7 ธ.ค. 2020 เวลา 11:30 • ปรัชญา
๑๐.เค้าขวัญวรรณกรรม : มหากาพย์กับมนุษย์
มองจากสภาพแวดล้อมทางสังคม ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่โง่และชอบคล้อยตามคนอื่น คนส่วนใหญ่ไม่มีพลังพอที่จะตื่นตัว ผมพูดคล้ายๆ เหยียดมนุษย์ แท้จริงผมนับถือเพื่อนมนุษย์ แต่ว่าคนเหล่านั้นอ่อนแอเกินไป คล้อยตาม คนรวยก็ต้องรวยมาก ราวกับเป็นความชั่วไปเลยถ้าไม่รวย ความยุ่งยากอาจเสร็จสิ้นภายในพริบตาเดียวได้ ถ้ามนุษย์ทั้งโลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดให้หมด แต่ดูเหมือนเป็นข้อคิดซึ่งน่าหัวเราะเยาะ แต่มันเป็นความจริงในตัวมัน
ถ้าทุกคนในโลกพร้อมใจกันหยุดบ้าคลั่ง ปัญหาทั้งหมดถูกแก้ทันที แต่ปัญหากลับอยู่ที่มนุษย์ ถูกกระทำให้เป็นอย่างนี้เสียแล้ว เป็นเรื่องสังขารอำนาจที่ปรุงแต่งไม่มีใครยั้งมันอยู่จนกว่ามันหยุดเพราะความล่มสลาย
อารยธรรมทุกช่วงสิ้นสุดเพราะเหตุปัจจัย มันสิ้นสุดเพราะความเหิมเกริม ตัณหา อวิชชา อาณาจักรโรมันอันเกรียงไกรสิ้นสุดเพราะความเสื่อมทรามทางจริยธรรม ถึงจุดหนึ่งมันก็พังทันที ความเจริญก้าวหน้าของโลกมีระเบิดเวลาติดไว้เรียบร้อยแล้ว อย่าตกใจว่าเรากำลังจะเดินไปสู่อะไร ศาสดามักพยากรณ์ถึงวันที่โลกล่มสลาย หรือวันพิพากษา หรือถึงวาระหนึ่งไฟจะล้างโลกนี้ น้ำจะท่วมทั้งโลกเพราะสาเหตุจากมนุษย์ มนุษย์กำลังนำพรรคพวกเพื่อนฝูงพี่น้องไปสู่หายนะ เหมือนกับเราไม่รู้ว่าเรากำลังเดินไปสู่อะไร
แต่ที่แน่ที่สุด อารยธรรมของโลกสมัยนี้ตั้งอยู่บนฐานความยับย่อยของดินฟ้าอากาศ ความล่มสลายของระบบนิเวศน์ที่มันปรากฏ
อันที่จริง เราไม่น่าจะเปลืองตัวขนาดนี้ เรียนรู้มากขนาดนี้ มีอารยธรรมสูงส่ง มีศาสนา
เราไม่น่าจะเป็นถึงขนาดนี้ น่าจะสงวนสิ่งดีไว้ได้ เราทุกคนมีส่วนร่วมอย่างไรกับชะตากรรมอันนี้ เราจะปล่อยปละ โดยคิดเสียว่า เราก็เป็นคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ทำอะไรได้ ปล่อยมันไป อะไรจะเกิดขึ้นก็ให้มันเกิด ง่ายดี คนส่วนใหญ่ก็ชอบวิธีนี้ คนส่วนน้อยที่ทนไม่ได้แล้วก็โวยวายออกมา แต่คนที่โวยวายก็ไม่รู้ทางออก รู้แต่ว่าเรือจะล่ม อาการเฉยเมยและโวยวายทัดเทียมกัน ทำอะไรไม่ได้จึงไม่ทำ เพราะทนไม่ได้จึงร้องตะโกนออกไป ในที่สุดก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน
ความเพลินในอารมณ์นั่นเป็นเหตุของความทุกข์ยาก ขณะเราเสวยอารมณ์ ถ้าให้เลิกกลางคันอย่าหวังเลย เว้นไว้แต่พลังของสติมีความเข้มพอเพียงก็ตัดสายสะพานนี้ได้ เหมือนยกสะพานเชื่อมโยงได้ มนุษย์กับการได้เสวยอารมณ์ที่ตัวเองปรารถนา ยากที่จะคายหรือคิดเลิกรา มีแต่จะกอบโกยและแผ่ขยายลงรากลึก
โดยย่อแล้วผมไม่เห็นด้วยกับระบบทุนนิยมเลย มองในแง่นี้ที่ว่า มนุษย์มันไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ และมันหยุดตัวมันเองไม่ได้ เราไม่เพียงมองกราดไปข้างนอก เราสังเกตพฤติกรรมตัวเราด้วย มันหยุดไม่ได้บางทีไม่รู้จะหยุดมันยังไง จริงอยู่บางขณะเราอยากจะหยุด อยากจะเลิก ความอยากจะเลิกสู้กับความอยากจะไม่เลิก “ฉันจะไม่เลิกตราบใดความฉิบหายยังไม่เกิดขึ้น”
เมื่อแพ้ครั้งแรก ฮิตเลอร์หลอกตนเองและชาวเยอรมันว่าชนะอยู่ แพ้ครั้งที่สองฮิตเลอร์ชนะอยู่ จนกระทั่งความเป็นจริงเผยว่าแพ้จริง ๆ เขาเลือกฆ่าตัวตาย แสดงว่ายังไม่เลิกระหว่างสำนึกที่จะหยุดยั้งความปรารถนาของตัวเองกับความมุ่งตอบสนองเสพเสวยอารมณ์ที่ตัวเองต้องการ คู่นี้มันตัดกันอย่างรุนแรง
ผมว่าเมื่อขั้วต่างเริ่มปรองดอง กายกับจิตเริ่มปรองดองกัน เพื่อปรับเข้าหากัน ไม่ว่าสงครามเล็ก ๆ ระหว่างผัวเมียหรือคู่รัก ก็เพราะขัดกันแล้วทะเลาะกัน อยู่ที่ใครจะเริ่มหยุดทะเลาะก่อน ความคิดแรกเริ่มเพื่อให้คนอื่นเป็นสุข จินตนาการอันนี้เป็นของพระโพธิสัตว์ ยอมลำบากเพื่อเห็นความสุขของคนอื่นก่อน
เมื่อเราอ่านหนังสือเรียน อ่านจดหมายหรือข้อความอะไรให้กระจ่าง ให้ได้เนื้อความตามที่ผู้เขียนเจตนา ต้องลืมตัวเองให้หมด และให้ข้อความเนื้อความที่ซ่อนอยู่นั้นปรากฏขึ้นเอง บานขึ้นเองทีละบรรทัด ไม่ต้องไปจับ ไปผลัก ไปดัน ไปยึดถือ การไม่เอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดู การฟัง การกิน การดม เป็นรากฐานการศึกษาที่แท้จริง
เราอ่านหรือดูเหตุการณ์อะไรมา มักเอาตัวเราเข้าไปเป็นบรรทัดฐาน สังเกตให้ดีเมื่อดูตัวละคร จะมีตัวเราเข้าไปแสดงด้วย เป็นอีกตัวหนึ่งในนั้นเสมอไป ตัวเองเช่นนี้ที่ถูกนำเสนอมาเป็นทศกัณฐ์ อหังการ์ เราก็มีอหังการ์ ในแทบทุกอารมณ์ ในความรักก็รักด้วยอำนาจของอหังการ์ เมื่อรักใครหรืออะไรก็แสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของทันที
อหังการ์ เล่นบทแรกแซงจนชีวิตเกิดความไม่ปกติขึ้นมา หรือเมื่อดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งโดยไม่มีตัวเราแทรกแซง เราพบว่าที่สุดของภาพยนตร์นั้นทุกเรื่องเราปกติ แล้วภาพยนตร์เหล่านั้นไม่สามารถหมุนตัวเราไปได้ แต่เรารับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เป็นจริงได้ ความรู้ตัวล้วน ๆ ที่ไม่ถูกแทรกแซงจากความยึดติด ความจริงต่าง ๆ จะเปิดเผยตัวมันเองออกมา “ในความเป็น” ไม่ใช่เห็นใบไม้เป็นใบไม้ เพราะนั้นคือความยึดถือเพียงเห็นทุกสิ่งเสมอเหมือนหมด (Indifferent) เหมือนทองคำราคาเป็นศูนย์ มันเป็นศูนย์ก่อนหน้ามนุษย์เกิด แต่พอมนุษย์สร้างมาตรฐาน (Standard) คุณค่าขึ้นมา ทองคำนั้นมีค่ามาก มีค่าทวี ทองคำก็เป็นเหมือนใบไม้ทั้งหมด เป็นญาณเกิดแต่จิตอันรู้ดี รู้ทั่ว รู้รอบ
ชีวิตนี้เป็นศูนย์เพราะจินตนาการนั้นร้างไร้มโนภาพทั้งหมด สภาวธรรมนั้นไม่มีอะไรเปลี่ยน เป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น การเปลี่ยนแปลงปรากฏแก่จิตใจ เกิดการปฏิวัติพลิกผัน
ภิกษุณีรูปหนึ่งกล่าวว่า “ทุกข์เท่านั้นเกิด ทุกข์เท่านั้นดับ นอกจากนี้แล้วไม่มีอะไรเกิดไม่มีอะไรดับ” ไม่มีอะไรเที่ยงหรือไม่เที่ยง เพราะสิ่งที่ว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยงเป็นความคิดทั้งนั้น มันเกิดขึ้นในสมองของเราว่ามันเที่ยงหรือไม่เที่ยง เราคิดขึ้นมา แม่น้ำกำลังไหล ใบไม้กำลังร่วง มันอยู่ในความคิดของเรา หรืออะไรต่าง ๆ ก็ยุบตัวลงสู่ธรรมชาติธรรมดาเมื่อไม่ข้องกับความคิด เราจะไม่แตะต้องคำว่า “เที่ยง” หรือ “ไม่เที่ยง” “ยั่งยืน” หรือ “ไม่ยั่งยืน” ล้วนแต่เป็นคู่แย้งในความคิดของเรา
หลักคิดนั้นเป็นเพียงความพยายามมองว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง อันนี้เป็นการศึกษากรณีเพื่อถอนการยึดติดในบางระดับเท่านั้น ไม่ใช่เปลี่ยนโครงสร้างความรู้ของจิต
กรณีที่นั่งพิจารณาว่าโลกนี้เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็เหมือนอย่างเดิม โกรธเหมือนเดิม เกลียดเหมือนเดิม แต่ว่าคิดใหม่ คิดปลอบใจก็เท่านั้นเอง บางทีระงับได้ แต่จริง ๆ ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้าง การเปลี่ยนโครงสร้างจริง ๆ ไม่เกี่ยวกับความคิดแยกแยะทางธรรมก็ยังเป็นการค้างอยู่ในท่ามกลาง ซึ่งเปรียบเทียบแล้วก็ติดยึดมีตัวฉันกำลังภาวนาอยู่ ความคิดยังเร้ารุมอยู่ว่า เรากำลังปฏิบัติ เรากำลังรู้สึกตัว มันยังหลอกอยู่
ทีนี้ไม่มีตัวเรา เหมือนคนไม่มีเงา ปกติคนต้องมีเงาเพราะมีดวงอาทิตย์ ความคิดก็เกลี้ยง ๆ ไม่มีตัวแทรก
ตรงนี้เป็นฐานการศึกษา ฐานการเรียนรู้ ถ้าเข้าถึงฐานอันนี้ ต่อแต่นั้นคือการเรียนรู้เรื่อย ๆ ตามวันเวลา ความรู้ตัวล้วนๆ เป็นทั้งหมด ไม่ใช่บางส่วน แต่ปัญหาคือเราติดในความคิด เราจะพบเองเพราะมันมีอยู่แต่เดิม ไม่ใช่ได้มาเพราะเราไปสังเกต
ปัญหาในพุทธศาสนาคือปัญหาของการเห็น ปัญหาของการเข้าถึง ไม่ใช่ปัญหาของการคิด สำหรับนักคิดก็ได้แต่คิดไปเรื่อย ๆ แต่การปฏิบัติจริงจังคือการสลัดความคิดให้หลุดออกไปทุก ๆ ครั้งที่มันเกิด เท่านี้พอ เพราะตัวนี้เป็นอุปสรรคมันดึงไว้ พอหลุดจากตัวนี้มันไปเอง มันไปไหนเราไม่ต้องรู้ ถ้ารู้ก็กลายเป็นความคิด ทางไม่มี อยู่อย่างเป็นตัวเป็นตน อะไรที่ไม่ใช่ทางนั้นพอรู้ได้ อะไรที่ยึด ๆ มันไว้นั้นไม่ใช่ แต่ที่ใช่ นั้นรู้ล่วงหน้าไม่ได้ ไม่รู้ พอรู้ก็กลายเป็นการยึด
การภาวนานั้นอาจเปรียบได้เหมือนคนเข้าอุโมงค์ รู้ตัวแต่ไม่รู้อะไรเลย
อุโมงค์ที่วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ อาจเกิดจากคตินี้ก็ได้ คือมนุษย์ต้องเดินผ่านป่าที่ไร้เดือน ไร้ตะวันก่อน มืดเข้าๆๆ คือไม่รู้อะไรเข้าทุกที แต่รู้ตัวอย่างเดียว ค่อย ๆ รู้ตัวอย่างเดียว
เพราะการแยกแยะเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมของจิตที่ชอบตรึก เราคิดว่าเราจะปฏิบัติ แล้วจะถึงอันนั้นอันนี้ ตลอดเวลาเราแยกแยะอย่างนั้นเมื่อเปลี่ยนระบบตรึกตรอง, ระบบคิด มาสู่ระบบสัมผัส สัมผัสรู้อย่างเดียว เริ่มเปลี่ยนเริ่มไม่รู้อะไรมากขึ้น พูดขำ ๆ คือ เริ่มนั่งซื่อบื้อได้ทั้งวัน ไม่ต้องทำอะไรเลย ทำตัวนี้ตัวเดียว เมื่อทำแล้วมันจะสว่างขึ้น
มันไม่รู้อะไรก็จริง แต่มันรู้จริงขึ้น ๆ ในตัวมันเอง ในที่สุดก็สามารถเชื่อมโยงประสานกับข้อรู้ได้เท่าที่จำเป็น
ผมกับคุณไม่ต่างกันเลย มันต่างตรงที่เรายึดความคิด เราก็ต่างไปเรื่อย ๆ พอเราออกจากความคิดเราไม่มีอะไรต่างกันเลย ไม่มีความแตกต่าง
ส่วนความแตกต่างทางรูปลักษณ์เป็นอัจฉริยภาพของธรรมชาติ ที่ได้ค้นพบต้นไผ่ ต้นตาล ต้นมะพร้าว มะม่วง เป็นอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์สรรพสิ่ง
เราต้องเดินผ่านอุโมงค์อะไรบางอย่าง มืด ๆๆ คนที่มาปฏิบัติกับผมบอกเลิกไปทันทีเพราะรู้สึกว่าโง่เข้า ผมก็ว่าจะให้ฉลาดไปถึงไหน
ว่าไปแล้วในสมองของเราความคิดส่วนใหญ่ขยะทั้งนั้น คิดให้น้อยแต่ทุกความคิดแจ่มใส ชัดเจนและไม่สร้างเรื่องราว ถ้าคิดน้อยมันจะคิดสั้น คิดนิดๆ คิดพอเห็นพอรู้สึก มีประโยชน์ เช่น หิวข้าวมันก็บอกไปกินเท่านั้นเอง ชีวิตจะก้าวหน้าไปไม่ได้กว่านี้ ถ้าสติหรือความรู้ตัวยังไม่ดี
บางทีเราอาจจะมีความหวังว่าชีวิตเราน่าจะดีกว่านี้ ถึงวันหน้าเรามีเงิน แต่จริง ๆ ชีวิตจะดีกว่านี้ไม่ได้ถ้าสติไม่ดี แต่ถ้าสติดีขึ้นความรู้ตัวดีขึ้น ชีวิตจะดีขึ้น อาจจะไม่มีเงินทอง แต่สิ่งสำคัญกว่าทองมีอยู่
คำถาม : มหากาพย์สร้างอย่างไร
คำตอบ : มหากาพย์เป็นต้นไม้ของศิลปะวิทยาการซึ่งมีแกนกลางเรื่องการพัฒนาจิตวิญญาณ มหากาพย์ถูกสร้างขึ้นใหม่ ก็ด้วยกวีผู้รู้แจ้งเท่านั้น
คำว่า" กวีผู้รู้แจ้ง”อาจจะเป็นคำใหม่สำหรับบางท่าน ที่จริงเป็นพุทธภาษิต คำพูดธรรมดาที่ถูกปรับให้มีความไพเราะลึกซึ้งมีรสอันเลอเลิศ โดยข้อเท็จจริงแล้วที่เป็นคำสัตย์ คำจริง คำพูดที่ออกมาจากความจริงนั่นเองเป็นบทกวีในตัวของมัน ไม่ได้ตั้งใจไม่เจตนาที่จะร้อยกรองให้มันมีสำเนียงไพเราะอ่อนหวานอะไร
คือความจริงนั้นเองเป็นกวีในตัวของมันเอง คือคำที่สะท้อนจากความจริงไม่ได้ประดิษฐ์ ไม่ได้ตกแต่ง ดังคาถาที่พระพุทธเจ้ารำพึงขึ้นว่า “ช่างมีสุขจริงหนอในหมู่ของคนจองเวร ในเมื่อเราไม่จองเวร” บางทีก็เป็นความจริงสะท้อนอะไรที่สะอาดบริสุทธิ์
ในบรรดาศิลปะทุกแขนง วรรณกรรมถือว่าเลิศสุด กวีนิพนธ์เลิศสุด เป็นต้น เรื่องของศิลปะรูปแบบอื่น ๆ โบสถ์ที่มีช่อฟ้า ใบระกา สวยงามมันคือบทกวี คือพัฒนาถึงรูปแบบหนึ่ง สถาปัตยกรรมพลิกเป็นบทกวีทันที ที่ผู้ดูด้วยตาสัมผัสความงดงามมันได้ ความเฉิดฉันท์ ความสง่างาม รู้สึกได้ต่อความเป็นกวีนิพนธ์ ฟ้อนรำก็เหมือนกัน เมื่อถึงระดับเป็นศิลปะบริสุทธิ์แล้ว มันเหมือนเราได้ยินบทกวี
ข้อนี้หมายความศิลปะทุกแขนงมารวมศูนย์อยู่ที่กวีนิพนธ์ บทกวีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวบทกวีที่เป็นภาษา บางทีข้อเขียนในเชิงกวีไม่ถึงระดับเป็นกวีนิพนธ์ก็ได้ ทั้งๆ พยายามสื่อหรือเล่าอะไรต่าง ๆ ถึงความงามและความจริง เบื้องหลังความงามของช่อฟ้าหน้าบัน คือภูมิปัญญา มันไม่ใช่อะไรที่สวยๆ ล่อตาล่อใจเท่านั้น มันคือภูมิปัญญา ที่สรรค์สร้างสิ่งนั้นขึ้นมา
เบื้องหลังความงามของพระพุทธชินราชนั้นคือภูมิปัญญา องค์ความรู้ซึ่งสะสมมาหลายชั่วคน กว่าจะบรรลุถึงจุดยอดของสุนทรียภาพอันนั้น เบื้องหลังความงามคือภูมิปัญญา ยอดสุดของความงามคือกวีนิพนธ์
กวีนิพนธ์ไม่ใช่ตัวหนังสือ การที่คนหนึ่งเป็นนักฟ้อนลุกขึ้นฟ้อนอย่างงดงามประทับใจจนคนดูน้ำตาไหล เขาสื่อภาษาอะไรเป็นบทกวีนิพนธ์ ทั้งๆ ที่ไม่มีเสียงอะไร แต่ด้วยจิตใจที่กล้าหาญและอุทิศให้กับความงาม ความดี และความจริง
นักอักษรศาสตร์ไม่อาจสร้างบทกวีนิพนธ์ที่แท้จริงได้ ลำพังความรู้ทางอักษรศาสตร์อย่างเดียวไม่พอ หรือความรอบรู้ก็ยังไม่พอจนกว่ามีการอุทิศให้ ใคร ๆ ที่เรียกตัวเองว่ากวี หรือใครๆที่เรียกตัวเองว่าศิลปินนั้น ต้องดูตรงการอุทิศ คือมีชีวิตอยู่ด้วยกวีนิพนธ์ เหมือนนักปฏิบัติธรรมะหรือพระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ เพราะธรรมะเพราะปฏิบัติสั่งสอน จึงได้อยู่ได้กินได้ใช้ อย่างนี้มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ
บทกวีนิพนธ์ของมหากาพย์นั้นไม่ใช่บทกวีที่อลังการและมีระเบียบกฎเกณฑ์สลับซับซ้อนอะไรเลย เป็นกาพย์กลอนง่ายๆ แต่ว่าแตกไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของสุนทรภู่ ถ้าเราจะจัดพระอภัยมณีเป็นมหากาพย์ ถ้าเรากล้าที่จะจัด เขาก็ไปเรื่อยๆ แบบชาวบ้านไม่ได้มีศัพท์แสงที่หรูหราอะไร สลับซับซ้อนอะไร
การเข้าถึงมุตโตแตกนั้น (Break Through) สำคัญก็คืออิสระจากรูปแบบ ผู้เขียนคารามาซอฟ เขาเขียนภาษาธรรมดา เป็นคำง่าย เรียบ แล้วหลั่งไหลออกมาไม่รู้จบ นั่นคืออรรถรสของมัน เพราะถ้ามันวิจิตรอลังการยากเกินไปมันจะไม่ไหล
เวลาอ่านบทกวีนิพนธ์ขนาดยาว เราพบว่ามันชวนติดตามไปเรื่อยๆ ด้วยถ้อยคำง่ายๆ ด้วยจังหวะจะโคนง่ายๆ ไม่ใช่พิสดารอะไร พวกกวีราชสำนักไม่อาจสร้างได้ เพราะมันเต็มไปด้วยรูปแบบ รูปแบบที่อลังการจนกระทั่ง มันดีเกินไป สวยเกินไป หรูหราเกินไป วิจิตรเกินไป
รูปแบบที่ง่ายเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สนองความยาวของเรื่องราว ภายใต้เยื่อใยของอามิสสินจ้าง ยากที่จะสร้างมหากาพย์ มหากาพย์สร้างจากจิตใจที่บริสุทธิ์ จากความบันดาลใจที่ลึกซึ้ง แม้มันถือกำเนิดในอดีต และโลกจะหมุนย้อนสู่อดีตไม่ได้ก็จริง แต่มนุษย์นั้นจินตนาการได้
จินตนาการของมนุษย์นั่นเองที่เชื่อมโยงความดีของอดีต ปัจจุบันและอนาคตได้ อนาคตข้างหน้าภายใต้อิทธิพลของเทคโนโลยี ลักษณะภูมิปัญญาเยี่ยงมหากาพย์จะถูกนำเสนออย่างไร
คำถาม : ทำอย่างไรเพื่อให้คนรุ่นใหม่สนใจมหากาพย์ ชาดก ทั้งเรียนรู้การตีความหมายได้
คำตอบ : ผมว่าไม่ใช่การตีความ เพราะถ้าใครเป็นนักตีความ มันหมิ่นเหม่ต่อการลากเข้าหาความ ใช้คำว่า “ไขความ” พอได้ ไม่ใช่ “ตีความ”
ไขความคือมันมีกุญแจของมันอยู่ ไขออกก็แสดงว่ากุญแจนี้ใช้ได้พอที่จะไขความ มีพระรูปหนึ่งมานั่งคุยกับผม กลับไปตีแหลกหมดเลย เลอะเทอะไปหมด ทำอย่างนั้นไม่ได้ คือช่วงไหนที่ไขความได้มันก็สมควรที่จะทำ อันไหนที่เขาไม่ได้สร้างเป็นปริศนาไปตีเข้าก็เลอะเทอะ
พูดในเรื่องความใส่ใจต่อคุณค่าของมหากาพย์ในคนรุ่นใหม่ สิ่งสำคัญคือวัฒนธรรมของการอ่าน การจัดกลุ่มศึกษา (Group Study) เพื่อศึกษามหากาพย์ ก่อนอื่นใด ชั่วโมงเรียนมหากาพย์ ถ้าทำได้ดีจะมีคุณค่ามหาศาล ขนบประเพณี ความลึกลับพิสดารของสัตว์ ภาษิต ลักษณะของคนคู่ จินตนาการเรื่องภูเขา เหล่าเทพเจ้า สุเมรุ แม้จะฟังยาก แต่ก็พยายามที่จะให้เห็นเค้าโครงทั้งหมด เค้าแห่งภูมิจักรวาล
อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้คือ เรื่องเกี่ยวกับภูมิจักรวาล เป็นการเดินทางในจักรวาล
มหากาพย์นอกจากโครงเรื่องแล้วยังต้องการกุญแจของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ศูนย์กลางของจักรวาลคือ ภูเขาของพระผู้เป็นเจ้าระหว่างกลางระหว่างเขาพระสุเมรุที่เทพเจ้าอยู่ กับที่เมืองมนุษย์อยู่เป็นป่าหิมพานต์ ป่าดงดิบ มนุษย์สามัญไร้วาสนาที่จะไปถึงพระเจ้าได้ นอกจากผู้มีบุญและกล้าหาญ ส่วนระหว่างกลางจะมีเทพประเภทหนึ่ง เหาะเหินเดินฟ้าระหว่างเมืองมนุษย์กับเมืองเทพ เทวดาเหล่านั้นเรียก “ปัญจสิกขเทวบุตร” นักดนตรีบ้าง คนธรรพ์บ้าง
ในป่าหิมพานต์นั้นจะมีร่มไทรครึ้ม เทวดา ๒ ประเภทมักต่อสู้กัน คือ วิทยาธรกับคนธรรพ์ วิทยาธรเป็นนักวิชาการถือศาสตราวุธคือพระขรรค์ แล้วก็แย่งศาสตร์กัน ระหว่างคนธรรพ์กับวิทยาธร คนธรรพ์คือศิลปิน กวี นักดนตรี พวกนี้ร้องเพลงสนุกสนาน แต่ก็ไม่ค่อยถูกกับนักวิชาการ ต่อสู้แย่งข้อมูลกัน เหาะไปหลับใต้ร่มไทรตื่นขึ้นมาพระขรรค์หายเหาะไม่ได้หมดฤทธิ์
มณฑลจักรวาลในจินตนาการของคนโบราณ เมื่อเทียบกับจินตนาการของจักรวาลสมัยนี้มันคนละเรื่องกัน อันนี้เป็นขอบข่ายของจิต มณฑลแห่งชีวิตและมีบทบาทและความหมายสูงเพื่อชีวิต
บทสนทนาอาจารย์เขมานันทะ (โกวิท อเนกชัย) กับสหายวัยเยาว์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา