21 พ.ย. 2020 เวลา 16:52 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ปริศนาที่มาของภาพ Blue Ring Nebula ไขกระจ่างแล้ว หลังจากที่เหล่านักดาราศาสตร์พยายามหาคำอธิบายมากว่า 16 ปี
Blue Ring Nebula ที่เป็นวงแหวนสีม่วงซ้อนกันโดยมีวงแหวนเรืองแสงสีฟ้าล้อมดาวแม่ของมันไว้
ห่างจากโลกออกไป 6,000 ปีแสงในกลุ่มดาวเฮอร์คิวลิส คือที่ตั้งของ Blue Ring Nebula ที่ล้อมรอบดาว TYC 2597-735-1 ถูกค้นพบโดยทีมนักดาราศาสตร์ในโครงการ Galaxy Evolution Explorer mission (GALEX) เมื่อ 16 ปีก่อน
ซึ่งเหล่านักดาราศาสตร์ต่างพยายามหาคำอธิบายถึงลักษณะของเนบิวลาที่เป็นวงแหวนซ้อนกันอย่างที่เห็นในภาพอยู่เป็นเวลาหลายปี
สุดท้ายด้วยความร่วมมือของทีมนักดาราศาสตร์จากทั่วโลก ข้อมูลจากกล้องดูดาวมากมายที่ใช้ช่วยกันสังเกตและเก็บข้อมูล
ทั้งกล้อง Caltech's Hale ที่หอดูดาว Palomar ซานดิเอโก, หอดูดาว W. M. Keck ที่ฮาวาย, กล้อง Hobby-Eberly Telescope ในเทกซัส, กล้อง Spitzer Space Telescope และ the Wide-field Survey Explorer (WISE) ของ NASA
ที่เรามองเห็นนั้นเป็นภาพซ้อนของกรวยมวลสารที่พุ่งออกทั้งสองด้านของดาว
มาวันนี้ก็ได้คำตอบแล้วว่าเนบิวลาที่เห็นอยู่นี้เกิดจากการชนกันระหว่างดาวที่มีขนาดใกล้เคียงดวงอาทิตย์กับดาวอีกดวงที่มีขนาดเล็กกว่า
โดยผลของการชนนั้นทำให้เกิดกรวยของมวลสารที่พุ่งออกทั้งสองด้านของดาว โดยกรวยข้างหนึ่งนั้นพุ่งเข้ามาทางโลก กรวยอีกด้านก็พุ่งออกไปในทิศตรงกันข้าม
ภาพเนบิวลาวงแหวนที่ซ้อนกันคือการซ้อนทับกันของกรวยมวลสารในมุมที่มองเห็นจากโลก
โดยมวลสารที่พุ่งออกมาเป็นกรวยมวลสารนั้นพุ่งออกมาด้วยความเร็วสูงจัดจนเกิดเป็นคลื่นกระแทกอัดเอาก๊าซไฮโดรเจนที่อยู่โดยรอบจนเกิดการเรืองแสงแบบฟลูออเรสเซนต์ เกิดเป็นแสงเรืองสีฟ้าที่มองเห็นในย่านรังสีอัลตราไวโอเลต
ส่วนขอบด้านนอกของกรวยนั้นจะปรากฎเห็นเป็นสีม่วงจากการอัดตัวของคลื่นกระแทก
แต่ถ้าหากเราสามารถเปลี่ยนมุมมองได้จะเห็นว่าแท้จริงแล้วมันเป็นกรวยมวลสารที่อยู่ทั้งสองข้างของดาว
ซึ่งการสังเกตเห็นปรากฎการณ์นี้นับว่าเป็นจังหวะที่หาได้ยากยิ่งเพราะเป็นเสี้ยวจังหวะหลังการรวมกันของดาวสองดวง ที่ในช่วงแรกฝุ่นมวลสารจะบดบังจนเรามองไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นข้างใน
จนต่อมาเมื่อฝุ่นจางลงเราถึงจะได้มีโอกาสมองเห็นลักษณะของกรวยคลื่นกระแทกอย่างที่เราเห็น Blue Ring Nebula นี้
ภาพในแบบจำลองคอมพิวเตอร์ของกรวยมวลสาร
ซึ่งคาดการณ์ว่าเหตการณ์ช่วงนี้จะมีช่วงเวลาให้สังเกตได้ประมาณ 10,000 ถึง 100,000 ปีซึ่งถือว่าสั้นมาก ๆ สำหรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจักรวาล
เปรียบได้กับการได้เห็นจังหวะที่กบกำลังแลบลิ้นจับแมลง ซึ่งหากเรากระพริบตาก็จะพลาดโอกาสที่จะเห็นเสี้ยววินาทีของจังหวะนั้น
และเมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะเห็นแต่ร่องรอยของเนบิวลาที่เศษฝุ่นมวลสารค่อย ๆ กระจายตัวออกไป และเราก็จะไม่รู้ว่าก่อนหน้านั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ในที่สุดปริศนาก็ไขกระจ่างถึงที่มาของภาพ Blue Ring Nebula ที่ดูน่าฉงนในคราแรก แต่ที่แท้มันคือนาทีทองที่เราได้เห็นถึงช่วงจังหวะเวลาหลังการรวมกันของดวงดาวที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อนนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา