Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คลังความรู้ by SpokeDark
•
ติดตาม
16 พ.ย. 2020 เวลา 23:30 • ประวัติศาสตร์
ไม่ได้มีแต่เรื่องร้ายๆ! มาดูความเปลี่ยนแปลงหลังจากการระบาดของกาฬโรคในอดีต มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง
WIKIPEDIA PD
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษยชาติเคยได้พบเห็นมาก็คือการระบาดของกาฬโรคในช่วงปี ค.ศ. 1340 ที่ได้อาจคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 75-220 ล้านคน หลายคนคิดว่าโลกคงจะมาถึงจุดจบแล้วเนื่องจากรอบตัวนั้นเต็มไปด้วยศพ ไม่เหลือซึ่งครอบครัวญาติมิตรคนที่รักอีกต่อไป แต่ประวัติศาสตร์ก็ทำให้เราเห็นความน่าทึ่งของการพยายามเอาชีวิตรอดของมนุษย์และธรรมชาติ แม้การระบาดของกาฬโรคจะน่ากลัว แต่เมื่อมันจบลงก็ยังพอที่จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นอยู่เช่นกัน
1. ประชากรมนุษย์มีวิวัฒนาการเสมอเมื่อต้องเผชิญกับโรค คนที่มียีนที่มีตัวแปรที่เกิดจากการวิวัฒนาการในการต่อสู้โรค พวกเขาจะต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดีกว่า และคนที่มียีนเหล่านี้ก็จะมีลูกมากกว่าคนที่ไม่มี กระบวนการเหล่านี้ทำให้ยีนที่ด้อยจะล้มหายตายจากไป และจากการศึกษาพบว่าลูกหลานของชาวยุโรปที่รอดชีวิตจากโรคระบาดมีการเปลี่ยนแปลงยีนที่ทำให้ต้านทานโรคได้ดีขึ้น
การระบาดของกาฬโรคอาจเป็นเหมือนห้องทดลองขนาดใหญ่ของธรรมชาติที่จะคัดเลือกสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอออกจากประชากรทั้งหมด ก่อนการเกิดโรคระบาดมีเพียง 10% ของประชากรที่คาดว่าจะมีอายุเกิน 70 ปี แต่เมื่อเกิดโรคระบาดผ่านไปแล้ว ตัวเลขของประชากรกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึง 20%
1
WIKIPEDIA PD
2. หากจะบอกว่าอุตสาหกรรมน้ำหอมเติบโตก็เพราะกาฬโรคนั้นก็ไม่เกินจริงนัก เพราะในอดีตแพทย์เชื่อว่าอากาศที่เป็นพิษทำให้เกิดโรคระบาด พวกเขาจึงใส่หน้ากากที่มีจะงอยปากยื่นออกมา และที่จะงอยปากนี้เองมันเต็มไปด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศที่เชื่อกันว่าจะช่วยกรองอากาศร้ายได้
น้ำหอมกลิ่นต่างๆ ถูกนำมาใช้โดยหวังว่ามันจะช่วยหยุดยั้งการระบาดของโรคได้ หากมีฐานะหน่อยก็ใช้น้ำหอมที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่มีราคา แต่ถ้าหากเป็นคนฐานะยากจนก็จะใช้สมุนไพรธรรมดาๆ นอกจากนี้ผู้คนยังไม่ค่อยจะอาบน้ำเพราะเชื่อกันว่ามันจะเปิดรูขุมขนและทำให้อากาศแย่ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ และการไม่อาบน้ำและพรมน้ำหอมเพื่อปกปิดกลิ่นกายก็นิยมจนกลายเป็นพระเพณีในกลุ่มชนชั้นสูงไป
3. ก่อนกาฬโรคระบาด โรงพยาบาลเป็นเพียงสถานที่สำหรับแยกคนป่วยออกจากสังคมเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าเขาจะไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นต่อได้ คนที่ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลในยุคกลางนั้นเป็นเรื่องที่สิ้นหวังเอามากๆ สิ่งที่โรงพยาบาลทำได้มีแค่เพียงการนำทรัพย์สินของพวกเขาไปทิ้งเมื่อเสียชีวิตและช่วยสวดมนต์ให้แก่วิญญาณของพวกเขา มันเป็นการดูแลทางด้านจิตวิญญาณมากกว่าจะเป็นการรักษาจริงๆ
โรงพยาบาลในยุคกลางไม่มีแพทย์หรือพยาบาลมืออาชีพ มีเพียงแค่พระและแม่ชีประจำการ แม้พวกเขาจะได้รับการฝึกให้รักษาคนป่วยทางร่างกายแต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลยังทำหน้าที่เป็นโรงทานและบ้านพักรับรองที่รับดูแลแม่หม้าย เด็กกำพร้าและนักเดินทางอีกด้วย คำว่า hospitality ที่แปลว่าการต้อนรับขับสู้มีรากศัพท์เดียวกับ hospital ที่แปลว่าโรงพยาบาล
WIKIPEDIA PD
เมื่อเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ก็เป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลจากสถานที่ทางการกุศลไปสู่สถานที่ที่ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษา และเมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้นทำให้หน้าที่อย่างอื่นของโรงพยาบาลต้องลดลงจนเหลือเพียงแต่การรักษาผู้ป่วยเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ด้วย ความล้มเหลวในการรักษาด้วยยาแผนโบราณหรือวิธีที่โบราณถูกวิเคราะห์และพัฒนาแนวคิดวิธีการรักษาใหม่ๆ จนนำไปสู่การรักษาที่ดีขึ้น
4. ในยุคกลาง นักบวชหรือเจ้าหน้าที่ทางศาสนาประณามความบันเทิงทางโลกว่าเป็นผลงานของปีศาจ แต่เมื่อมีคนเริ่มสังเกตเห็นพลังในการบำบัดของการหัวเราะทำให้มีผู้ปกป้องวรรณกรรมหรือความบันเทิงนอกศาสนาว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้คริสเตียนได้ผ่อนคลายหลังจากการต่อสู้ที่หนักหนาทางจิตวิญญาณ โดยเฉพาะเสียงหัวเราะยังช่วยเติมพลังใจให้แก่คนป่วยได้ แม้แต่แพทย์เองก็ยังแนะนำให้คนที่ปรารถนาจะมีสุขภาพดีและต่อสู้กับความตายจากโรคระบาดให้หลีกเลี่ยงความโกรธและความเศร้า หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนป่วยและคบหากับเพื่อนที่ร่าเริง
1
งานเขียน The Decameron โดยโจวันนี บอกกัชโช(Giovanni Boccaccio) อาจเป็นวรรณกรรมเพื่อความบันเทิงชิ้นแรกของยุโรป มันเป็นเรื่องตลกขบขันที่เขียนในปี ค.ศ. 1352 เป็นเรื่องสั้นเกี่ยวกับความรักและการผจญภัยที่ถูกเล่าโดยกลุ่มสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษที่ซ่อนตัวจากการระบาดของกาฬโรค และเพื่อให้มันสามารถเข้าถึงได้ทุกชนชั้น โจวันนีใช้อารมณ์ขันทางเพศเป็นหัวข้อเพื่อดึงดูดผู้อ่าน เนื่องจากศาสนาและเพศเป็นสองสิ่งที่ผู้คนเข้าใจได้ง่าย แต่แม้จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับมุกตลกทางเพศแต่ก็ไม่ชัดเจนเกินไปนักเพื่อไม่ให้คนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมขุ่นเคือง
WIKIPEDIA PD
5. เนื่องจากการขาดแคลนช่างฝีมือและช่างก่อสร้างเพราะพวกเขาเสียชีวิตจากกาฬโรค ทำให้สถาปนิกพยายามออกแบบอาคารที่เรียบง่ายขึ้น เช่นจากสถาปัตยกรรมแบบโกธิกที่มีความประณีตสูงไปสู่สไตล์โกธิกแบบอังกฤษที่เรียบง่ายกว่า เน้นเส้นแนวตั้ง มีหน้าต่างขนาดใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้ก็ยังมีความต้องการในการเพิ่มพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้นเพื่อลดความแออัดจากบ้านเรือนในอดีตก่อนโรคระบาดที่เป็นสาเหตุของการแพร่กระจายของโรคอย่างรวดเร็ว
6. ที่ภาษาอังกฤษเป็นเหมือนกับภาษากลางของโลก ตำราต่างๆ ถูกเขียนในภาษาอังกฤษแทนภาษาละตินส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกาฬโรค
เพราะพระสงฆ์ที่เป็นผู้รู้ภาษาละตินที่คอยคัดลอกต้นฉบับต่างก็ล้มตายกันไปด้วยกาฬโรค ชาวยุโรปจึงต้องการการทำสำเนาที่ดีกว่าจึงได้แรงจูงใจในการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกที่สามารถกระจายความรู้ไปได้อย่างกว้างไกล
มีการก่อตั้งมหาวิทยาที่ท้องถิ่นขึ้นมาหลายแห่งหลังการสิ้นสุดของโรคระบาดเพราะผู้คนกลัวการเดินทางไกล อาจารย์ตลอดจนผู้มีความรู้ที่พูดและใช้ภาษาละตินเสียชีวิตกันไปหลายท่าน ดังนั้นภาษาที่ถูกใช้ในการเรียนการสอนระดับสูงจึงเป็นภาษาที่เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยพูดหรือภาษาท้องถิ่น
ชนชั้นกลางที่เคยเป็นทาสมาก่อนก็ไม่รู้จักภาษาละติน ภาษาละตินลดความสำคัญอย่างถึงที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1362 ที่ภาษาอังกฤษได้ถูกประกาศให้เป็นภาษาราชการของศาล และได้ถูกใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนเมื่อปี ค.ศ. 1385 เมื่ออังกฤษได้ขยายจักรวรรดิและออกล่าอาณานิคมก็ได้มีการเผยแพร่ภาษาอังกฤษไปด้วย
1
WIKIPEDIA PD
7. ระบบศักดินาก่อนเกิดการระบาดของกาฬโรคประกอบไปด้วยคน 3 ชนชั้นคือนักบวช, ขุนนางและอัศวิน และอีกชนชั้นหนึ่งคือข้าทาส ซึ่งข้าทาสมักจะถูกหาประโยชน์จากการใช้แรงงานให้เป็นผู้ผลิตพืชผลและเก็บเกี่ยวไปให้เจ้านาย จนเมื่อมีการระบาดของกาฬโรค แรงงานทาสทั้งหลายเสียชีวิตลง เจ้านายก็ไม่มีคนที่จะมาเป็นแรงงานให้ ดังนั้นทาสหรือแรงงานที่ยังมีชีวิตรออยู่จึงเริ่มเรียกร้องค่าแรงและสิทธิของตัวเองมากขึ้น แม้เหล่าชนชั้นสูงพยายามที่จะกดหัวให้เหล่าแรงงานกลับไปอยู่ในระบอบเดิม แต่เสรีภาพหลังการระบาดของกาฬโรคทำให้เกิดการเคลื่อนไหวมากขึ้น
การหลุดพ้นจากระบบศักดินาทำให้ชนชั้นล่างมองเห็นโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขาเริ่มเข้าเมืองเพื่อทำงานฝีมือและค้าขาย ผู้ที่ประสบความสำเร็จก็ร่ำรวยกลายเป็นชนชั้นกลางใหม่ เมืองเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมและเศรษฐกิจบนพื้นฐานของเงินตรา มีการแข่งขันทางการค้าที่ค่อยๆ มาแทนระบบสมาคมอย่างช้าๆ และนี่ก็เป็นรากของระบบทุนนิยม
และเมื่อมีเงินในการจับจ่ายมากขึ้นก็ทำให้เกิดเส้นทางการค้าที่เชื่อมโลกเพื่อนำสินค้าหรูหรามาขายแก่ผู้คน ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยหลายคนมาเป็นผู้สนับสนุนศิลปินให้ผลิตงานศิลปะหรือสนับสนุนวิทยาศาสตร์และปรัชญา จนเหมือนเป็นการระเบิดความรู้และความสร้างสรรค์สู่ยุคที่เราเรียกว่ายุคเรอเนสซองส์หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา
WIKIPEDIA PD
8. ความเชื่อของคริสเตียนปกครองทุกแง่มุมของชีวิตของยุคกลางตั้งแต่ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่อำนาจเหนือของคริสตจักรก็ถูกทำลายด้วยกาฬโรค ความรู้ในหลายด้านโดยเฉพาะทางการแพทย์ที่นำมาใช้ในบริบทของศาสนาและจิตวิญญาณได้เสื่อมศรัทธาลงหลังจากที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติและถูกตั้งคำถามและสูญเสียศรัทธาจากผู้คน มันทำให้ผู้คนกล้าที่จะคิดด้วยตนเองมากขึ้น
จำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงจนน่าตกใจทำให้ผู้คนที่รอดชีวิตจากการระบาดของกาฬโรคไตร่ตรองถึงคุณของของแต่ละคน มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับศรัทธาเมื่อเผชิญหน้ากับความหวาดกลัวของโรคระบาด ผู้คนหันมาสนและให้คุณค่ากับความงดงามของชีวิตที่ดำรงอยู่มากกว่าชีวิตอีกโลกหนึ่งในภายภาคหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่นำไปสู่การให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีศูนย์กลางอยู่ที่มนุษย์แทนที่จะเป็นศาสนาในอดีตที่ผ่านมาและก่อเกิดเป็นแนวคิดมนุษย์นิยม
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
WIKIPEDIA PD
8 บันทึก
27
1
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติศาสตร์ II
8
27
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย