16 ธ.ค. 2020 เวลา 05:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
#6 The Brain Club : Animal
จระเข้สามารถ “ งอกหางใหม่ ” ได้เหมือนจิ้งจก
เป็นที่รู้กันดีว่าสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กจำพวกกิ้งก่า จิ้งจก และตุ๊กแกที่เรารู้จัก ว่าพวกมันมีความสามารถพิเศษในการเอาตัวรอดยามเสียอวัยวะไป นั้นคือการงอกหางขึ้นมาใหม่ได้แม้จะขาดไปแล้ว
ล่าสุดมีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ญาติตัวโตของพวกมันอย่าง " จระเข้ " ก็สามารถงอกหางใหม่ได้เช่นกัน
แต่ความสามารถพิเศษนี้จะเกิดเฉพาะกับจระเข้เด็ก และจระเข้วัยรุ่นเท่านั้น โดยหางใหม่ที่งอกออกมาสามารถยาวได้ถึง 9 นิ้ว ( เพิ่มขึ้น 18% จากความยาวลำตัว )
โดยงานวิจัยดังกล่าว เผยแพร่บนเว็บไซต์ Scientific Reports เป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์ เป็นผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา และกรมสัตว์ป่าและการประมงแห่งลุยเซียนา
พวกเขาทำการทดลองใช้เทคนิคการถ่ายภาพขั้นสูง การศึกษากายวิภาคศาสตร์ และดูการจัดระเบียบเนื้อเยื่อของจระเข้ พบว่าหางที่งอกใหม่จะมีโครงกระดูกอ่อนเกิดขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยฟื้นฟู และซ่อมแซมบาดแผล
เคนโระ คูซูมิ ในฐานะผู้วิจัย และผู้อำนวยการชีววิทยาศาสตร์ ASU กล่าวว่า “ โครงกระดูกที่งอกใหม่จะถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อและผิวหนัง แต่ไม่มีกล้ามเนื้อลาย "
ถึงแม้หางที่งอกมาจะไม่มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเหมือนตอนแรก แต่อย่างน้อยการกลับมามีหางก็ช่วยให้พวกมันใช้ชีวิตต่อได้ เพราะหางสำคัญต่อการใช้ชีวิตของจระเข้อย่างมาก เนื่องจากพวกมันใช้หางในการช่วยว่ายน้ำ ใช้ฟาดศัตรู และป้องกันตัวเอง
ทีมนักวิจัยยังระบุว่า จากการค้นพบในครั้งนี้ อาจช่วยให้เทคโนโลยีทางการเเพทย์สามารถพัฒนาการบำบัดฟื้นฟู ช่วยเหลือคนที่ต้องสูญเสียอวัยวะ หรือเหยื่อจากแผลไฟไหม้ได้ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาทำความเข้าใจอีกนาน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา