Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
3 ธ.ค. 2020 เวลา 09:32 • ปรัชญา
๙.เค้าขวัญวรรณกรรม : มหากาพย์กับมนุษย์
ฉัททันต์ชาดก แพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศนี้ มีเพลงขอทานไพเราะร้องเล่าคลอเสียงซอ เป็นนิทานโศกนาฏกรรมที่สะเทือนอารมณ์ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างชื่อฉัททันต์ มีช้างพังสองตัวเป็นภรรยา อยู่ในป่าหิมพานต์ พญาช้างเป็นสัตว์เฉลียวฉลาด รู้จักปกป้องโขลงได้อย่างดี เป็นที่รักใคร่นับถือ เว้นไว้แต่ จุลภัททาภรรยาที่สอง แอบน้อยใจอยู่เรื่อย ๆ
คราวหนึ่งพญาฉัททันต์ถอนเหง้าบัวแกว่งโคลนให้ มหาภัททา ภรรยาแรก พอให้ภรรยาที่สองติดโคลนมาด้วย นางก็ผูกโกรธหาว่าพระโพธิสัตว์มีอคติ อีกหนที่พญาฉัททันต์หักกิ่งหว้าให้ภรรยาแรก แต่ภรรยาที่สองติดรังมดแดงไปด้วย นางก็โกรธ แล้วกลั้นใจตาย อธิษฐานจิตขอให้เกิดมามีอำนาจจะล้างแค้นโพธิสัตว์ให้จงได้
แท้จริงโพธิสัตว์ผู้ซึ่งซื่อตรง รักทั้งสองทัดเทียมกัน แต่เป็นความประจวบเหมาะทำให้เกิดเข้าใจผิด ต่อมา จุลภัททา ก็ไปเกิดเป็นธิดาของพระเจ้าแผ่นดินของเมืองพาราณสี (ชาดกส่วนใหญ่มีแต่เมืองพาราณสี พระมหากษัตริย์มีพระเจ้าพรหมทัต) ระลึกชาติได้ถึงความโกรธแค้นเมื่ออดีตชาติ ก็จ้างนายพรานให้ไปเลื่อยงาของโพธิสัตว์เพื่อจะเอามาทำตั่งนอน และกระซิบนายพรานให้เอาผ้าจีวรพระผ้ากาสาวพัสตร์ไปด้วยเพื่อป้องกันอันตราย พระโพธิสัตว์จะไม่ทำอันตรายคนที่ห่มผ้าเหลืองเพราะเป็นสัตว์ที่กำลังสั่งสมบารมีอยู่ พระโพธิสัตว์ก็จับนายพรานได้กำลังจะฟาดให้ตาย ครั้นเห็นผ้าเหลืองก็วางลง แล้วไถ่ถามเอาความ พอทราบความแล้ว รู้ว่าภรรยาตัวเองไปเกิดแล้วยังเข้าใจผิดข้ามภพข้ามชาติอยู่ เพื่อจะยกจิตให้พ้นจากนรก ไม่ให้ลงขุมนรกเพราะโกรธคนที่เขารักเรา เหมือนพ่อแม่รักเรา พระโพธิสัตว์ยอมให้เลื่อยงาอันหมายถึงชีวิต ที่ตายนี้ก็เพื่ออุ้มวิญญาณจุลภัททาไม่ให้ลงนรกนานเกินไป
เมื่อธิดาของพระเจ้าพรหมทัตเห็นงาก็นึกขึ้นได้ ร้องไห้รู้สึกตัวเองว่าได้ทำลายคนที่ตัวเองรักและรักตัวเองแล้ว เพราะมนุษย์เราจะเผอเรออย่างนี้ ชอบทำร้ายคนที่ตัวเองรัก พอรู้อีกทีก็เสเสียใจ นึกถึงพระโพธิสัตว์ที่เคยรักและเอ็นดูตัวเอง เป็นกุศลพยุงจิตให้ตกนรกแค่ช่วงสั้นๆ หมายความว่า ความรักได้ยกวิญญาณคนที่เรารักให้พ้นจากความชั่ว หรือตายด้วยน้ำมือของคนที่เรารักเพื่อช่วยก่อเกิดกุศลสำนึก
นิทานทั้งหมดนี้เป็นการเร้าอุดมการณ์ทางจริยธรรมให้เสียสละ ทำในสิ่งดีงามเพื่อคนที่เรารักหรือเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น
มีนิทานอีกหลายเรื่องที่นักสร้างภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นมือฉมังอย่างคุโรซาวาเอาไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชั้นสูง เรื่องเจ้าหญิงแสงจันทร์ (Moonlight Princess) ที่จริงคือ ชาดกอุษาเทวี ต้องไปอ่านดู ที่เกิดอยู่ในคราบคางคก
เทวดาลงมาสมรสกับนางนาคแล้วให้กำเนิดธิดางดงามมาก บิดากลัวจะพบอันตรายจึงสวมคราบคางคกไว้ป้องกัน เค้าโครงสร้างสังข์ทอง ต่อมาก็ไปอยู่บ้านไร่ปลายนากับตายาย หาทรัพย์สมบัติ สร้างบ้านให้ตายายอยู่อย่างดี แต่ว่าอยู่ในร่างคางคก จนกว่าจะพบเจ้าชายเนื้อคู่ไม่รังเกียจคางคก กอดจุมพิตแล้วก็กลับกลายเป็นเจ้าหญิงแสนสวย คล้ายเรื่องเจ้าชายกบ
คล้าย ๆ จะบอกว่าท่ามกลางความทุกข์นานาประการ ก็มีที่สุดของทุกข์อยู่ในนั้นด้วย มีความสว่างไสวอยู่ในความมืดมิด เช่นเดียวกับเรื่องสังข์ทอง คล้ายๆ เรื่องความทุกข์ ความอัปลักษณ์ แต่จริง ๆ ข้างในเป็นรูปทองคำทั้งแท่ง “รจนาเห็นรูปสุวรรณชั้นใน เอารูปเงาะสวมไว้ให้คนหลง” อ่านในระดับจริยธรรมก็ได้ คนบางคนรูปชั่วตัวดำแต่ว่าน้ำใจงาม
ชาดกส่วนน้อยลึกถึงระดับอริยสัจ ความทุกข์นี่น่าเกลียดไม่มีใครปรารถนา แต่ที่จริงมันซ่อนที่สุดทุกข์ไว้ในตัวมันเองด้วย ชาดกที่ได้กลายเป็นนิทานพื้นบ้านนั้นเป็นการเล่าปากต่อปาก คนหนึ่งเริ่มเท่านี้ อีกคนเติม ๆ จนกระทั่งโครงสร้างมันหายไป เหมือนรามเกียรติ์
ผมจะเล่ารามเกียรติ์ตอนพิเศษแถมให้ ตอน ถามสัจจ์ (สัตย์) ถามความจริง ถามสัจจ์คือเล่นตอนที่ท้าวมาลีวราชว่าความ มาลีวราชเป็นเทพแห่งความยุติธรรม ตัวเองเป็นอสูรพรหม เป็นอสูรที่มีใจเที่ยงธรรม พระรามฟ้องร้องท้าวมาลีวราช ซึ่งเป็นสหายของปู่ของพระรามว่าทศกัณฑ์ใช้มารีศแปลงกายเป็นกวางหลอกล่อพระองค์ออกจากอาศรม แล้วชิงตัวสีดามา สีดาได้วิวาห์อย่างชอบธรรมกับพระรามแล้ว จึงฟ้องร้องให้บังคับให้ทศกัณฑ์คืนสีดา ท้าวมาลีวราชก็รับฟ้องแล้วไต่สวนเรียกทศกัณฑ์ พระราม สีดามาเผชิญหน้ากัน ความว่าสีดาควรจะเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร
ถ้าเรารู้ความหมายแต่เดิมเราจะเข้าใจลึกทีเดียว อาตมันเป็นของสัจจะ ตัวแท้ของเราเป็นความจริงอยู่แล้ว ตัวแท้ของเรา อาตมันเป็นของสัจจะ สีดาเป็นของราม อหังการ์เป็นสิ่งที่กำเริบเสิบสานเป็นมายา ตัวข้าของข้า มันเกิดทีหลังเป็นมายาภาพ มันไม่มีสิทธิ์อะไร พอท้าวมาลีวราชตัดสิน ทั้งโรงก็ประโคมโหมใหญ่ เพราะถามเอาสัจจ์ได้แล้ว
ความสัจจ์จริงคือาตมันเคียงคู่กับสัจจะเท่านั้น อหังการ์ไม่เกี่ยว พอโหมโรงเสร็จก็จบแก้บน คือเล่นเท่านี้เอง ถือว่าพ้นมลทินแล้ว เสียดายเดี๋ยวนี้ก็สาบสูญไม่มีเหลือแล้ว
สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ความรู้ซึ่งสะสมอยู่ในแผ่นดินนี้ จะเอาการวิเคราะห์เชิงจิตวิทยามาจับไม่ได้ มันจะเลอะเทอะไปหมด
มาดูเงื่อนไขบางประการว่า ทำไมคนรุ่นหลังสื่อไม่ได้หรือไม่มีโอกาส ทั้งนี้เพราะมหากาพย์หรือนิทานพื้นบ้านที่มีความลุ่มลึกถูกสร้างสรรค์ในสังคมเกษตร “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จากความชุ่มชื่นตามธรรมชาตินำมาสู่ความมั่งคั่งของจินตนาการของผู้แต่ง เขากินอาหารอร่อย อากาศบริสุทธิ์ เขาสร้างสิ่งดีสิ่งงามขึ้นมาได้โดยดี ตามห้วงของเวลา
แต่ในยุคอุตสาหกรรมและเรากำลังก้าวขึ้นสู่ยุคข่าวสาร และอะไรต่อมิอะไรที่จะมาอีก เรื่องราวบันทึกเก่า ๆ ไม่อาจเข้ามาสู่การรับรู้ได้ด้วยวัฒนธรรมการอ่านข่าวสาร เราจะนั่งอ่านบนรถเมล์ แบบอ่านหรือฟังข่าวหุ้นขึ้นลงไม่ได้ มันเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ เขียนในห้วงเวลาซึ่งทุกสิ่งเนิบช้าและมีความลุ่มลึกในตัวมัน จะอ่านพระคัมภีร์เหล่านี้แบบอ่านหนังสือพิมพ์รายวันไม่ได้ ซึ่งมันเป็นนิสัยของคนรุ่นใหม่ไปหมดแล้ว ผมพูดจากประสบการณ์ของผมนะ
พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ต้องอ่านด้วยจิตใจอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่จิตใจที่เร่าร้อนไปด้วยข่าวสาร เดี๋ยวต้องฟังข่าวโน่นนี่หรืออ่านในส้วม อาจจะต้องเป็นการเกาะกลุ่ม (Group Study) หรือไม่ก็ต้องเลิกใช้ไฟฟ้าจุดเทียนอ่าน อย่าคิดว่าล้าสมัย เรากำลังประสานความรู้สึกบางอย่างของเราเข้ากับจิตสำนึกของผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมมหากาพย์ เราอาจจะพบรสชาติซึ่งแปลกไป ชีวิตเนิบช้าลง ตัวอักษรแต่ละอักษรเด่นชัด ข้อความเด่นชัด มโนภาพในเรื่องราวชัดเจน
ผมเองอ่านเรื่องราวแบบนี้ในถ้ำ เพื่อให้จิตใจมันระงับลง ชะลอความด่วนได้ การอ่านเป็นวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งอยู่ มันมีความหมายลึกต้องอ่านด้วยจิตใจทั้งหมดโดยอารมณ์ที่พร้อมจะรับรู้ เรียนรู้ มันสำคัญยิ่งกว่าการอ่านได้มาก แต่ไม่พร้อมที่จะรู้
คัมภีร์โบราณมากอย่างไตรภูมิพระร่วงอ่านลวก ๆ ไม่ได้ อ่านเที่ยวเดียวก็ไม่ได้ถ้วนทั่ว ต้องอ่านแล้วอ่านอีก จนเห็นเค้าอะไรบางสิ่ง เช่นวิธีวาง (Lay-out) เมืองทวีปต่าง ๆ จินตนาการของพระยาลิไท เป็นจินตนาการที่แจ่มใสกว้างไกล ถัดจากเมืองนั้นเมืองนี้ แม่น้ำนั้นแม่น้ำนี้ ไม่จำเป็นต้องยืนพื้นอยู่บนความจริงรูปธรรม (Reality) จินตนาการของเราไม่จริงอยู่แล้ว แต่มันจริงตรงที่ว่าสามารถเรียบเรียงตัวมันได้ สามารถคิดออกมาได้ สร้างจินตนาการได้ไม่จำเป็นต้องตรงกับความจริง
ความเป็นจริงเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่มุ่งแยกแยะ (Analysis) สิ่งต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นความจริงทางวัตถุทั้งสิ้น พลังจินตนาการเป็นความจริงอีกอันหนึ่ง เป็นทั้งที่ช่วยเสริมสร้างมนุษย์และทำลายมนุษย์ไปพร้อมกัน ก็มาจากจินตนาการทั้งนั้น
พลังจินตนาการเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด มหากาพย์ไม่มีเรื่องโป๊ เรื่องเซ็กส์ ไม่มีการทำอย่างนั้นเลย ให้พลังจินตนาการที่สูงส่งและล้วนแล้วแต่เร้ากุศลทั้งสิ้น นวนิยายยุคโรแมนติก ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์ อ่านแล้วยุ่งยากในอารมณ์ วรรณกรรมโรแมนติกส่วนใหญ่จะเป็นอารมณ์เพศ อารมณ์รัก อารมณ์ใคร่ มหากาพย์จะมีสิ่งเหล่านี้ ก็เพียงเพื่อเน้นคุณธรรม แต่ถ้ามีจะเป็นสัญลักษณ์
ครั้งหนึ่งที่เราเคยเป็นเด็ก เราชอบการ์ตูน ทำไมเด็กจึงชอบการ์ตูน เพราะในการ์ตูนมีความเป็นไปได้นานา หัวหลุดไปแล้วขึ้นได้อีกสามหัว ตัวเอกตกหน้าผา ยังมีปีกมารับ เด็กก็รู้สึกสนุกสนานและไม่มีอันตรายอะไร มหากาพย์ก็ฉันนั้น ตัวสัญลักษณ์อหังการ์ ทศกัณฑ์ ถูกพระรามยิงด้วยธนู หัวหลุดไป ก็ขึ้นงอกมาอีกสิบหัว มันมีการแตกตัวคล้าย ๆ ตัวเลขมหัศจรรย์ (Magic Number) ในนารายณ์อวตารปางมัศยา ปลาเล็ก ๆ ขยายเต็มอ่าง เอาอ่างออกก็ขยายขนาดเต็มทะเล ฟังกันสนุก แต่พร้อมกันนั้นมันบอกอะไรบางอย่าง ตัวตนนั้นเป็นทั้งหนึ่งและทั้งหมด
รามเกียรติ์ไทยก็คมคาย ตอนหนึ่งเมื่อฆ่าทศกัณฑ์ มันไม่ตายเพราะมันไม่มีหัวใจ มันถอดใส่กล่องฝากฤๅษีไว้ หนุมานก็ต้องไปค้นหากล่องดวงใจได้มา ขยี้หัวใจมันก่อนแล้วตัวมันตายเอง
ทีนี้ตอนหนุมานไปเผาลงกา เผาทุกอย่างวินาศสิ้น แต่ดับไฟที่หางตนเองไม่ได้ คล้าย ๆ จะบอกเราว่า หลายเรื่องเราช่วยคนอื่นได้แต่ตัวเราเองช่วยไม่ได้ มันยอกย้อน
หนุมานปรึกษาพระฤๅษี ฤๅษีบอก ทำไมไม่ดับกับน้ำบ่อน้อยล่ะ นึกได้อ้าปากเอาหางแหย่ เข้าน้ำบ่อน้อย คมคาย ไม่ชัดเจนแต่คมคาย
คนโบราณช่างฉลาด บางทีเรื่องง่าย ๆ ก็ลืมไป รามายณะไม่ใช่อย่างนั้น หนุมานของแขกลงไปแม่น้ำคงคา คือแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ไปดับไฟไหม้หางที่นั่น มหากาพย์ให้ชีวิตชีวากับตัวละคร ตัวที่เลวร้ายที่สุดก็ได้รับความเข้าใจและเห็นใจ ตัวเราเองหรือผู้อื่นบางทีก็แล้วแต่ ไม่ได้เลวตลอดเวลา ตัวร้ายกาจมีเรื่องลึก ๆ มหากาพย์เขาเห็นใจนะ
อย่างทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์เป็นตัวพาลมาตลอด จริง ๆ เขามาตามคำสั่งของสวรรค์ มาทดสอบ เสริมสร้างบารมีของพระรามในโลกมนุษย์ เขาก็เล่นบทยักษ์บทมาร มาถึงฉากสุดท้าย เขาถูกศรล้มลง เขาสารภาพเลยว่า ฟังนะ ตั้งแต่เห็นหน้ารามครั้งแรกเขาเลื่อมใสเต็มที่แล้ว แต่ที่ต้องเล่นบทนี้เพราะสวรรค์บัญชามา เพราะฉะนั้นเราอ่านจบเราก็ โอ! ในความชั่วมีความดี ในความดีมีความชั่ว มันไม่ใช่ตายตัว มันไม่แยกขาว-ดำ ในดำมีขาว ในขาวก็มีดำ มหากาพย์ให้ทิศที่กว้างไกล
มหากาพย์สำหรับความเข้าใจของผมแล้ว ทำให้มนุษย์มีปีก ทำให้เด็กคิดว่าตัวเองมีปีกบินได้ ทำให้เขาฟังเสียงผึ้งร้องเพลงได้ ได้ยินเสียงนกเสียงการ้องพูดกัน นี่ความฝัน จากจุดนี้ทำให้เขาล่วงรู้ถึงชีวิตอื่นที่หลากหลาย
เด็กที่ไม่ได้รับการสั่งสอนให้รับรู้เคลื่อนไหวถึงจินตนาการ เห็นมดเป็นสิ่งที่ต้องตีให้ตาย เคลื่อนไหวไม่ได้หมายถึงการสอนอย่างเดียว สอนจากท่าไม่พอ ต้องลงถึงรากเหง้าขนาดว่า มนุษย์เรามีชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าขาดมด สรรพสิ่งอิงกันเกิด อยู่ไม่ได้ถ้าขาดหญ้า ไม่ใช่แค่ห่วงโซ่อาหาร จริงๆ มันทั้งระบบเลย
ความสัมพันธ์ทางวิญญาณนี่ลึกสุด อย่างนาย ก นาง ข คู่รักกัน ผัวเมียกัน สัมพันธ์ทางกาย อยู่กินกัน มันระดับหนึ่ง คิดนึกประสานกันระดับหนึ่ง หรือขัดแย้งกันก็ได้ แต่ความสัมพันธ์ทางวิญญาณนี่ลึกสุด
นั้นหมายความว่าอะไร เมื่อเด็กๆ ได้รับแนะนำให้มองเป็นว่า วิญญาณที่ปรากฏที่ร่างของเขากับของเราเป็นวิญญาณอันเดียวกัน จินตนาการเขาเริ่มลึกซึ้งแล้ว ลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ฝ่ายวิญญาณ ห่วงโซ่อาหารเป็นเรื่องกายภาพเท่านั้น แล้วเรายังงงๆ อยู่ว่าจะปล่อยให้เสือกินกวาง จะฆ่าเสือดีหรือช่วยกวางดี เห็นเท่านี้ยุ่งยาก มันเห็นซีกเดียว ซีกของห่วงโซ่อาหาร
ห่วงโซ่ทางจิตสำนึกของเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามแต่ ต้องรู้ว่า ชีวิตทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั่วโลกและจักรวาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่างกายประกอบด้วยวัตถุธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม วิญญาณก็เป็นธาตุๆ หนึ่ง เมื่อเขาเข้าใจอย่างนี้ก็พอเพียงแล้วที่เขาจะสร้างสันติสุขให้โลกนี้ จากรากฐานจินตนาการอันนี้ แต่ถ้าไม่มี นับว่าอันตรายมาก เพราะเขาเห็นซีกเดียวคือเรื่องวัตถุเท่านั้นเอง
มหากาพย์ส่วนมากสอนให้เราเติบโตขึ้นภายใต้ความไม่หวาดกลัว เชื่อมั่นในคุณความดี เชื่อมั่นในการพิทักษ์ของเทพเจ้าให้การคุ้มครอง ที่จริงผมอ่านรามเกียรติ์มาด้วยความสุขที่ว่า พระรามเป็นพระรามตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีวันเป็นอื่นเลย ไม่เหมือนนวนิยาย อ่านนวนิยายตอนต้นเป็นอย่างตอนท้ายเป็นอย่าง แต่พระรามคงความสัจจ์ไว้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ หนุมานก็ภักดีตลอด
เราเห็นเค้าเงื่อนของสงครามภายใน เราเห็นธรรมะในเหตุการณ์ต่าง ๆ ความเชื่อว่ามีเทวดาปกป้องคุ้มครองเป็นหลักใหญ่ของโลกก่อนหน้าสมัยเรอแนสซองค์ ในยุคเรอแนสซองค์ พวกที่มีอิทธิพลเหนือบรรยากาศโลกคือพวกอัจฉริยะ ทางคณิตศาสตร์ ทางชีววิทยา ก่อนหน้านั้นเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า หมายความว่าหลังยุคเทววิทยา คนเริ่มเชื่อนักวิทยาศาสตร์ เชื่อพวกจบปริญญาเอก เพราะถือว่าเหนือพวกเขามีอยู่คนเดียวคือพระเจ้าเท่านั้น
มีคำพูดของนักคิดว่า “ถ้าปิดมหาวิทยาลัยสักร้อยปี ยกเลิกการเรียนมหาวิทยาลัย โลกจะดีขึ้นกว่านี้” ผมเห็นด้วยเหมือนกัน เพราะว่ามหาวิทยาลัยเสี้ยมสอนแต่เรื่องทางวัตถุ ในเรื่องความเจริญก้าวหน้าของโลกในทางวัตถุโดยแยแสน้อยนิดต่อจิตใจ มันน่าจะต้องตั้งคำถามว่าเรากำลังเจริญก้าวหน้าไปไหน ความเจริญก้าวหน้าของเรา มันเป็นภาระจำยอมหรือเปล่า เขาวิ่งกันเราก็ต้องวิ่ง ไม่วิ่งถูกเหยียบ ก็เลยวิ่งกันใหญ่ ไม่รู้ว่าก้าวไปไหน ไปเพื่อใคร ภายใต้แรงจูงใจอะไร เราไม่รู้
แง่หนึ่งมองจากฐานความเชื่อมั่นในมนุษย์ ในน้ำจิตน้ำใจมนุษย์ จริง ๆ ถ้าเขาไม่ถูกทำให้สับสน เขาจะรู้ตัวได้ โลกไม่ได้จะยุ่งมากอย่างทุกวันนี้ กำลังจะลงเหว
บทสนทนาอาจารย์เขมานันทะ (โกวิท อเนกชัย) กับสหายวัยเยาว์
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เค้าขวัญวรรณกรรม
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย