Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ออมให้เงินโต แบบเข้าใจง่ายๆ
•
ติดตาม
12 ธ.ค. 2020 เวลา 02:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP30
“กองทุนหุ้นต่างประเทศตอนที่ 2 รู้จักกับดัชนีหุ้นจีน”
สวัสดีครับ หลังจาก EP ที่แล้วเราไปรู้จักดัชนีหุ้นอเมริกามาแล้ว วันนี้ไปรู้จักกับดัชนีหุ้นของประเทศมหาอำนาจน้องใหม่ มาแรง นั่นก็คือประเทศจีนนั่นเอง
ตลาดหุ้นในประเทศจีนแบ่งเป็น 2+1 ตลาด 2 คือตลาดในประเทศจีนเอง และ อีก 1 คือตลาดที่บริษัทจีนไปจดทะเบียนในตลาดฮ่องกง ซึ่งถือเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน
ทำไมต้องมีหลายตลาด และ แต่ละที่ต่างกันอย่างไร เราไปดูกัน
ตลาดหุ้นในประเทศจีนมี 2 ตลาดหลักๆคล้ายๆอเมริกาคือ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Composite Index, SHCOMP) และ ตลาดหุ้นเสินเจิ้น (Shenzhen, SZSE) โดยตลาดเซี่ยงไฮ้หุ้นส่วนใหญ่จะเป็นพวกกลุ่มธุรกิจที่มีมานานแล้ว เช่น ธนาคารและการเงิน ส่วนตลาดเสินเจิ้นจะเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่มาแรง เช่น กลุ่มเทคโนโลยี ,กลุ่มสุขภาพ (Health Care คือพวกบริษัทยาและโรงพยาบาล)
ทั้ง 2 ตลาดมีหุ้นรวมกันกว่า 4,000 บริษัท อย่างไรก็ตามสำหรับคนต่างชาติที่เป็นรายย่อยอย่างเราๆ จีนไม่อนุญาตให้เข้าไปซื้อขายหุ้นได้เองโดยตรง คือสำหรับต่างชาติ จีนอนุญาตเฉพาะนักลงทุนสถาบัน (กองทุนต่างชาติ) เท่านั้น
เรื่องนี้จริงๆแล้วมีหุ้นบางส่วนที่อนุญาตให้ต่างชาติรายย่อยเข้าไปถือได้นะครับ แต่เนื่องจากไม่ค่อยเกี่ยวกับเนื้อหาจึงขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด
ส่วนหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกงนั้น ก็เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในประเทศจีนนี่แหละ แต่ไปจดทะเบียนให้ซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เพราะตลาดฮ่องกงอนุญาตให้ต่างชาติรายย่อยซื้อขายได้ ทำให้เป็นช่องทางในการระดมทุนจากต่างประเทศนั่นเอง บริษัทจีนไปจดทะเบียนในตลาดฮ่องกงมีทั้งหมดแถวๆ 400-500 บริษัท
มีหลายบริษัทจดทะเบียนมันทั้ง 2 ฝั่งเลย คือจดในตลาดประเทศจีน และ จดในตลาดฮ่องกงด้วย ที่แปลกก็คือราคาหุ้นของบริษัทเดียวกันนี้ในแต่ละตลาดดันต่างกันเยอะด้วยสิ ทั้งๆที่เป็นบริษัทเดียวกัน ผู้บริหาร และ งบการเงินก็เหมือนๆกัน แบบนี้ก็มีด้วยนะฮะ
และถึงแม้ทางการจีนจะเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนได้ทั้งในประเทศจีนเอง และ ฮ่องกง แต่ก็มีหลายบริษัทเลือกที่จะจดทะเบียนในตลาดฮ่องกงที่เดียว ซึ่งในกลุ่มบริษัทที่ว่าก็มี 2 บริษัทยักใหญ่ที่เราน่าจะรู้จักกันดีรวมอยู่ด้วย นั่นคือ Alibaba และ Tencent
(ถาม) แล้วดัชนีหุ้นจีน A-Share กับ H-Share ที่เราได้ยินบ่อยๆมันคือหุ้นจากตลาดไหนครับ
(ตอบ) A-Share คือหุ้นที่อยู่ใน 2 ตลาดในจีนครับ ส่วน H-Share คือหุ้นจีนในตลาดฮ่องกง
ถ้าอยากดูดัชนีของหุ้น A-Share เราจะดูดัชนี CSI300 (Shanghai Shenzhen CSI 300 Index) ซึ่งคำนวณมาจากหุ้น A Share 300 ตัวที่ใหญ่ที่สุดจากตลาดเซี่ยงไฮ้และตลาดเสินเจิ้น
ส่วน H-Share สามารถดูได้จากดัชนี HSCEI (Hang Seng China Enterprise Index) ซึ่งเว็บฝรั่งบางทีก็เรียกตัวย่อว่า HSCE หรือ CEI ต้องดูชื่อเต็มด้วยเพื่อความชัวร์
ซึ่งจากที่เราคุยกันมา ว่ากันตามหลักการหุ้น A-Share เป็นตัวแทนของเศรษฐกิจจีนโดยรวมได้ดีกว่าเพราะมีหุ้นจำนวนมากกว่า ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมมากกว่า H-Share
อย่างไรก็ตามมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจในปี 2015 (พ.ศ. 2558) ที่เกิดขึ้นกับทั้งหุ้น A-Share และ H-Share ซึ่งสำหรับใครที่อยากลงทุนในหุ้นจีนควรจะรู้ไว้
ช่วงปลายปี 2014 (พ.ศ. 2557) รัฐบาลจีนมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจน่าจะโตมากกว่าที่ผ่านมา นอกจากนี้ก็มีข่าวดี (คุ้นๆมั๊ย 555) ว่าพวกดัชนีนานาชาติทั้งหลายจะเพิ่มสัดส่วนหุ้นจีนในการคำนวณ ถ้าเป็นจริงจะทำให้มีเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามามากขึ้น
ส่งผลให้หุ้น A-Share และ H-Share พุ่งทะยานขึ้นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยที่ A-Share พุ่งขึ้นไปแรงกว่า เพราะแรงซื้อจากบรรดานักลงทุนรายย่อยในจีน
พอหุ้นวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ประมาณ 6 เดือน ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ทางการประกาศออกมาดันต่ำกว่าที่คาด ข่าวดีที่ว่าจะดัชนีนานาชาติจะเพิ่มสัดส่วนหุ้นจีนก็ไม่เกิดขึ้น
ยัง ยังไม่พอ มีการสำรวจนักลงทุนรายย่อยของตลาด A-Share เจอว่า มากกว่าครึ่งมีการศึกษาไม่เกินชั้นมัธยม แถมยังกู้เงินมาเล่นหุ้นผ่านบัญชีมาร์จิ้น (การใช้บัญชีมาร์จิ้นถ้าหุ้นตกจะโดนบังคับให้ขายหุ้น ทำให้หุ้นยิ่งตกรุนแรง)
หลังนั้นก็ไม่ต้องสืบทั้ง A-Share และ H-Share ดิ่งลงมาแรงไม่แพ้ตอนขึ้น ซึ่งดัชนี CSI300 (A-Share) เพิ่งจะขึ้นไปเท่ากับช่วงปี 2015 เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2020 (พศ. 2563) นี่เอง
ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนการซื้อขายหุ้น A-Share ของนักลงทุนรายย่อยก็ยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่นะ
ในขณะที่ H-Share ถึงแม้ดัชนีจะเคลื่อนไหวคล้ายๆ A-Share แต่ผันผวนต่ำกว่า โดยมีสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันมากกว่า
สรุป หุ้น A-Share ดูจากดัชนี CSI300 เป็นหุ้นที่สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจจีนได้ดีกว่า H-Share แต่เนื่องจากมีสัดส่วนการซื้อขายเก็งกำไรจากนักลงทุนรายย่อยเยอะ จึงมีความผันผวนสูง
ส่วนหุ้น H-Share ดูความเคลื่อนไหวจากดัชนี HSCEI มีหุ้นยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีใน A-Share คือ Alibaba และ Tencent มีเสถียรภาพที่ดีกว่า สัดส่วนการซื้อขายมาจากนักลงทุนสถาบันมากกว่า
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในปี 2015 ก็มีข้อดีคล้ายๆกับกรณีต้มยำกุ้งในบ้านเรา คือทางการจีนมีความเข้มงวดกับตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น มีการออกมาตรการต่างๆเข้ามาควบคุม และ รายย่อยเองก็เข็ดกับตลาดหุ้น หันไปลงทุนผ่านทางกองทุนรวม ทำให้สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันในหุ้น A-Share มีมากขึ้น
ในส่วนของผลตอบแทนปัจจุบัน ดูจากกราฟก็พอจะบอกได้ว่า A-Share ชนะ H-Share แหงๆ แต่ไหนๆแล้วเรามาลองคำนวณกันดูดีกว่า จะได้เอาไปเทียบกับผลตอบแทนของ SET และ S&P500 ที่เราเคยคำนวณกันใน EP29 ด้วย
เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับ S&P500 และ SET เราต้องคำนวณหาผลตอบแทนในช่วงเวลาเดียวกันคือ
- ช่วงแรก วันที่ 1 มกราคม 2020 (พศ.2563) ถึงวันที่ 1 มกราคม 2010 (พศ. 2553)
- ช่วงสอง วันที่ 1 มกราคม 2013 (พศ.2556) ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2004 (พศ. 2547)
**ข้อมูลของ CSI300 มันมีถึงแค่ เดือนธันวาคม 2004 นะครับ จริงๆควรคำนวณถึงปี 2003
ม่ะไปคำนวณกันเลย
เริ่มจาก CSI300 (A-Share) ปี 2010 ถึง ปี 2020
จากรูปเมื่อ ดัชนีปี 2020 อยู่ที่ 4000 และเมื่อ 10 ปีก่อนดัชนีอยู่ที่ 3250 คำนวณได้ผลตอบแทนทบต้นต่อปีอยู่ที่ 2.10%
อะเฮื้อ ผลต่อแทนพอๆกับตราสารหนี้เลยนะ
ไปดู HSCEI (H-Share) กันบ้าง
อันนี้ถึงขั้นติดลบกันเลย เพราะดัชนีปี 2020 ต่ำกว่าดัชนีเมื่อปี 2010 ขออนุญาตไม่คำนวณนะครับ
จะเห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงก่อนวิกฤตโควิด หุ้นจีนทั้ง A-Share และ H-Share ไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่ดีเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามถ้าเราดูเฉพาะ A-Share จากปี 2019 จนถึงปัจจุบัน (เดือนพฤศจิกายน 2020) จะเห็นว่าดัชนีมีการปรับตัวขึ้นเร็ว เนื่องจากทางการจีนจัดการกับวิกฤตโควิดได้อย่างรวดเร็ว
ลองไปดูผลตอบแทนของหุ้นจีนในปี 2013 กันบ้างนะครับ จะได้เห็นว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ในปี 2015 หุ้นจีนเป็นไงมั่ง
จากรูป CSI300(A-Share) จากปี 2013 ย้อนไปถึงเดือนธันวาคม 2004 ผลตอบแทนทบต้นต่อปีอยู่ที่ 13.06%
ส่วนดัชนี HSCEI (H-Share) มีผลตอบแทนทบต้นต่อปีช่วงปี 2013 ย้อนไป 2004 อยู่ที่ 12.55%
เทียบกับ SET ในช่วงเดียวกัน ผลตอบแทนไม่หนีกันเท่าไหร่และดีกว่า S&P500 มากซึ่งเหตุผลก็คล้ายๆกับไทยในตอนนั้น คือจีนฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้เร็วกว่าอเมริกานั่นเอง
เทียบกันในภาพรวมจะเห็นว่าดัชนีหุ้นจีนนั้นดูผันผวนรุนแรงมากกว่าดัชนี SET และ ดัชนี S&P500 มาก
สรุปเรื่องผลตอบแทน
ใน 10 ปีที่ผ่านมาถึงผลตอบแทนของหุ้นจีนจะดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เข้าขั้นห่วยเลยก็ว่าได้ แต่ก็ยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนในแง่ของโอกาสในการเติบโตในอนาคต เพราะอย่างที่รู้ๆกัน ทุกวันนี้จีนผลิตได้แทบทุกอย่าง และ กำลังจะขยับจากการเป็นผู้ผลิต (จากนวัตกรรมของประเทศตะวันตก) กลายมาเป็นเจ้าของนวัตกรรมเอง ซึ่งถ้าเรามองแบบนั้น การที่ผลตอบแทน 10 ปีที่ผ่านมาแย่ (ดัชนีไม่ไปไหน) ก็อาจจะแปลว่า ยังไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนมากนัก และ ดัชนียังไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก
อย่างที่เคยสรุปไว้ใน EP29 การลงทุนในต่างประเทศนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เป็นผู้นำอย่างอเมริกา หรือ ประเทศที่กำลังจะก้าวขึ้นมาอย่างจีน เราจะเห็นว่ามันมีความเสี่ยง และ มีช่วงที่ผลตอบแทนที่ดีบ้าง แย่บ้าง ไม่ต่างจากการลงทุนในประเทศ ดังนั้นจุดประสงค์ของการลงทุนในต่างประเทศ ควรทำเพื่อกระจายความเสี่ยงมากกว่าจะหวังเอาผลตอบแทนสูงๆ
สำหรับหุ้นจีน ส่วนตัวมองว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกประเทศ ในถ้าเราแบ่งสัดส่วนการลงทุนมาดีแล้ว รับความเสี่ยงได้ ลงทุนระยะยาวได้ หุ้นจีนก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
https://bit.ly/3mBhhio
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
https://www.facebook.com/EzyFinPlan
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก >
https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD
คลิก >
https://s.lazada.co.th/s.ZRnKa
3 บันทึก
5
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม
3
5
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย