่าบางส่วนจะมีลักษณะกลมรี รูปร่างคล้ายหนอน กลุ่มนั้นคือ ตัวอ่อนของมดแดง ในขณะที่บางส่วนจะมีรูปร่างคล้ายมดงาน แต่สีขาว ส่วนนั้นคือ ดักแด้ของมดงานที่ไม่มีเส้นใยหุ้ม และแม่เป้งที่นำมากินกันคือ ส่วนของมดราชินีใหม่ที่กำลังจะสร้างรังใหม่
ราชินีของมดแดง ที่ออกมาสร้างรังใหม่
ไข่มดแดงที่ขายในประเทศไทย (ที่มา By Bertrand Man - originally posted to Flickr as Ant eggs, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4196889)
มดแดงก็โดนเลียนแบบโดยแมงมุมมดแดงด้วยครับ
เอกสารอ้างอิง
2. Hölldober, B. & Wilson, E.O. (1990). The ants. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา