21 พ.ย. 2020 เวลา 02:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP27
“กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ตอนที่ 2 มาเลือกกองทุนอสังหาริมทรัพย์กัน (Fund of Property Fund)”
สวัสดีครับ ใน EP ที่แล้ว มีอยู่ตอนนึงที่เราคุยกันว่าจะไม่ใช่คำว่า “กองทุนอสังหาริมทรัพย์” เพื่อเรียกกอง PF เหตุผลก็คือ ผมกั๊กคำนี้ไว้เรียก กองทุน ที่จะลงทุนในกองรีท (PF & REIT) และ IF นั่นเอง
เพื่อความสะดวก ต่อไปนี้ขออนุญาตเรียก กองทุน ที่ลงทุนในกองรีทและ IF ว่า “กองทุนอสังหาฯ” (Fund of Property Fund) ซึ่งกองทุนนี้จะไปลงทุนในกองรีท และ IF อีกที ถ้าอ่านตรงนี้แล้วงง ให้มอง กองรีท และ IF เป็นเหมือนหุ้นไปเลยก็ได้
เมื่อมองแบบนี้กองทุนรวมอสังหาฯ มันก็คือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเฉพาะอุตสาหกรรมนั่นเอง อย่างไรก็ตามทาง กลต. เขาไม่จัดกองทุนอสังหาฯ ไว้ที่ระดับ 7 เหมือนกองทุนรายอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่จัดไว้ที่ระดับ 8
สาเหตุขออนุญาตไม่อธิบายยาวนะครับ เอาสั้นๆคือ กลต. เขามองว่า กองรีทและ IF มันไม่เข้าพวกกับหุ้นรายอุตสาหกรรมอื่นๆ เท่านั้นครับ
ดังนั้นมันจึงเป็นกองทุนที่เสี่ยงระดับ 8 แต่ทว่า เนื่องจากกองรีท และ IF มีรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน เสี่ยงต่ำกว่าหุ้นหน่อยๆดังนั้นผมจึงมองว่า กองทุนอสังหาฯ มีความเสี่ยงน้อยกว่ากองหุ้นรายอุตสาหกรรมที่เสี่ยงระดับ 7 หน่อยๆ แปลกดีเนาะ
กองทุนอสังหาฯ นั้นสามารถลงทุนได้ในกองรีท, กองโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในและต่างประเทศ ตามรูปเลยนะครับ โดยอาจจะมีการลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์บ้าง
ซึ่งขั้นตอนการคัดเลือกกองทุน เหมือนเดิมฮะ ขั้นตอนเหมือนที่เราเคยทำกันมา ก่อนอื่นเราต้องไปหากองทุนที่คิดว่าเจ๋งมาก่อนซัก 5 กอง จากเว็บมอนิ่งสตาร์
ไปเริ่มที่หน้าคัดกองทุนเลยครับ คลิกที่ประเภทกองทุนแบ่งตาม AIMC จะเห็นว่ามีกองอสังหาฯอยู่ 3 แบบ
Fund of Property fund – Foreign คือกองอสังหาฯ ที่เอาเงินเราไปลงทุนในกองอสังหาฯต่างประเทศ 100% หรือที่เรียกว่า Feeder Fund
Fund of Property fund – Thai คือกองอสังหาฯที่ลงทุนใน กองรีทและ IF เฉพาะในประเทศเท่านั้น
Fund of Property fund – Thai and Foreign คือกองอสังหาฯที่ลงทุนใน กองรีทและ IF ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เนื่องจากกองอสังหาฯที่เป็น Feeder Fund นั้น ผลตอบแทนไม่ต่างจากอีก 2 แบบมากมายอะไรนัก จึงขออนุญาตไม่พูดถึงนะครับ
คือ Feeder Fund เนี่ย เวลาเลือกเราต้องไปดูสัดส่วนการลงทุนของกองแม่ (Master Fund) ที่เขาไปลงทุน เพื่อจะบอกได้ว่ามันเสี่ยงมากหรือน้อย คุ้มค่าหรือเปล่า นับว่าค่อนข้างวุ่นวายในการเปรียบเทียบ บางทีก็ดูไม่ออกบอกไม่ได้ ดังนั้นถ้าผลตอบแทนไม่หนีกันมากๆ ผมก็จะไม่ค่อยดู Feeder Fund ครับ
เรื่อง Feeder Fund เคยพูดถึงใน EP19 นะครับ ใครสงสัยว่ามันคืออะไร ก็กลับไปอ่านกันได้
จากหน้าคัดกองทุนเลือกตามรูปเลยครับ
กองทุนรวมอสังหาฯเนี่ย โดยปกติแล้วมักจะจ่ายเงินปันผลครับ พอเราเลือกไม่จ่ายปันผล ก็จะมีออกให้เลือกน้อยหน่อย และจะหนักไปทางกอง RMF (กอง RMF มีกฏว่าห้ามมีการจ่ายปันผล)
จากนั้นเลือกดูผลตอบแทนระยะยาว 10 ปี จะเห็นว่ามีอยู่กองเดียวที่พอจะดูโอเค คือกองแรกสุดคือ M-Property แต่ทว่ากองนี้ไม่ขายแล้วครับ มีขายเฉพาะกองที่มีปันผลในชื่อกองทุน MPDIVMF ซึ่งจะลงทุนคล้ายๆกัน
เห็นดังนี้แล้วขยับไปดูกองที่ลงทุนทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ
เนื่องจากกองทุนในกลุ่มนี้ ไม่มีกองไหนเปิดถึง 10 ปี ดังนั้นเราก็เลือกดูที่ผลตอบแทนระยะยาว 5 ปี
มีให้เลือก 4 กอง และจะเห็นว่าเป็นกอง RMF ไปถึง 3 กอง มีกองทั่วไปอยู่แค่กองเดียวเท่านั้น 5555
เจอเหตุการณ์แบบนี้ทำไงดี
(ตอบ) ถ้าเราคิดว่าอยากลงกองอสังหาฯจริงๆ ด้วยเหตุผลเพื่อการกระจายความเสี่ยง ไปเอากองที่มีการจ่ายปันผลมารวมคัดด้วยก็ได้ ตัวเลือกจะได้เยอะขึ้น หรือจะไปลงที่เป็น Feeder Fund ก็ได้นะ
แต่ในกรณีที่เราไม่ซีเรียสว่าจะต้องลงกองอสังหาฯ แนะนำว่าลองไปดูผลตอบแทนของกองทุนรายอุตสาหกรรมกลุ่มอื่นๆดูก่อน
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับกองทุนที่ลงทุนในหุ้นทั่วๆไป ผลตอบแทน 5 ปีย้อนหลังของกองอสังหาฯ ดูดีกว่าพอสมควร (กองหุ้นทั่วไป และ กองหุ้น Passive ช่วงเดือน พย. 2563 ผลตอบแทน 5 ปีอยู่แถวๆ 2-3%)
ดังนั้นเราลองเอากองอสังหาฯที่ไม่ใช่ RMF ทั้งหมด 2 กองเท่าที่เจอไปคัดกันต่อดีกว่า เผื่อในอนาคตมีกองกลุ่มนี้เยอะขึ้นจะได้มีแนวทางในการคัดเลือกเนาะ
1. วรรณ พร็อพเพอร์ตี้ พลัส ฟันด์ (ONE-PROP) กองนี้เอามาจากกองอสังหาฯในประเทศนะ
2. กองทุนเปิดเคเคพี พร็อพเพอร์ตี้ เซคเตอร์ ฟันด์ (KKP PROP)
เปรียบเทียบกราฟ ทำในเว็บ Wealthmagik เหมือนตอนที่เราเลือกกองหุ้นนะครับ
จากกราฟเราเห็นแนวโน้มขึ้นลงคล้ายๆกัน แต่ช่องว่างของทั้งสองกองค่อยๆลดลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่ากอง KKP PROP ทำได้ดีกว่า ONE-PROP ในช่วงหลังๆ นอกจากนี้ก็ไม่เห็นความผิดปกติใดๆ
ไปทำตารางเปรียบเทียบกันต่อ ตารางก็จะคล้ายๆกับตอนเราเปรียบเทียบกองหุ้นเลย และเนื่องจากมันคล้ายกันมาก จึงขออนุญาตตัดภาพมาที่ตารางข้อมูลที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว
ไปเปรียบเทียบข้อมูลกันเลย
ความเสี่ยงโดยรวมต่างกันนิดหน่อย
ในส่วนของสัดส่วนการลงทุน “หน่วยลงทุนอื่นๆ” ส่วนใหญ่แล้วมันคือ กองรีทกับ IF ที่สัดส่วนน้อยๆนะครับ มองว่ามันคือ กองรีทกับ IF ได้เลย
ทั้ง 2 กองไม่มีการลงทุนในหุ้น ถ้ามีการลงทุนในหุ้นเกิน 10% ผมจะถือว่าเสี่ยงเพิ่มขึ้นนะครับ
ผลตอบแทนและค่าธรรมเนียมนั้น KKP PROP ดูดีกว่า คือเห็นจะจะเลยว่าส่วนนึงที่ทำให้ผลตอบแทนดีกว่าคือค่าธรรมเนียม TER ถูกกว่าชัดเจน
ที่สำคัญมากของกองอสังหาฯ ก็คือ ทาง บลจ. มักจะมีการเปิดให้เราขายได้เฉพาะบางวัน เรื่องนี้ส่งผลกับสภาพคล่องนะครับ ต้องดูดีๆ ตามรูปกอง ONE-PROP ในเดือนนั้นๆเราจะขายได้แค่ 2 วัน ส่วน KKP PROP ขายแต่ละสัปดาห์ขายได้ 1 วัน
สรุป KKP PROP นอนมาครับ เสี่ยงกว่านิดหน่อย แต่ผลตอบแทนดีกว่าชัดเจน เสียดายที่ตัวกองทุนที่เราเอามาเปรียบเทียบมีน้อยไปหน่อย ซึ่งมันก็คือข้อเสียขอการลงทุนผ่านกองทุนรวมเนาะ คือกองทุนแบบที่เราอยากได้เนี่ย (ในกรณีนี้คือกองอสังหาฯที่ไม่ปันผล) บางทีมันก็มีน้อย หรือ อาจจะไม่มีออกมาขายเลย
อย่างไรก็ตามถ้าในอนาคตมีกองอสังหาฯออกมาให้เลือกเยอะขึ้น วันนี้เราได้แนวทางที่จะใช้เปรียบเทียบแล้ว ก็ต้องคอยดูกันต่อไปสำหรับคนที่ชอบกองอสังหาฯเนาะ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
อ้างอิง
สรุปข้อมูลสำคัญการลงทุน กองทุนวรรณ พร็อพเพอร์ตี้ พลัส ฟันด์ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563
สรุปข้อมูลสำคัญการลงทุน กองทุนเปิดเคเคพี พร็อพเพอร์ตี้ เซคเตอร์ ฟันด์ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา