Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โหราทาสเล่าเรื่อง
•
ติดตาม
6 ธ.ค. 2020 เวลา 04:08 • ประวัติศาสตร์
เล่าสู่กันฟัง (5)
การใช้เรือนชะตามีต้นกำเนิด
จากการหาฤกษ์ยามของฝั่งอิยิปต์
หนังสือสี่เล่มของทอเลมี (Ptolemy's Tetrabiblos) เป็นหลักฐานยืนยันว่าเมื่อผ่านช่วงต้นคริสต์ศักราชมาเพียงร้อยปี แม้นักโหราศาสตร์ตะวันตกจะเริ่มปรับมาใช้จักรราศีตามฤดูกาล(Tropical Zodiac) แทนที่จักราศีไม่เคลื่อนที่ ( Sidereal Zodiac) และการใช้มุมสัมพันธ์ของพระเคราะห์ (planet aspect) แทนที่มุมสัมพันธ์เชิงราศี (zodiacal aspect) แต่ยังใช้ความหมายพระเคราะห์ในการออกแบบคำพยากรณ์
ส่วนแนวคิดการกำหนดความหมายเรือนชะตาขึ้นใช้นั้น มีตั้งแต่ครั้งโหราศาสตร์อิยิปต์ที่มีการแบ่งเวลาใน1 วันออกเป็น 36 ยาม และมีเพียง 8 ยามที่มีการให้นิยามความหมาย ต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลด้านจักรราศีของฝั่งบาบิโลน ก็มีการรวม 36 ยามให้เหลือ 12 ส่วนเพื่อล้อไปกับจักรราศีที่มี 12 ราศี ใส่ความหมายของ 8 ยามเข้าไปใน8 เรือน และยุคต่อมาก็ใส่เพิ่มอีก 4 พร้อมกับเพิ่มความหมายคนที่เกี่ยวพันกับเจ้าชะตาเข้าไปด้วย
เมื่อแนวคิดจักรราศีกับเรือนชะตา เริ่มเข้ากันได้แล้วจึงเริ่มพัฒนาความหมายของเรือนชะตาให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการเอาแนวคิดเรื่องดาวเจ้าเกษตร์ราศี (Thema Mundi) ผสมเข้าไปในเรื่องดาวเจ้าเรือนในยุคถัดไป หลังจากนั้นจึงได้มีการ กำหนดความหมายดาวเคราะห์เจ้าเกษตร์ให้กับราศีจักรก่อน แล้วต่อมาก็นิยามความหมายให้กับเรือนชะตา ที่ล้อกันไปกับแต่ละราศีจักร
ในตำราโหราศาสตร์ยุคต้นที่มีการใช้เรือนชะตาร่วมกับราศีจักร พบเห็นได้ในงานเขียนร่วมสมัยที่ชื่อว่าหนังสือห้าเล่ม (Pentateuch) ของดอรอเทียส(Dorotheus of Sidon) ที่ขียนลงในรูปบทกวีซึ่งต่อมาได้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Carmen Astrologicum ในหนังสือชุดนี้นายดอรอเทียสให้เครดิตองค์ความโหราศาสตร์ว่ามาจากบาบิโลนและอิยิปต์ ในเล่มที่5 มีการกล่าวถึงเรือนชะตาในการหาฤกษ์หรือวันเวลาที่เริ่มทำการ (commencement) อย่างกว้างขวางจนนักโหราศาสตร์อาหรับในคศต.ที่ 9 เรียกนายดอรอเทียสว่าเป็นพวกอิยิปต์ (Dorotheus The Egypt)
ในตำราห้าเล่มของดอรอเทียสนั้น 2 เล่มแรกกล่าวถึงการพิจารณาดวงชะตาบุคคล (จะเกิดเหตุการณ์ใดกับเจ้าชะตา) โดยพิจารณาจากดาวเคราะห์ ความสัมพันธ์เชิงราศี(ใช้ราศีวัดมุมสัมพันธ์) ที่มีต่อกัน และที่มีต่อ(ราศี)ลัคนา
เล่มที่3 กล่าวถึงการวิเคราะห์ดวงจรประจำปี โดยใช้ดาวเคราะห์ประจำวัย(Haylaj) เป็นดาวเจ้าการ และเล่มที่4 วิเคราะห์ดวงจรประจำปีโดยใช้ดาวเจ้าเรือนลัคนา (lord of adcendent) เป็นดาวเจ้าการ โดยนับราศีที่ลัคนาสถิตย์ ให้เคลื่อนที่ไป 1 ราศีในแต่ละปี
สุดท้ายเล่มที่ 5 เป็นการเลือกหรือหาวันเวลาเริ่มต้นทำการ พิจารณาตำแหน่งจันทร์และดาวเคราะห์ที่มีต่อลัคนาเป็นหลัก ส่วนจะดีในเรื่องใดให้อ่านจากความหมายของเรือนชะตาที่ต้องการทราบ เช่นการเริ่มก่อสร้างบ้าน จะดีถ้าจันทร์อยู่ในเรือนที่ 4 และสัมพันธ์ดีกับพฤหัส-ศุกร์ จะล่าช้าถ้าสัมพันธ์เสาร์ จะเสียหายจากเพลิงใหม้ถ้าสัมพันธ์อังคาร (อีกนัยหนึ่ง ถ้าจันทร์ไม่อยู่เรือนที่ 4 ก็ห้ามเริ่มการก่อสร้าง)
ให้กู้เงินจะจ่ายคืนหรือไม่ลัคนาคือเจ้าหนี้ เรือนที่7 คือลูกหนี้ จันทร์และพุธคือผลแห่งหนี้ หากสัมพันธ์ดีกับเรือนที่ 7 (ย่อมดีต่อเรือนลัคนาด้วย) มีการจ่ายคืนหนี้ ถ้าพุธสัมพันธ์เสาร์จะถูกหลอกลวงฉ้อโกง ถ้าพุธสัมพันธ์อังคารจะเกิดทะเบาะวิวาท เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเป็นต้น
นักโหราศาสตร์ประวัติศาสตร์บางท่านยังได้สันนิษฐานว่าเรื่องแนวคิดการหาฤกษ์และกาลชะตาที่พิจารณาจากจักราศีนั้นอิยิปต์นำมาจากอินเดียอีกที เพราะในยุคกลางตั้งแต่คศต.9เป็นต้นมา โหราศาสตร์มีการเฟื่องฟูในอาณาจักรอิสลามสมัยราชวงศ์อับบาสิยะศ์ถึงขั้นมีการเดินทางแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างโหราจารย์ที่อิงกับตำรากรีกโรมัน(Hellenistic) เปอร์เซียอาหรับ และอินเดีย นักโหราศาสตร์อาหรับ จึงนำความรู้เรื่องฤกษ์ กาลชะตาและดวงเมืองมาต่อยอดใส่ไว้ในตำราโหราศาสตร์ของตน แต่ไม่มีต้นฉบับเป็นลายลักษณ์อักษรที่ยืนยันความเก่าแก่ ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับข้อสันนิษฐานนี้จากฝั่งนักโหราศาสตร์ตะวันตก
นักโหราศาสตร์ตะวันตกบางท่านก็อ้างงานเขียน Yavatajataka ของ Sphujidhvaja ที่มีการแปลจากกรีกเป็นสันสกฤตราวค.ศ.270 ที่เข้าไปแพร่หลายในอินเดีย ที่มีการกำหนดคำสันสกฤตเช่นชื่อราศี มีที่มาจากภาษากรีก มาเป็นหลักฐานว่าโหราศาสตร์อินเดียที่ใช้จักรราศีนั้นรับมาจากกรีก ส่วนฝั่งนักโหราศาสตร์อินเดียจะอ้างว่าองค์ความรู้โหราศาสตร์ในอินเดียมักปิดบังถ่ายทอดเฉพาะคนในตระกูลผ่านทางมุขปาฐะ จะให้มีลายลักษณ์อักษรมายืนยันได้อย่างไร
โดยสรุป ในโหราศาสตร์ยุคต้น
ดาวเคราะห์และความหมายดาวเคราะห์จะใช้พิจารณาเหตุการณ์ที่จะเกิดกับเจ้าชะตา
ส่วนลัคนา เรือนชะตาและความสัมพันธ์กับดาวเคราะห์จะใช้พิจารณาฤกษ์(วันเวลาเริ่มต้นกระทำการ)ของกิจกรรมที่เจ้าชะตาต้องการทำ
ดังนั้นความหมายของเรือนชะตาจึงถูกผูกเข้ากับเวลาที่กำหนดในแต่ละวัน ไม่ได้ขึ้นกับตำแหน่งดาวในทางจักรราศีแต่อย่างใด และนี่เป็นแนวคิดมูลฐานทำให้นักโหราศาสตร์ฝั่งตะวันตกต้องมีการสร้างดวงชะตาจรแบบทุติยภูมิ(Secondary) แบบต่างขึ้นมาในภายหลังไม่ว่าจะเป็นดวงประเภท Progression หรือ Direction ที่ derived มาจากดวงชะตาเกิด (Natal) อีกทีหนึ่ง และดวงชะตาประเภทนี้ก็ไม่ได้อ้างอิงจากตำแหน่งดาวจริงบนท้องฟ้าอีกต่อไป (เพราะเกิดจากการคำนวณ)
ทำให้แนวคิดของนักโหราศาสตร์ในยุคหลังเริ่มเปลี่ยนไปจากการพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับเจ้าชะตา (ที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้) มาเป็นการหาระยะเวลาที่ดี และหลีกเลี่ยงระยะเวลาที่ไม่ดี (ต่อรองกับนายเวลาได้)
เมื่อโลกพัฒนาขึ้น ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น ก็ดูเหมือนช่วงเวลาที่ดี (หมกมุ่นกับสิ่งอำนวยความสะดวกฆ่าเวลาจนลืมสังเกตุสิ่งแวดล้อมรอบข้าง) จะมีระยะเวลามากขึ้นกว่าช่วงเวลาไม่ดี (อดอยากขาดแคลน ป่วยตายไม่รู้สาเหตุ โกหกหลอกลวงคดโกงเพราะไร้ทางเลือก ทะเลาะเบาะแว้งทำร้ายคล้ายสัตว์เพราะไม่มีกฏระเบียบไม่รู้จิตวิทยาและอื่นๆ)
โหราศาสตร์ก็ถูกลดน้ำหนักความสำคัญลงเป็นเพียงวิชาปลอบใจคน เป็นการทายทักแนวโน้มที่จะเกิดกับเจ้าชะตา (เป็นทางเลือกตามศักยภาพที่มีอยู่ในแต่ละดวงชะตาที่เจ้าชะตาต้องตัดสินใจทำหรือไม่ทำ) มีการใช้ยืมศัพท์จิตอิสระ (Freewill) จากปรัชญาคริสเตียนมาตีความใหม่ ให้กว้างขวางออกไปมากขึ้น ทำให้ศักยภาพและจิตอิสระของมนุษย์นั่นมีอำนาจมากมายมหาศาลเกินข้อจำกัดของโชคชะตา (destiny) ถึงขั้นสามารถกำหนดขีวิตตนเองได้โดยอิสระ โหราศาสตร์ก็จึงต้องหมดความจำเป็นลงไป
โหราทาส
๖ ธันวาคม ๒๕๖๓
3 บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติโหราศาสตร์และอื่นๆ
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย