17 ธ.ค. 2020 เวลา 10:17 • ท่องเที่ยว
ช๑๐๖_วัดเตว็ด แห่งราชินีบรมโกศ
ถึงร่องรอยศิลปะร้อคโคโค
........ไม่ไกลจากวัดพุทไธสวรรย์ฝั่งตรงข้ามกับเกาะเมืองอยุธยามากนัก เส้นทางที่เลาะเลี้ยวเข้าชุมชนไปทางบางกะจะ มีซอยแยกไปทางคลองชลประทาน เช้าวันนั้นแม้จะถามทางจากคนในชุมชนที่ห่างจากซอยแยกนั้นไม่ไกลนัก น่าจะไม่ถึงร้อยเมตรแต่ก็ไม่มีใครรู้จักวัดนี้ ถามไปถามไปจนมีคุณป้าคนหนึ่งบอกทางให้ว่าให้เข้าไปในคลองชลประทานที่พื้นคลองแห้งผากแล้วก็แยกย่อยต่อไปอีกผมก็เข้าไปถามบ้านแรกที่เจอนั้น ถนนหน้าบ้านแกแคบมากรถจะสวนกันได้ก็ต้องต่างคนต่างเบี่ยงเล็กน้อย แกบอกว่าวัดที่ว่านั้นอยู่หลังบ้านแกเองให้จอดรถแบบคร่อมครึ่งถนนแล้วเดิมมุดใต้ถุนไปได้ แม้มีทางเข้าอีกด้านจากถนนคลองด้านนอก แต่มาถึงแล้วก็ลอดใต้ถุนตรงช่วงสุ่มไก่นั้นเอาแล้วกัน นี่ถ้าเป็นสมัยวัยรุ่น เล่นพระเล่นของคงไม่กล้ามุดเข้าไปใต้ถุนบ้านชาวบ้านแน่เลยเดี๋ยวของหนีหมด แต่นี่แก่แล้วก็เดินเข้าไปอย่างไม่กังวลเลย การตามหาวัดหลายที่หลายแห่ง โดยเฉพาะที่นี่ถือเป็นสีสันและเป็นเรื่องกลับมาเล่าอย่างสนุกเรื่องหนึ่งทีเดียว
ดั้น
๑๏เร้นมุมอยุธยาข้าม เกาะเมือง
ต่อพุทไธสวรรยเรือง หม่นแล้ง
ซอกเล็กซอยน้อยเจื่อง ราชินี
วารสมัยรุ่งเรืองแจ้ง ปรมโกศ ฯ
๒๏คือวัดหรือสำนักนั้น นางชี
คือมองผาดเช่นโบสถ์ ฝรั่งร้อย
คือแม่ลายอย่างนี้ โรมัน
ผิสมัยร้อคโคโค่คล้อย ฝรั่งเศส ฯ
๓๏วนหมุนกวาดลายโค้ง อาคันทัส
เช่นเสาคอรินเทียนเหตุ สาวไส้
แต่เด่นกลางบันจัด รูปวิมาน
หลุดหายคือราชินีไท้ แน่หรือ ฯ
๔๏อิฐก่อหนานักเน้น ช่างเชิง
เปิดช่องปรุกว้างคือ ศาสตร์ค้น
เรียงอิฐวิทยาการเริง เสกศิลป
ดูโลกเทถ่ายพ้น ตกออก ฯ
๕๏เยิรแสงอโยธยาล้ม แล้วล่ม
เย็นเยียบย่ำโสมตอก หักเค้น
เยี่ยมชีวิตก้าวจม จ่อมดิน
ยังรอยครวญคร่ำเฟ้น ทางมา ๚ะ
.....มุมมองจากด้านหลังหรือจริงๆก็คือภายในของวิหารหลังนี่ ช่องหน้าต่างที่เป็นเป็นโค้งหรือที่เรียกว่าARCH (อาร์ค)นั้น พลอยทำให้จินตนาการไปถึงด้านในโบสถ์ฝรั่งที่มีแสตนกลาสหรือกระจกตกแต่งลวดลายที่เราอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากันในโบสถ์คริสต์ต่างๆ ผมไปหยิบโบสถ์หลังหนึ่งในเสปน ชื่อซานเจอเรนิโม อยู่หลังพิพิธภัณฑ์ปราโดกรุงมาดริด เอาพอเป็นไอเดียว่าเจ้าซุ้มอาร์คนี้มีความน่าจะเป็นและใส่แสตนกลาสแบบนี้ ถ้าฝรั่งเป็นคนออกแบบที่นี่จริง จะติดเอาวิธีคิดในการใช้จังหวะของโบสถ์คริสต์มาหรืออย่างไร
......แม้ตัวสภาพของโบสถ์หรือวิหารนั้น เกือบเรียกได้ว่ามีผนังด้านสกัดหน้าเหลืออยู่เพียงด้านเดียวแต่ก็เป็นด้านที่ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับการอ้างอิงในงานวิจัยต่างๆอยู่เป็นประจำ เมื่อมุดออกมาจากบ้านน้อยหลังนั้นแล้วเราจะเห็นโบสถ์หลังนี้จากด้านหลังผนังด้านหน้าเหลืออยู่ด้านหนึ่งมีผนังด้านข้างหรือด้านยาวข้างล่ะเสี้ยวหนึ่งค้ำผนังด้านหน้าไว้ขนาดความหนาของผนังหนาพอสมควร มองเห็นช่องแสงรูปอาร์คหรือช่องหน้าต่างรูปหัวโค้งครึ่งวงกลมเจ้าอาร์คตัวนี้มีใช้ทั้งของฝรั่งและแขก แต่ก็ไม่เคยเห็นในการมาใช้กับการพัฒนาวัดในอยุธยา(กำลังนึกว่ามีที่ไหนบ้างน่ะ) และมีช่องเจาะไม่ทะลุภาษาพวกผมก็จะเรียกว่า "นิช" เจ้านิชนี่มีหลายจังหวะสัดส่วนต้องค่อยดูอย่าช้าๆว่าเป็น Vault (หัวซุ้มแบบเรียวแหลม)แบบฝรั่ง หรือเป็นแบบเปอร์เซียอย่างที่นักวิชาการบ้านเรายังเคยสับสนในงานของพระตำหนักคำหยาดเลยว่าเป็นฝรั่งหรือเป็นแขก ดูภาพรวมของอาคารก็มีอาคารคำหยาดกับที่ลพบุรีและกำมะเลียนพอที่จะมองเห็นเค้าโครงว่าเป็นอาคารสองชั้น ระดับบนปูพื้นไม้ สภาพของบริเวณโบสถ์หลังนี้ (จากในรูปเก่า)จะเป็นป่ารก แต่ทราบภายหลังว่าตอนนี้มีการเข้าไปบูรณะจากกรมศิลปากร ถึงพศ.นี้ถือว่าสะดวกสบายในการเข้ามาถึง เมื่อเดินอ้อมมาที่ด้านหน้ากลับก็ยิ่งมั่นใจขึ้นว่าเป็นงานฝรั่งตะวันตกด้วยมีรูปลวดลายอย่างชัดเจน
...........ถึง แม้จะเรียนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตะวันตกมาบ้าง แต่ถึงพศ.นี้ก็คืนครูบาอาจารย์ไปมากทีเดียว ขนาดจะวิเคราะห์เจาะลึกแยกแยะคงทำไม่ได้ พอดูเห็นทีแรกก็เพียงรู้ว่าเป็นงานหลุยส์ คำว่าหลุยส์เป็นศัพท์ตลาดเอาแค่มีความหมายว่างานในช่วงเวลาหลุยส์ที่ 14,15,16 ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของฝรั่งเศสและโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลานั้นฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจและร่ำรวย เมื่อกลับมาอ่านตำราก็บอกว่าเจ้าลักษณะลวดลายนั้น เป็นงานช่วงที่ฝรั่งเศสเรียกร้อคโคโค่หรือเลี่ยนเรียกว่าบาร้อค คือเริ่มจะพัฒนางานไปมากโดยเพิ่มรายละเอียด มีช่วงเวลาประมาณหลุยส์ที่15 ตอนนั้นก็คง คศว.16หรือ คศ.17ต้นๆ บวกไปอีก 543 ก็น่าจะอยู่ประมาณ พศ.225x หรืออีกห้าสิบหกสิบปีกรุงแตก ตอนนั้นคงเป็นบ้านพลูหลวง จริงแล้วต้นทางของงานฝรั่งในยุโรปเป็นงานของโรมันเยอะเพราะถ่ายทอดกันตรง โรมันเองก็รับต่อเนื่องมาจากกรีก ลวดลายที่นี่เป็นงานแบบโรมันถ้าเรานึกถึงหัวเสาประเภทหนึ่งของโรมันในยุคหลังที่เรียกว่าเสาคอรินเทียน ดูรูปด้านล่างประกอบเราก็จะเห็นจังหวะแม่ลายตัวฟอร์มต้นทาง ของต้นไม้ที่นำมาคลี่คลายเป็นลวดลายนั้นเป็นต้นทางเดียวกันกับลวดลายที่เราเห็นกันเบื้องหน้านี้ คือลักษณะการคลี่คลายของใบ Arcantus พอกลับไปอ่านบทความที่อจ. นณ ปากน้ำ วิเคราะห์ไว้ว่าที่นี่น่าเป็นที่กรมหลวงโยธาเทพกับกรมหลวงโยธาทิพย์ มเหสีซ้ายขวาของพระเจ้าบรมโกศ ที่ลามาบวชชีอยู่ใกล้วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งดูเรื่องจะสอดคล้องรับกันได้ดี นึกแล้วก็มีอาคารอยู่สองหลังที่สร้างในรุ่นนั้นมีลักษณะต่อเนื่อง คือตำหนักคำหยาด และตำหนักกำมะเลียน แต่ที่นี่กลับมีหน้าเป็นลวดลายตะวันตกอันชัดเจน และชื่อก็บอกว่าเป็นวัด จะเป็นตำหนักชีของราชินีทั้งสององค์หรือ พอกลับไปดูที่ลวดลายหน้าบันอีกครั้งก็ยังมีความเป็นไปได้อย่างที่กล่าวไว้ เพราะตรงกลางของลวดลายนั้นมีรูปทรงอย่างที่ช่างไทยชอบเขียนในงานจิตรกรรมเป็นรูปวิมานหรือบุษบก หรืออาจจะเป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของราชินีหรือสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งของไทยอยู่กลางลวดลายฝรั่งนั้น
.....จังหวะของลวดลายตะวันตกที่ปรุงมาจากลายของใบ Arcantus ลองดูต้นทางที่มาจากสกุลช่างโรมันแล้วมาในรุ่นร้อคโคโค่ของฝรั่งเศส ย้อนกลับไปดูลายที่หน้าบันของวัดเตว็ดนี้อีกครั้ง ก่อนที่จะแตกลูกแตกดอกมาถึงอยุธยานี่ จริงๆดูเหมือนเราจะมองเห็นที่ไปที่มา แต่เราก็สรุปในเชิงวิชาการแทบไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายและหน้าบันปูนนี้มีที่มาเดียวกันหรือไม่ ทางสายโบราณคดีมีการเก็บสิ่งของที่อยู่รายรอบในสถานที่ มีกระเบื้องหลังคา มีพระเครื่อง ซึ่งสายพระเครื่องคงรู้จักจากชื่อพระเครื่องวัดเตว็ดมากกว่าความเป็นวัด เพราะสภาพวัด(หรือสำนักชี) นี่เหลืออยู่แต่ผนังด้านหน้าด้านเดียวนี้ข้อมูลที่ฝ่ายวิชาการ เท่าที่ตามอ่านก็ดูไม่ค่อยมีและไม่ค่อยชัดเจนดูจะรู้กันในวงในของสายโบราณคดีเท่านั้น จริงๆพัฒนาการที่จะมองเห็นภาพรวมที่ชัดเจนสังคมวิชาการน่าจะเป็นสังคมเปิด การมองเห็นของผู้คนต่างๆแม้ผิดบ้างเกือบถูกบ้างแต่อาจขยายกรอบความรู้ไปพ้นจากเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งได้
โคลงชมวัด
ทางแก้ว
วาดวัด
๒๕๕๙~๒๕๖๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา