1 ธ.ค. 2020 เวลา 11:02 • ประวัติศาสตร์
เล่าสู่กันฟัง​ (4)
หนังสือสี่เล่มของทอเลมี
Tetrabiblos of Ptolemy
หนังสือสี่เล่มชุดนี้​ เขียนขึ้นในราว​ ค.ศ. 100
เนื้อหาสรุปองค์ประกอบพื้นฐานของโหราศาสตร์สมัยกรีก-โรมัน​ต้นฉบับเป็นภาษากรีกกระจัดกระจายสูญหายไปเกือบหมด​ ผ่านการแปลเป็นภาษาอารบิกราวคศต.ที่9 ยุคที่อาณาจักรอิสลามรุ่งเรือง​ ในราวค.ศ. 1138 หลังสงครามครูเสด​ ก็ได้รับการแปลกลับมาเป็นภาษาละติน​แพร่หลายในสเปน​ ก่อนกระจายไปยังยุโรปตะวันตกในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ​
เนื้อหาโดยย่อของบทความนี้​ อ้างอิงกับฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อปีค.ศ.​1822 โดย​ J.M.Ashmand
เล่มที่​1 กล่าวถึงหลักการและเทคนิคพื้นฐานของโหราศาสตร์ เล่มที่​2 กล่าวถึงโหราศาสตร์บ้านเมือง​(Mundane Astrology) เล่มที่​3และ4 กล่าวถึงพยากรณ์ดวงชะตาบุคคล​ เนื้อหาภาพรวมเป็นบทสรุปหลักการและเทคนิคที่ใช้ไม่ใช่ตำราพยากรณ์​ ไม่ได้กล่าวถึงการออกแบบคำพยากรณ์​ และไม่มีดวงตัวอย่างอยู่ในนั้น​
เล่มที่​1
มีการให้นิยาม​ จัด​แบ่งประเภทและกำหนดคุณลักษณะของดาวเคราะห์​ ดาวฤกษ์​ ราศี​ ตำแหน่งมาตรฐานของดาวเคราะห์ในราศี​ ความสัมพันธ์ทางราศี​และมุมสัมพันธ์​ของดาวเคราะห์ทั้ง​เจ็ด
8​ บทแรก ประกอบด้วย
อุณหภูมิ-ความชื้น
อาทิตย์​(ร้อนแห้ง)​จันทร์(ร้อนชื้น)เสาร์(เย็นแห้ง)​อังคาร(ร้อนแห้ง)​ พฤหัส(อุ่นชื้น)​ ศุกร์(ร้อนชื้น)​พุธ​(แห้งและชื้นแล้วแต่ช่วงเวลา)
ศุภเคราะห์-บาปเคราะห์
พฤหัส​ ศุกร์​ จันทร์​เป็นดาวศุภเคราะห์
เสาร์​ อังคาร​ เป็นดาวบาปเคราะห์
อาทิตย์​ พุธ​ ขึ้นกับดาวที่มาสัมพันธ์
ชาย-หญิง
อาทิตย์​ เสาร์​ พฤหัส​ ​อังคาร​ เป็นชาย
จันทร์​ ศุกร์​ เป็นหญิง
พุธ​ มีสองเพศ
กลางวัน-กลางคืน
อาทิตย์​ พฤหัส​ เสาร์​ เป็นดาวกลางวัน
จันทร์​ ศุกร์​ อังคาร​ เป็นดาวกลางคืน
บทที่​ 9-11 กล่าวถึงดาวฤกษ์
ดาวฤกษ์ที่สถิตย์ในส่วนต่างๆของแต่ละราศีจะมีอิทธิพลคล้ายดาวเคราะห์​ อาทิ​ดาวฤกษ์ในราศีเมษส่วนหัว​คล้ายอังคาร-เสาร์​ ส่วนปากคล้ายพุธ-เสาร์​ ส่วนเท้าคล้ายอังคาร​ ส่วนหางคล้ายศุกร์​ ส่วนราศีอื่นๆก็มีการบรรยายลักษณะรูปร่างของกลุ่มดาวนั้น​ แล้วใส่ความหมายดาวเคราะห์เข้าไป
กล่าวถึง​กลุ่มดาวฤกษ์นอกจักรราศี​ 35 กลุ่ม​ และ มีการใส่ความหมายดาวเคราะห์ให้​ ​อาทิ​ กลุ่มดาวหมีเล็ก(Ursa Minor) มีอิทธิพลคล้ายเสาร์-ศุกร์
5
บทที่​ 12-13 กล่าวถึงฤดูกาลทั้งสี่ ใบไม้ผลิ-ร้อน-ใบไม้ร่วง-หนาว​ ตามด้วยเชิงมุมทั้งสี่​(1-4-7-10)จากลัคนาพร้อมคุณสมบัติ​ อาทิจุดใต้​หรือจุดเมอริเดียนมีคุณสมบัติร้อน
บทที่​14-19 กล่าวถึงการแบ่งประเภทและคุณลักษณะราศีแบบต่างๆ​ได้แก่
การแบ่งตามฤดูกาล​4 ประเภท
Tropical sign (กรกฎ​-มกร)​ อาทิตย์ปัดเปลี่ยนทิศทาง Equinoctical sign (เมษ-ตุลย์) ที่กลางวันเท่ากลางคืน​ Fixed sign คือราศีที่อยู่ถัดจาก Tropical และ​ Equinoctical ความเป็นฤดูกาลนั้นเริ่มเสถียร​ และ​ Bicorporeal คือราศีที่อยู่ถัด​ Fixed อยู่ช่วงใกล้ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล​
1
แบ่งตามเพศชาย-หญิง​ หรือกลางวัน-กลางคืน
เริ่มจากเมษ-ตุลย์เป็นราศีเพศชาย​(กลางวัน)​ตามด้วยพฤษภ-พิจิกเป็นราศีเพศหญิง​ฝ(กลางคืน)​สลับราศีกันไป
แบ่งตามความสัมพันธ์เชิงมุม​คือเล็ง(180) ตรีโกณ​(120) จตุโกณ(90) โยค(60) แก่กัน
(บ่งบอกว่ายุคนี้อาจมีการใช้ความสัมพันธ์เชิงมุม​ มาเสริมความสัมพันธ์ทางราศีแล้ว)
ราศีออกคำสั่ง​(commanding)-เชื่อฟัง(obeying)​
ราศีทางซีกฤดูร้อน​(เมษถึงกันย์)​เป็นราศีออกคำสั่งเพราะกลางวันยาวกว่ากลางคืน​(จึงชอบเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง)​ ส่วนราศีซีกฤดูหนาว​(ตุลย์ถึงมีน)​เป็นราศีเชื่อฟัง​ (ในสมพงศ์ดวงชะตา​ ยังมีการแบ่งย่อยออกเป็น​6 คู่ตามราศีออกคำสั่ง-เชื่อฟัง​ ได้แก่​ เมษ-มีน​ ​พฤษภ-กุมภ์​ มิถุน-มกร
กรกฎ-ธนู​ สิงห์-พิจิก​ กันย์-ตุลย์)
ราศีเสมอภาค​ (กำลังเท่ากัน)​ เป็นคู่ราศีที่ห่างจากจุดครีษมายัน/เหมายันเท่ากัน​ แบ่งเป็น​ 6 คู่ได้แก่
มิถุน-กรกฎ​ พฤษภ-สิงห์​ เมษ-กันย์​ มีน-ตุลย์​ กุมภ์-พิจิก มกร-ธนู​
ราศีที่ไม่เชื่อมกัน​ (Inconjunct) เป็น​ 6 หรือ​8 ราศีต่อกัน
บทที่​ 20-22 เป็นการกำหนดตำแหน่งมาตรฐานของดาวเคราะห์ประจำแต่ละราศี​ ได้แก่
เจ้าเกษตร์ประจำราศี​ เช่นอาทิตย์เจ้าเกษตร์ราศีสิงห์​และจันทร์เป็นเจ้าเกษตร์ราศีกรกฎ​
ราศีตรีโกณและเจ้าตรีโกณทั้ง​4 ได้แก่​
อาทิตย์-พฤหัส-อังคารเป็นเจ้าตรีโกณเมษ-สิงห์-ธนู
จันทร์-ศุกร์เป็นเจ้าตรีโกณ​พฤษภ-กันย์-มกร​
เสาร์-พุธเป็นเจ้าตรีโกณมิถุน-ตุลย์-กันย์
อังคารเป็นเจ้าตรีโกณกรกฎ-พิจิก-มีน​
เจ้าอุจจ์ประจำราศีได้แก่อาทิตย์-เมษ​ เสาร์-ตุลย์​ จันทร์-พฤษภ​พฤหัส-กรกฎ​ อังคาร-มกร​ ศุกร์-มีน​ พุธ-กันย์​และตำแหน่งนิจจ์ในราศีตรงข้ามกับตำแหน่งอุจจ์
บทที่​ 23-24 การแบ่งแต่ละราศีเป็นส่วนย่อย​ได้แก่​
Terms คือการแบ่ง 1ราศีเป็น5ส่วน​ ส่วนละ6องศาในแต่ละส่วนมีการกำหนดดาวเคราะห์เจ้าการประจำส่วน ด้วยสามวิธีที่ต่างกัน คือแบบอิยิปต์ คาลเดียและทอเลมี
 
Place แบ่ง1 ราศีเป็น12 ส่วนๆละ 2.5องศา
บทที่​25-26 หรือสองบทสุดท้ายของเล่ม ​1
ว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงมุมของดาวเคราะห์ต่ออาทิตย์-จันทร์​ และความสัมพันธ์เชิงมุมดาวเคราะห์แบบกำลังวิ่งเข้าทำมุมกัน​​(Application)​ หรือวิ่งออกหลังจากทำมุมกัน​ (Separation) รวมถึงวังกะของดาว​(ระยะเข้าใกล้ที่เริ่มมีอิทธิพลต่อกัน)​
-----จบเล่มที่​1------
ข้อสังเกตและความเห็นของข้าพเจ้า
1. ในหนังสือเล่มที่ 1 นี้​ ทอเลมีพยายามทำให้โหราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์​ โดยนำองค์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ดาราศาสตร์​และฟิสิกส์พื้นฐานเรื่องคุณสมบัติวัตถุ​ ซึ่งถือว่าก้าวหน้าใน​สมัยนั้น​ มาใช้เป็นเหตุผลและคำอธิบาย​ มีการเก็งความจริงบางเรื่องเช่น​ คุณสมบัติของดาวเคราะห์ตามอุณหภูมิและความชื้นตามลักษณะกายภาพที่สังเกตเห็น
2.มีการกล่าวถึงปัจจัยฤดูกาลชัดเจน​ รวมถึงเรื่องมุมสัมพันธ์​ ทำให้สันนิษฐานว่าโหราศาสตร์ในยุคหลังคริสตศักราช​ เริ่มมีการใช้จักรราศีแบบฤดูกาลกันแล้ว​ (Tropical Zodiac) รวมถึงใช้มุมสัมพันธ์ระหว่างดาวเคราะห์​ แทนที่มุมสัมพันธ์เชิงราศีที่มีในตำรายุคก่อนหน้า
3.อย่างไรกก็ตาม​ หากอ่านไปจนถึงเล่มที่​3และ4 ที่กล่าวถึงการพยากรณ์ชะตาบุคคล​ จะพบว่ามีการกำหนดความหมายของบุคคลและสถานะทางสังคม​ สถานที่​ สิ่งแวดล้อม​และเหตุการณ์​ ให้กับดาวเคราะห์/กลุ่มดาวเคราะห์​ ​ ซึ่งไม่ได้มีเหตุผลบอกไว้​ เข้าใจว่าเป็นเพียงคัดลอกความหมายตามตำราโหราศาสตร์ที่มีมาในยุคก่อนหน้า​หรือร่วมสมัยกับผู้เขียน​ (ทอเลมี)​ หนังสือชุดนี้มองในภาพรวมจึงดูขาดเหตุผลทางวิทยาศาสตร์​ และสันนิษฐานว่าเป็นเพียงบันทึกองค์ความรู้/ความเชื่อของคนร่วมสมัย​ และไม่ใช่ตำราเพื่อการพยากรณ์
เนื้อหาในหนังสือ​คงยืนยันสมมติฐานที่ว่า​ มีการใช้จักรราศีเป็นเพียงเครื่องมือวัดคุณภาพและเข้มแข็งของดาวเคราะห์​แต่ละดวง​ และแต่ละคู่หรือกลุ่ม​ ผ่านความสัมพันธ์เชิง(มุม) ราศีของของดาวเคราะห์นั้น
1
โหราทาส
๑ ธันวาคม​ ๒๕๖๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา