24 พ.ย. 2020 เวลา 16:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มหึมาพายุทราย หนึ่งในสาเหตุของการหายไปของมหาสมุทรบนดาวอังคาร??
อีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่อธิบายถึงการหายไปของน้ำหมดมหาสมุทรบนดาวอังคาร
ภาพในจินตนาการของดาวอังคารครั้งเมื่อยังมีมหาสมุทรและบรรยากาศยังมีเมฆหนาแน่นปกคลุม
ปริศนาการหายไปของน้ำปริมาณมหาศาลชนิดว่าหายไปทั้งมหาสมุทรของดาวอังคารนั้น อาจจะมีคำตอบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เมื่อล่าสุดงานวิจัยที่ใช้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากยาน Mars Atmosphere and Volatile EvolutioN spacecraft หรือ MAVEN ของ NASA ที่โคจรเก็บข้อมูลรอบดาวอังคารอยู่เกือบ 3 ปี
ได้เปิดเผยว่าพายุทรายขนาดมหึมาอาจมีผลทำให้น้ำสูญเสียจากบรรยากาศของดาวอังคารไปสู่อวกาศ จนทำให้น้ำในมหาสมุทรเหือดแห้งโดยเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 1,000 ล้านปีที่ผ่านมา
พายุทรายลูกใหญ่ระดับคลุมดาวนั้นจะดันให้น้ำในบรรยากาศลอยสูงขึ้นไปในบรรยากาศชั้นบนจนทำให้โมเลกุลของน้ำแตกตัวกลายเป็นก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจน
โดยปกติแล้ว ไอน้ำในบรรยากาศของดาวอังคารหรือแม้แต่โลกของเราจะถูกกักอยู่บรรยากาศในชั้นที่เรียกว่า hygropause ซึ่งเป็นบริเวณที่อากาศจะเย็นจนน้ำกลั่นตัวกลายเป็นก้อนเมฆ ก่อนจะรวมตัวตกกลับเป็นฝน หรือหยาดน้ำฟ้าประเภทอื่น ๆ
แต่ด้วยพายุทรายที่เกิดเป็นประจำบนดาวอังคารโดยเฉพาะลูกใหญ่ที่ปกคลุมเกือบทั้งดาวนั้น จะทำให้มีน้ำจำนวนหนึ่งถูกพาทะลุบรรยากาศชั้นนี้ขึ้นไป
ภายถ่ายดาวอังคารแสดงให้เห็นถึงพายุทรายขนาดยักษ์ที่ปกคลุมเกือบทั้งผิวดาวอังคารในปี 2018 เมื่อเทียบกับปี 2016 ที่ฟ้าใสมองเห็นพื้นผิวด้านล่างชัดเจนกว่ามาก
และด้วยฝุ่นทรายที่ลอยปะปนปกคลุมไปด้วยกันนั้นจะทำหน้าที่เป็นผ้าห่มอมซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ ทำให้บรรยากาศเหนือชั้น hygropause นั้นอุ่นกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้น้ำไม่สามารถกลั่นตัวกลายเป็นเมฆได้
1
ซึ่งน้ำที่ลอยสูงนี้ก็จะถูกชนด้วยอนุภาคพลังงานสูงในบรรยากาศชั้นบนจนทำให้โมเลกุลของน้ำเกิดการแตกตัวเป็นอะตอมก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจน
ซึ่งอะตอมไฮโดรเจนจะหลุดลอยออกไปสู่อวกาศได้ง่ายกว่าอะตอมออกซิเจน สุดท้ายไม่มีอะตอมไฮโดรเจนที่จะเหลือกลับมารวมตัวกลับเป็นน้ำได้อีก ทำให้ปริมาณน้ำในบรรยากาศดาวอังคารค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ
ภาพเปรียบเทียบกลไกการสูญเสียน้ำในสภาวะปกติกับตอนเกิดพายุทราย
ซึ่งโอกาสในการที่โมเลกุลน้ำในบรรยากาศจะลอยขึ้นไปและถูกชนจนแตกตัวนั้นมีมากว่าตอนไม่มีพายุทรายเกือบ 10 เท่าเลยทีเดียว
และเมื่อน้ำในอากาศมีน้อยลง น้ำในมหาสมุทรก็จะระเหยขึ้นทดแทน และก็สูญเสียออกไปสู่อวกาศเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลานับพันล้านปีที่ผ่านมา
ประกอบกับการที่ดาวอังคารสูญเสียสนามแม่เหล็กลงจากการเย็นตัวของแกนดาว ทำให้ยิ่งไร้เกราะป้องกันอนุภาคพลังงานสูงที่จะพุ่งเข้ามาชนโมเลกุลน้ำให้แตกตัว
เหตุการณ์ดำเนินผ่านไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายดาวอังคารก็กลายเป็นดาวแห้งแล้วสีน้ำตาล มีเหลือน้ำก็เพียงพืดน้ำแข็งบริเวณขั้วดาวเท่านั้น
ด้วยชีวิตที่อาจจะวิวัฒนาการไม่ทันเกิดพืชอยู่อาศัยขึ้นปกคลุมผิวดาวป้องกันไม่ให้เกิดพายุทรายที่รุนแรง ซึ่งทำให้ดาวอังคารต้องเสียน้ำไปอีก สุดท้ายดาวอังคารจึงไร้ซึ่งน้ำและชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อรู้ถึงกลไกการสูญเสียน้ำไปแบบนี้แล้วการปรับสภาพดาวอังคารให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตคงจะไม่ง่าย เพราะเราต้องคิดให้ได้ก่อนว่าจะรักษาน้ำเอาไว้ได้อย่างไรก่อน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา