30 พ.ย. 2020 เวลา 16:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โลกของเราอยู่ใกล้กับหลุมดำยักษ์ใจกลางทางช้างเผือกมากกว่าที่เราเคยคิดร่วม 2,000 ปีแสง!!
1
และเรายังเคลื่อนที่วนรอบใจกลางกาแล็คซี่เร็วกว่าที่เคยคำนวนได้
ดวงอาทิตย์ละดาวต่าง ๆ ในกาแล็คซี่ทางช้างเผือกของเราต่างก็เคลื่อนที่โคจรรอบหลุมดำมวลยิ่งยวดที่ใจกลางกาแล็คซี่
ณ ตรงใจกลางของกาแล็คซี่ทางช้างเผือกที่เราอยู่นี้คือที่อยู่ของหลุมดำมวลยิ่งยวด Sagittarius A* ซึ่งมีมวลมหึมาเท่ากับดวงอาทิตย์ 4 ล้านดวงเลยทีเดียว
ดาวดาว ดาวเคราะห์ หรือแม้แต่หลุมดำ ต่าง ๆ ในกาแล็คซี่ ต่างก็โคจรรอบจุดศูนย์กลางนี้
ข้อมูลการโคจรของระบบสุริยะเรา
ระบบสุริยะของเราทั้งดวงอาทิตย์ โลก ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ฯลฯ ต่างก็โคจรรอบหลุมดำมวลยิ่งยวดนี้
ซึ่งระบบสุริยะของเรานั้นโคจรอยู่ห่างจากหลุมดำนี้เป็นระยะทางประมาณ 27,800 ปีแสง และการโคจรวนจนครบรอบหนึ่งนั้นจะใช้เวลาประมาณ 226 ล้านปี
ดูเหมือนช้าแต่รู้หรือไม่ว่าเราเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาวนรอบใจกลางกาแล็คซี่ด้วยความเร็วกว่า 217.22 กิโลเมตรต่อวินาที!! หรือวิ่งจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่ใน 4 วินาที!!
แต่เราไม่รู้สึกว่าเราเคลื่อนที่เร็วอย่างนั้นก็เพราะว่าเราอยู่บนโลกที่กำลังเคลื่อนที่นั่นเอง เหมือนกับเรานั่งอยู่บนรถไฟความเร็วสูงที่เรียกกว่าโลก
โลก . . . รถไฟความเร็วสูงที่วิ่งวนรอบหลุมดำมวลยิ่งยวดใจกลางกาแล็คซี่ของเรา
แต่ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นนั้นกำลังจะล้าสมัยแล้ว เพราะล่าสุดจากการรวบรวมข้อมูลการสังเกตและติดตามการเคลื่อนที่ของกลุ่มดาวต่าง ๆ โดยเครือข่ายกล้องโทรทัศน์วิทยุทั่วประเทศญี่ปุ่นในโครงการ VERA
ซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า interferometry ซึ่งใช้ในการสังเกตวัตถุที่อยู่ห่างไกลเพื่อหาระยะห่างที่แม่นยำ โดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดในตำแหน่งที่แตกต่างกัน
ตำแหน่งของกระจกจะส่งผลต่อการรวมกันของคลื่นเกิดเป็นริ้วการแทรกสอดแบบต่าง ๆ
ด้วยอาศัยหลักการที่ว่าเมื่อคลื่นแสงหรือคลื่นวิทยุจากแหล่งกำเนิดที่ทำการสังเกตเมื่อทำการตรวจวัดโดยอุปกรณ์ในตำแหน่งที่ต่างกัน ด้วยระยะห่างจากแหล่งกำเนิดคลื่นมายังตัวอุปกรณ์ตรวจวัดจะทำให้เมื่อนำข้อมูลคลื่นที่ตรวจวัดได้มารวมกันจะเกิดผลของการรวมกันของคลื่น 2 ขบวนนี้
ซึ่งจะมีการแทรกสอดเสริมหรือหักล้างกันในรูปแบบต่าง ๆ แล้วแต่ความแตกต่างของระยะห่างจากวัตถุมายังอุปกรณ์วัดแต่ละตัว ทำให้เราสามารถคำนวนย้อนหาระยะห่างที่แท้จริงของแหล่งกำเนิดกับอุปกรณ์วัดได้
ระยะห่างที่ต่างกันจะทำให้ผลการรวมคลื่นแตกต่างกันออกไป
ด้วยการสังเกตวัตถุและดวงดาวกว่า 99 ดวงตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ผลจากการคำนวนโดยข้อมูลดังกล่าวพบว่าระบบสุริยะของเรานั้นอยู่ห่างจากหลุมดำ Sagittarius A* ประมาณ 25,800 ปีแสง ใกล้กว่าที่เคยคำนวนไว้เกือบ 2,000 ปีแสง
แต่ไม่ต้องตกใจไปว่าเราเข้าไปใกล้หลุมดำนี้แล้วจะโดนดูดเข้าไปหรือเปล่า เพราะจริง ๆ แล้วระยะห่างที่คำนวนได้ใหม่นี้เป็นเพียงการคำนวนตำแหน่งที่แม่นยำขึ้นจากข้อมูลที่มีมากขึ้นเท่านั้น
และไม่เพียงแค่ระยะห่าง แต่ผลการคำนวนยังพบว่าโลกของเรานั้นโคจรรอบหลุมดำใจกลางกาแล็คซี่ด้วยความเร็วมากกว่าที่เคยคิด โดยผลการคำนวนใหม่ระบุว่าเรากำลังโคจรรอบหลุมดำนี้ด้วยความเร็ว 227 กิโลเมตรต่อวินาที
โครงข่ายกล้องโทรทัศน์วิทยุที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำและน่าเชื่อถือของข้อมูล
ในอนาคตทีม VERA ยังมีแผนในการขยายการเก็บข้อมูลผ่านโครงการ EAVN หรือ East Asian VLBI Network ซึ่งจะขยายพื้นที่การเก็บข้อมูลจากกล้องโทรทัศน์วิทยุในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีและจีน เพื่อเพิ่มความแม่นยำของข้อมูลมากขึ้น
ก็ยังคงมีข้อมูล Update กันได้เรื่อย ๆ แม้แต่กับคำถามพื้นฐานที่ว่า เราอยู่ตรงไหนในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้??

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา