Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โคลงชมวัด
•
ติดตาม
7 ธ.ค. 2020 เวลา 00:07 • ท่องเที่ยว
ช๑๐๔_วัดวรเชต (นอกเกาะ) อยุธยา▪︎▪︎▪︎ที่เก็บอัฐิพระนเรศ ๑.
▪︎▪︎▪︎▪︎▪︎
.......วัดนี้บ้างเรียกว่าวัดทุ่งประเชด วัดวรเชตุเทพบำรุง วัดวรเชต วัดวรเชตุ วัดวรเชษฐ เป็นวัดที่ถูกพัฒนามาจากวัดร้างที่เป็นโบราณสถานเดิม และมีพระ(ภิกษุ)ในรุ่นไม่นานมานี้(น่าจะไม่เกินสามสิบปีที่ผ่านมา)มาบูรณะเป็นวัด องค์ปรางค์สูงใหญ่น่าจะเคยเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง แต่รูปลักษณะของปรางค์เป็นปรางค์ทรงเดียวกับที่วัดไชยวัฒนาราม การตีความจึงตีความว่าปรางค์แห่งนี้เป็นปรางค์ร่วมสม้ยในยุคเดียวกับวัดไชยวัฒนารามที่สร้างในรุ่นพระเจ้าปราสาททอง
.......จะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่านี้ผมก็ไม่ทราบได้แต่ผมจะไม่พยายามนำเสนอเรื่องที่เกิดจากการที่"เขาเล่าว่า"
•
......ในรุ่นพระเอกาทศรถกับพระเจ้าปราสาททองห่างกันเจนเนอเรชั่นเดียว ด้วยมีรุ่นลูกของพระเอกาทศรถคือพระเจ้าทรงธรรม มาคั่นและ พระเจ้าปราสาททองซึ่งเดิมเป็นขุนนางใหญ่(เพื่อความชอบธรรมบางครั้งก็ว่าเป็นลูกพระเอกาทศรถด้วยเหมือนกัน) ก็ยึดแผ่นดินต่อ (นี่ผมไม่พูดถึงรายละเอียดซึ่งช่วงที่ก่อนยึดอำนาจอันซับซ้อนแล้วก็ตั้งรุ่นลูกของพระเจ้าทรงธรรมเป็นพระเจ้าแผ่นดินหุ่น)
••
........ในบรรดาเรื่องแย้งหรือเรื่องต่างความเห็นของผู้คนเกี่ยวกับอยุธยา ถ้าจะมีสาขาการเรียนประวัติศาสตร์แบบละเอียดก็จะเรียกว่าอยุธยาศึกษาหรืออยุธยาวิทยา นั้นมีอยู่สี่ห้าเรื่องและเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนั้นว่าอัฐิพระนเรศเก็บไว้ที่วัดไหนด้วยมีวัดชื่อพ้องกันสองวัด ในพงศาวดารที่มีการวิเคราะห์กันก็มีอยู่หลายฉบับ ไปเปิดประชุมพงศาวดารท่านก็ใช้คำว่า "สถาปนาวัดพระวรเชษฐารามมหาวิหาร" บางทีคำว่ามหาวิหารอาจทำให้เราดูว่าต้องเป็นวิหารอันใหญ่โต ในยุคหนึ่งกระทู้พันทิปแทบแตก และบล๊อคหลายแห่งก็มีการถกประเด็นนี้กันเหมือนกัน รวมทั้งนิตยสารพระ อะไรนั่นที่ลงข่าวเรื่องเช่นนี้ตลอดจนเกี่ยวกับความเร้นลับและปาฏิหาริย์ ก็ขายดิบขายดีมากราวกับเป็นพล๊อตเรื่องสั้นของคนทำหนังสือ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยผูกโยงต่อไปเป็นเรื่องยาวรายละเอียดสนับสนุนกระแสของโบราณสถานแห่งนี้มีมากมายจนน่าแปลกใจ ว่าเป็นวัดวรเชษฐ(ตามพงศาวดาร) อันเป็นที่ปลงพระศพพระนเรศและเก็บอัฐิ ถ้าเป็นเช่นนั้นอัฐิคงไม่บรรจุในห้องปรางค์เพราะปรางค์เป็นแบบอย่างที่สร้างมาในรุ่นพระเจ้าปราสาททอง หรือมิฉะนั้นก็นำมาเก็บตอนหลัง
......แต่กระนั้นก็ยังมีเจดียทรงลังกาอยู่อีกองค์หนึ่งในพื้นที่ ซึ่งน่าจะเก่าแก่พอสมควรหรือตัววิหารก็อาจจะก่อนยุคกลางสมัยอยุธยาเหมือนกัน ยังมีอีกที่ว่าเป็นวัดป่าแดงหรือวัดป่าแก้วเช่นเดียวกับที่วัดชัยมงคลแล้วกลับไปแย้งว่าที่ตำแหน่งวัดใหญ่ชัยมงคลนั้นไม่ถูกต้อง แต่กระนั้นก็ไม่มีรายละเอียดทางวิชาการใดใดที่สมเหตุสมผลว่าที่นี่เกี่ยวพันกันกับพระนเรศเลย อาจจะมีมาสนับสนุนบ้างเท่าที่ผมอ่านแต่ยังดูน้ำหนักไม่พอ นอกจากข่าวสารจากสื่อมวลชนและคำบอกเล่าคำอ้าง การมีพระภิกษุนิรนาม ซ้ำข่าวสารพวกนี้ก็มาพร้อมกับกระแสพระสุพรรณกัลยา ที่มาพร้อมกับนิมิตในสมาธิของพระภิกษุองค์หนึ่ง
.......วันนั้นเลิกงานเร็วตอนเย็นแล้วผมไปกับรุ่นน้องอีกคนหนึ่งที่ทำงานด้วยกัน ไปวาดรูปที่วัดนี้ที่ฐานองค์ปรางค์เป็นลานกว้างใหญ่ ลมพัดมาสบายๆรอบๆตัวเรามีคนอยู่สามสี่คน สอบถามเขาว่าตอนเย็นจะมีการนั่งสมาธิรวมกลุ่ม ผมก็ไม่ได้ถามเหมือนกันว่าเขาจะนั่งสมาธิเพื่อจุดประสงค์อะไร ด้วยผู้คนสามสี่คนนั่นไม่เหมาะที่จะสามารถคุยเรื่องที่เลยขึ้นมาในเรื่องระดับจิตวิญญาณได้ น่าแปลกที่เราบูชาพระนเรศด้วยความหวังจะให้พระนเรศช่วยเรา แทนที่เราพึงจะนับถือท่านในฐานะที่เป็นผู้กล้าหาญหรือผู้กู้แผ่นดิน ใครนำความคิดเช่นนี้มาสู่ผู้คนไม่ทราบเช่นถวายไก่ปูนปั้น ถวายดาบ และถวายอามิสต่างๆต่อท่าน แม้แต่อย่างอื่นเช่นการให้ไข่ต้มต่อพระแก้วมรกต ความคิดเช่นนี้ฝังมานานนานเป็นร้อยปีหรือกว่านั้นแล้วเหมือนกัน
......อาจจะเกิดจากต้นทางคือสงครามและความกลัว ความไม่มั่นคง การหวังพึ่งสิ่งอันจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ดีกว่า ไม่ทราบว่าผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเห็นว่าอย่างไร เพราะอะไรเหล่านี้ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าเลย ซ้ำยังแฝงไปด้วยการขมขู่ให้ผู้คนเกิดความกลัวขึ้นด้วยซ้ำไปจริงๆพุทธบุตรทั้งหลายเช่นพวกเราต้องกลับมา ทบทวนความเป็นพุทธศาสนิกของเราให้แน่ใจอีกครั้งหนึ่งว่าเส้นทางที่เราเดิน แบบอะไรก็ได้นั้นยังควรเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่ การนับถือศาสนาพุทธแบบการโอนอ่อนผ่อนตามแนวความคิดที่ไม่ใช่พุทธในสังคม หรือนับถือแบบอะไรก็ได้นั้น ย่อมไม่ใช่การนับถือศาสนาพุทธ แม้จะมีผู้ยกเหตุผลต่างๆเช่นพุทธพรามหณ์เป็นการเกาะเกี่ยวชุมชนและเอื้อกันมาแต่สมัยพุทธประกาศศาสนาในอินเดีย กระนั้นการนับถือศาสนาพุทธจึงไม่ใช่เป็นนักนั่งสมาธิหลับตาอย่างเดียว แล้วพวกเรานับถืออะไรแน่ ถ้าไม่นับถือไปเลยอาจจะมีสง่าราศีกว่าการทำตัวว่าฉันนั้นเอาอะไรก็ได้ กลับมาที่พระนเรศ เราเพียงนับถือท่านอย่าที่ท่านเป็นวีรบุรุษกู้แผ่นดินได้แค่นั้นได้ไหม
.......วันนั้นสถานที่ที่แดดร่มลมตกลมพัดเย็นสบายก็เหมาะจะเป็นที่วาดรูปเหตุการณ์ที่ไปที่นี่เมื่อสามปีแล้วตอนนั้นยังไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์มากเท่านี้ และยังไม่ได้คิดว่าจะเขียนเรื่องราวใดใดของวัดนี้ได้เลย รูปถ่ายก็ถ่ายแบบสบายๆไม่ได้โฟกัสไปที่อะไรเป็นพิเศษผมไม่ทราบเหมือนกันว่ากรมศิลป์ฯ การท่องเที่ยว มีนโยบายอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ (หรือผมอาจจะไม่ทราบก็ได้)แต่สิ่งที่เกิดขึ้นของวัดสองวัดที่ชื่อเหมือนกันนี้ กรมศิลป์ฯน่าจะมีการแถลงข่าวหรือใช้สื่อสรุปมาด้วยเหตุผลทางวิชาการหรือในเครดิตของหน่วยงานว่าอะไรถูกอะไรผิด สิ่งสำคัญของหน่วยงานรัฐคือให้ความรู้ต่อประชาชนแม้เพียงในหลักพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ในส่วนตัวผมก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าอัฐิท่านอยู่ที่ไหน เพราะถ้ายังกำกวมก็ไม่ต้องสรุปก็ได้ แต่ถ้าจะสรุปต้องมีเหตุมีผลรองรับเพียงพอ และใครจะพูดได้มีน้ำหนักเท่ากรมศิลป์ฯไม่มีแล้ว แม้กระทั่งพระสงฆ์ เอาสิครับในเมืองหรือนอกเมืองและเหตุผลอย่างไรหรือไม่ต้องสรุปไปเลยก็เพียงบอกว่ายังสรุปไม่ได้
วัดชัยวัฒนาราม
........กระแสพระนเรศในหนังท่านมุ้ยมาเป็นตอนจบด้วยแล้ว เกือบทุกกระแสเป็นเพียงเขาเล่าว่า มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งในการถกเถียงอย่างเอาเป็นเอาตายในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือเกือบไม่มีใครนำรายละเอียดของวัดเดิมที่อยู่ในเมืองมาเปรียบเทียบกับวัดนี้เลย ว่าวัดเดิมมีรายละเอียดและตำแหน่งเมื่อเปรียบเทียบกับวัดนี้เป็นอย่างไร เหตุผลที่มีว่าวัดเดิมเป็นวัดเล็กไม่สมพระเกียรติ ดูไม่เพียงพอเพราะเราเอาความรู้สึกเราในยุคปัจจุบันมาสร้างเป็นเหตุเป็นผลล้วนๆเลย
▪︎▪︎▪︎▪︎▪︎
(โปรดติดตามตอนต่อไป "วัดวรเชษฐารามในเกาะ")
ทางแก้ว
โคลงชมวัด
บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สายน้ำแห่งอยุธยา
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย