Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
13 ธ.ค. 2020 เวลา 09:35 • ปรัชญา
๑๒.เค้าขวัญวรรณกรรม : ไซอิ๋ว
กวีโหงว-เซ่ง-อึงเขียน ไซอิ๋ว เมื่อเขาอายุ ๖๐ ล่วงแล้ว ความสำเร็จและล้มเหลวในชีวิตของเขาเอง และการศึกษาพุทธธรรม อีกทั้งการเฝ้าสังเกตต่อความเป็นไปของชีวิต ทำให้สะท้อนออกมาในไซอิ๋วได้อย่างลึกซึ้งและแยบคาย แม้ว่าต้นเค้าของไซอิ๋วกี่ คือรามายณะก็ตาม หากแต่มีความผิดแผกกันมาก ไม่ว่าในทางรูปลักษณ์แห่งวรรณศิลป์และสัญลักษณ์
ตามธรรมดานั้น ลักษณะเด่นของมหากาพย์โบราณของโลกไม่ว่า รามายณะ ของวาลมิกิ มหาภารตะ ของวยาส อีเลียดและโอดิสซี ของโฮเมอร์ ต้องมีความยาวมาก เนื่องแต่การเดินทางแรมรอนในถิ่นกันดาร ต้องต่อสู้กับอุปสรรคนานา จนบรรลุถึงจุดสมบูรณ์ของเรื่อง
นี้ว่าโดยโครงเรื่อง ซึ่งเริ่มด้วยการออกเดินทาง ต่อสู้และจบลงพรั่งพร้อมด้วยสันติสุข สิ่งที่สำคัญที่สุดของท้องเรื่องก็คือ การช่วยเหลือของทวยเทพและการบูชาบวงสรวง และความสัตย์ซื่อของวีรบุรุษต่อเทพเจ้าที่ตนเทิดทูน พลีกรรมแต่เทพองค์ใด เทพองค์นั้นก็จะตามพิทักษ์
มหากาพย์นั้นเป็นการแสดงออกของความเชื่อต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอมนุษย์ (เทพ รากษส ปีศาจ และวิญญาณสัตว์ร้าย) ชะตากรรมคือผลของการบวงสรวง การตัดสินใจของวีรบุรุษหรือผู้มีศรัทธาย่อมเอื้อเฟื้อต่อเทพเจ้าหรือสิ่งลึกลับที่มองไม่เห็นตัว ที่อาจเข้าแทรกแซงชีวิต อันอาจดลบันดาลให้สำเร็จหรือล้มเหลวได้
วีรบุรุษใดมีใจสัตย์ซื่อและรู้จักเทพโดยความเป็นเทพนั้น ๆ แลเห็นทิพยลักษณ์ที่แสดงออกในสิ่งทุกสิ่ง ในทุกกาลสถานถือกันว่าได้ลุถึงภูมิสวรรค์ เข้าถึงแดนอมตะหรือไกวัลสถาน (สถานะอันหมดจดสิ้นเชิง) หากว่าในการเดินทางไกลของชีวิต ทิพยลักษณ์ที่สำแดงออกนั้นยังไม่หมดจด ก็อาจจะเป็นรากษสหรือปีศาจร้ายจำแลงมาหลอนให้เห็นเป็นเทพ สภาพรุ่งเรืองในภายในก็กลับเป็นมืดมนอนธการ
“ไกรลาส” คือภูเขาที่สิงสถิตของทวยเทพ หรือชื่ออื่น ๆ ที่หมายถึงสิ่งสูงสุดแห่งมโนคติของมนุษย์ เช่น พรหมพนัญแดนวิโมกขศิวาลัย (ถิ่นที่ประทับของพระศิวะอันหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง) นามศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มีอยู่ดกดื่นในวรรณกรรมมหากาพย์ และได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของมวลมนุษย์ ไม่ว่ามันจะหมายถึงอะไรก็ตาม สิ่งนี้ก็คือมโนคติอันสูงสุดที่ทุกชีวิตปรารถนาจะไปให้ถึง
เชื่อสืบ ๆ กันมาว่า ที่นั้นเองเป็นสรวงสวรรค์ ความรักแท้ สังคมในอุดมการณ์ สันติสุขและศิลปะอันเลอเลิศนั้นอยู่ที่นั่น อันทุกคนถูกสั่งสอนให้เชื่อให้ก่อเกิดฉันทะที่จะเดินทางไปสู่สวรรค์ นอกเหนือจากวีรชนผู้แกล้วกล้าแล้ว คนสามัญย่อมไม่อาจดั้นด้นไปถึงได้ จำต้องอยู่ในโลกมนุษย์สวดมนต์ภาวนา เพิ่มพูนศรัทธาต่อสวรรค์ต่อไป จวบจนถึงเวลาของตน
ระหว่างเมืองมนุษย์กับไกรลาสหรือภูเขาแห่งพรหมนั้น คือถิ่นที่เรียกว่า “หิมพานต์” หรือ “หิมวันต์” อันเป็นป่าดงพงพีเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์แห่งหิมพานต์ ตรวยโตรกชะโงกเงื้อม ทั้งงดงามและน่าสะพรึงกลัว มีสระบัวและร่มไทร ทั้งปวงฤๅษีชีไพรและเหล่ารากษสจำแลงแฝงร่างอยู่ในถ้ำ หรือวฤกษเทพสิงสถิตในพุ่มไทร มนุษย์ไม่สามารถเดินทางผ่านป่าพิลึกพิสดารไปสู่พรหมพนัญได้ เนื่องแต่น้อยวาสนา สัตว์ประเสริฐอย่างหงส์เหมราช หัสดีลิงค์ ฯลฯ ล้วนอยู่ในหิมพานต์ประเทศ
สำหรับกรวิกอันมีเสียงแสนเสนาะอยู่ในพรหมพนัญต่อเมื่อย่างเข้าสู่ภูมิสวรรค์แล้วจึงรู้เห็น ยังมีเทพผู้เริงร่า คือคันธวะ (คนธรรพ์-ปัญจสิกขเทวบุตร) และวิทยาธร มีวิทยาคม สามารถล่องลอยเหินฟ้าข้ามไปมาระหว่างไกรลาสกับเมืองมนุษย์ เขาทั้งสองเป็นสื่อกลางระหว่างเมืองมนุษย์กับสวรรค์ แต่พวกเขามักจะมีปัญหาต่อกัน
กล่าวคือ เมื่อฝ่ายหนึ่งเหาะมาเรื่อยจนเหนื่อย ร่อนลงพักนอนใต้ร่มไทรริมสระบัว วิทยาธรอีกตนหนึ่งก็แอบขโมยพระขรรค์ศาสตราวิเศษ ตื่นขึ้นมาหมดฤทธิ์เหาะไม่ได้ คนธรรพ์วิทยาธรนั้นเป็นผู้วิเศษในทางศิลปะวิทยาการ พิณวิเศษของคนธรรพ์นั้นบรรเลงเพื่อปรือราคะในสวรรค์ บรรพหนึ่ง ๆ ทางดนตรี เรียกว่าราคะหนึ่งๆ นอกจากนั้นแล้วยังมีครุฑ นาค ฯลฯ วีรบุรุษผู้หาญกล้า มีราคะในสรวงสวรรค์มีศรัทธาและทรงสัตย์เท่านั้น ที่จะบุกป่าฝ่าดงไปสู่พระพักตร์ของมหาเทพได้ นี้คือเกร็ดต่าง ๆ ของความเชื่อเกี่ยวกับภูมิต่าง ๆ ในมโนคติของชาวตะวันออก
กล่าวได้ว่า ภูมิมโนนิเวศน์เหล่านี้เอง ที่ได้กลายเป็นทั้งรากฐาน วัฒนธรรมและวัชพืชของความงมงาย ศิลปะอันวิจิตร เฟื่องจินตนาการประสานกับลักษณะภูมิศาสตร์(ดินฟ้าอากาศ) ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้น
โครงสร้างของภูมิมโนนิเวศน์นี้ เป็นแกนกลางทางมโนคติ ไม่ว่าของนิกายไศวะ หรือวิษณุ สิ่งต่าง ๆเท่าที่ระบุมา ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของสภาวะและคุณะ (Value) ต่าง ๆ ที่นำมาเป็นบุคคละสัตวะ (Personification) เพื่อให้เป็นศิลปะ เพื่อง่ายต่อทางของศรัทธาภักดีและบวงสรวง
ส่วนนี้นั้นถือว่าเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมอินเดียที่แพร่หลายครอบคลุมไปทั่วโลกตะวันออก และควรจะถือว่ารากฐานนี้อยู่ในระดับคติของความเชื่อชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ระดับปรัชญาชั้นสูง อันเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย
ว่าด้วยปรัชญาอุปนิษัท ซึ่งถือว่าเป็นแกนกลางของปรัชญาตะวันออก ครอบคลุมช่วงกาลเวลาต้นจนปัจจุบัน อุปนิษัทเป็นชื่อคัมภีร์ที่แต่งขึ้นก่อนหน้าพุทธกาลประมาณ ๒๕๐ ปี แต่ก็ถือได้ว่าแนวคิดอุปนิษัทได้ครอบคลุมทุกๆ ทัศนะมาโดยตลอด หลักคิดของปรัชญาอุปนิษัทก็คือ อหํ พฺรหมสฺสมิ ตตฺถ ตวํ อสิ “เราคือพรหม ท่านเองก็เป็นอันนั้น” มนุษย์เป็นอันเดียวกับพรหม มนุษย์ที่แท้จริงคือพรหม(สิ่งประเสริฐ) อยู่แล้ว
แนวคิดเช่นนี้ได้รับการร้องหนุนจากผู้รู้ทุกสมัย จางจื๊อกล่าวว่า “ฟ้าดินเป็นอันเดียวกับอั๊ว สรรพสิ่งกับอั๊วเป็นหนึ่งเดียว” มนุษย์กับฟ้าดินนั้นคือ เต๋า-ทางของธรรมชาติ หรือสภาพเป็นเอง (สยัมภู) เราจะพบว่า ไม่ว่าลัทธิที่ระบุนามอาตมัน หรือไนราตมัน(ไม่มีอาตมัน) ล้วนปลงใจเชื่อลงในวิถีแห่งความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เป็นสภาพไม่เป็นสอง (อทไวตะ)
ทัศนะของจีนต่อหยิน-หยางนั้นคือหลักเดียวกับทฤษฎีคุณะ(สัต ตม รช) ของฮินดู กล่าวคือ ตราบใดที่ยังมีสิ่งคู่ตรงข้าม พลังชีวิตก็จะหมุนไปจนกว่าจะเข้าสู่ดุลยภาพ สภาพกลมกลืนของขั้วต่างๆ และถือเอาภาวะสมดุลของขั้วต่างว่าเป็นที่สุด เรียกไกวัลสวรรค์บ้าง พรหมบ้าง แล้วแต่ความกลมกลืนนั้นอยู่ในระดับใด
พระพุทธศาสนานั้น แม้จะถือกำเนิดภายใต้บรรยากาศของอุปนิษัทและภายใต้อารมณ์ศรัทธาภักดีต่อเทพเจ้า แต่ได้แปลกแยกออกไปในส่วนสุด กล่าวคือเป้าหมายของพุทธอยู่ตรงสภาพดับสนิทแห่งทุกข์ อยู่เหนือความสงบกลมกลืน เหนือความสุขแห่งสวรรค์ เหนือโลก เหนือพรหมโลก เหนือการหมุนวนของขั้วต่าง อยู่เหนือทัศนะต่างๆ นี้
กล่าวโดยฐานะสากลของพุทธศาสนา ในฐานะจำกัดอย่างหินยานย่อมถือว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีการวิเคราะห์เชิงเหตุผลว่า เหตุส่งผลอย่างไร มีกรรม มีผลแห่งกรรม มีการกระทำในแนวทางกลางๆ (อริยมรรค) เพื่อบรรลุเป้าหมายคือพระนิพพาน ลักษณะจำกัดนี้นับว่ามีอุปการะมากต่อผู้เริ่มต้น เพราะหินยาน (หรือเถรวาท) ได้ให้เค้าโครงที่ผู้มาใหม่จะคิดเห็นและหวังไปล่วงหน้าได้ว่า มีหลักมีเกณฑ์อย่างไร อันปลุกเร้าศรัทธาอิงปัญญาเป็นประเดิม
ทัศนะของมหายานนั้นนับว่ากว้างขวางและหลากหลายจนทำให้สับสนไปว่า มหายานก็ไม่แตกต่างไปจากฮินดู หรือลัทธิความเชื่อต่อมเหสักข์หรือศักติเท่าใดนัก แท้จริงมหายานนั้นโอบอุ้มไว้ทุกความเชื่อ ทุกแนวคิด ไม่ว่าสกุลเถรวาท เซ็น อภิธรรม เต๋า บางทีจะรวมไว้ซึ่งกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ที่พระพุทธองค์แนะให้หลีกหนีด้วย มหายานจึงแพร่หลายในชุมชนใหญ่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น จีน ทิเบต มองโกเลีย หรืออินเดีย ก่อนหน้ายุคสมัยนาลันทา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันว่า อาจารย์นาคารชุนได้ทำอุปการคุณต่อพุทธศาสนิก โดยการชำระสะสางจนพุทธธรรมถูกเจียระไน เด่นชัดในท่ามกลางความหลากหลายภายใต้สำนักมัธยมิก อันเป็นนัยยะกลางๆ แต่ไม่ใช่เชิงปฏิบัติอย่างอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ หากแต่เป็นทางแห่งมหาปรัชญาสุญตา อันนับเป็นก้าวสำคัญยิ่งของพุทธศาสนา นับตั้งแต่พุทธปรินิพพานแล้ว
มัธยมิกไม่ใช่เพียงลัทธิการให้อรรถาธิบายเชิงทฤษฎีว่า สภาวธรรมนั้นเป็นสูญอย่างไร แต่ได้เปิดเผยถึงสิ่งที่เป็นแล้วที่ว่า ทุกสิ่งสูญโดยสภาพ ที่เกิดมีสังสาร มีนิพพาน มีโน้น นี่ นั้น ล้วนเป็นบัญญัติเพื่อศึกษาให้รู้จักสิ่งต่างๆ อันอยู่นอกเหนือสมมติ นอกเหนือบัญญัติ
ดังนั้นเอง แนวทางมัธยมิกนั่นเองที่เคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา หลังจากช่วงเฉื่อยนิ่งทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมผู้คนอยู่
หลักฐานที่หุบเขานาคารชุนโกณฑะ (ปัจจุบันนี้เป็นเขื่อน) ทำให้เราสังเกตเห็นวิถีชีวิตของพุทธบริษัทเปลี่ยนไปจากเดิม จากความเชื่อทางศาสนาไปสู่วิถีชีวิตประจำวัน เป็นการเห็นสภาพสูญของขันธ์ห้า และการทรงอยู่ของขันธ์ห้าไม่ต่างจากสภาพสูญ แนวทางมัธยมิกนี้เองที่เป็นต้นธารของวัชรยาน หรือเซ็นซึ่งแพร่หลายอยู่ในโลกปัจจุบัน
สภาพสูญ (สุญตา) นั้น ไม่ใช่ความไม่มีอะไรเลย (นัตถิตา) และไม่ใช่อะไรที่มีอยู่อย่างจริงแท้ (อัตถิตา) สภาพเป็นเช่นไรแต่เดิมทีของธรรมชาติก็เป็นเช่นนั้น (ตถตา)
สภาพธรรมดั้งเดิมนี้เองที่อยู่นอกเหนือมิติกาลเทศะ ไม่ใช่เพียงสภาพจิตว่างจากกิเลสเท่านั้น สุญตานั้นเป็นสภาวธรรมทั้งหมด อันอยู่นอกเหนือทีถ้อยอรรถาธิบาย นอกเหนือการเกิดการดับ ไม่เกี่ยวกับการเริ่มต้นและการสิ้นสุดลง
ดังนั้นสัญลักษณ์ที่เหมาะเหม็งที่สุดคือวงกลมอันไม่รู้สิ้นสุด ทั้งปราศจากสิ่งใดๆ ที่เป็นฝักฝ่ายอย่างหยิน-หยาง เมื่อสรรพสิ่งเป็นสุญตาเช่นนี้แล้วแต่ต้นมือ ความเพียรของอัตตา ของความเชื่อทุกอย่าง จึงเป็นข้างฝ่ายยึดติด ยึดว่ามีอัตตาที่จะต้องปล่อยวาง ยึดว่าอัตตานี้จะได้บรรลุถึงสภาพไร้อัตตา
ธรรมปฏิบัติในระดับไม่เห็นสุญตา จึงพลัดไปสู่การยึดถือจำกัด แคบ และเต็มไปด้วยการมุ่งกระทำด้วยเจตนาจะละวางอัตตาอันเป็นการตอกย้ำความยึดถือในอัตตานั่นเอง
ความสงบอันเป็นฝักฝ่ายเวทนานั้น เป็นแหล่งเพาะเชื้ออัตตา-ตัวตนได้อย่างลึกซึ้ง และไม่ช้าไม่นาน ภายใต้ “ร่มสน” แห่งความสุขสงบดื่มด่ำนั้น ปีศาจ “อัตตา” ก็ปรากฏกายขึ้น ยิ่งสงบยิ่งติดจมลึก และลงปลักปักมั่นที่จะได้เสวยบรมอัตตา ทั้งสำคัญตนวุ่นวายไปว่า ได้ครอบครองนครแห่งสันติสุข ปลีกเปลี่ยวยิ่งขึ้น ถือตัวถือตนยิ่งขึ้น สำคัญตนว่าเป็นเจ้าของวิทยาคมที่จะดลบันดาลให้คุณโทษแก่ชีวิตอื่นยิ่งขึ้น แบกบรมอัตตานั้นไว้ด้วยเสน่ห์มนต์มายาในตัวมัน
กลเม็ดเด็ดพรายของผีใหญ่ๆ ที่จำแลงมาเป็นเทพ มาเป็นพระพุทธเจ้าในตอนท้ายเรื่อง ไซอิ๋ว นั้นนับว่าลึกซึ้งและคมคาย มันมาเป็นเทพเป็นธรรม ทั้งที่แท้จริงเป็นปีศาจร้าย ยิ่งใกล้จบยิ่งดุและเดือด สติปัญญาเห็นสุญตา (หงอคง) หรือโพธิต้องรบหนัก ยิ่งปีศาจแปลงมาเป็นเห้งเจียเองด้วยแล้ว ยิ่งยากจะแก้ไข ต้องสำรวมจิตเป็นหนึ่ง เห็นสองจิตรบกันจนกว่าโพธิ (เห้งเจีย-หงอคง)=ปัญญาเห็นสุญตาได้จำแลงกายเป็นแมงหวี่ ชำแรกเข้าไปในท้องปีศาจ แล้วจึงกำราบมันอยู่
นั่นก็คือเห็นกิเลสด้วยปัญญาชนิดชำแรกแทรกซึมกล่าวคือ เป็นอันเดียวกับกิเลส กิเลสหยาบนั้นละได้ง่ายด้วยตะบองของเห้งเจีย แต่กิเลสชั้นสูงนั้น ไม่อาจทุบตีมันให้ตายได้ ไซอิ๋ว บอกเราว่า ต้องรู้เข้าไปถึงเนื้อในของกิเลส แล้วจะพบว่ามันไม่ใช่อะไรอื่น มันคือพาหนะของโพธิสัตว์จำแลงมา โพธิปัญญาล่วงรู้ถึงไหน เรื่องราวก็ยุติลงถึงนั้น
ผมทึ่งในอรรถของ ไซอิ๋ว เป็นอย่างยิ่ง ความฉลาดสามารถของโหงว-เซ่ง-อึงผู้ประพันธ์นั้น นับว่าเป็นอัจฉริยะโดยแท้ ข้อสำคัญการนิพนธ์เรื่องยาวเป็นบทกวี ทั้งบรรจุสารัตถธรรม ขนบประเพณีมากมายไว้เช่นนี้ และยังแทรกอารมณ์ตลกอันเป็นปฏิภาณของกวีเองด้วยย่อมยากยิ่ง
เราทราบกันดีกว่าวรรณกรรมมหากาพย์ คือ บทสรรเสริญวีรชนผู้เกรียงไกรด้วยศรัทธาภักดีในเทพเจ้า อารมณ์ประพันธ์วรรณศิลป์นั้นต้องพวยพุ่ง เจิดจ้า สง่างามด้วยท่วงทำนอง จังหวะถ้อยคำ อันก่อเกิดจินตนาการ อย่าง อีเลียด โอดิสซี รามายณะ หรือมหาภารตยุทธิ์ แต่โหงว-ซึง-อึง เขียนได้ทั้งไพเราะลึกซึ้งและแฝงตลกขบขันไว้ด้วย เป็นงานที่ยาก แต่โหงว-ซึง-อึงในวัย ๖๐ ได้ถึงจุดแตกฉาน (Break Through) เขาเล่าเรื่องได้อย่างสอดคล้องตั้งแต่ต้นเรื่องจนท้ายเรื่อง
โดยเฉพาะตอนเรือท้องโหว่ (สุญตา) “เรือของข้าพเจ้ามีอยู่ตั้งแต่เริ่มฟ้าดิน จนบัดนี้ก็ยังใช้ข้ามฟากอยู่ แม้มีคลื่นลมแรง เรือก็หาโคลงเคลงไม่ ไม่มีหน้า ไม่มีหลัง สม่ำเสมอดี ไม่เสพด้วยอายตนะภายนอก ประสานกลมกลืนกันมาหมื่นกัปแสนกัป สะดวกสบายดี เรือไม่มีท้องเท่านั้นที่อาจพาข้ามมหาสมุทร ส่งสู่ฟากตรงกันข้ามมามากแล้วตั้งแต่โบราณกาล ตราบจนปัจจุบันก็เช่นนั้น
คติความเชื่อแบบชาวบ้านในเรื่องการแบ่งแยกเป็นเมืองมนุษย์เมืองสวรรค์ อันกั้นกางอยู่ด้วยป่าหิมพานต์ วีรบุรุษของชาวบ้านก็คือผู้เดินทางฟันฝ่าอุปสรรคอย่างน่านิยม แต่ทางของปรัชญานั้นถือว่ามนุษย์ที่แท้นั้นเป็นอันเดียวกับพรหมอยู่แล้ว
ดังนั้นการเดินทางไม่ได้หมายถึงอะไรอื่น แท้จริงคือความตระหนักรู้ต่อความที่เป็นเช่นนั้นอยู่แล้วอย่างไร ถ้าการเดินทางมี ก็ย่อมหมายถึงการฟันฝ่าอุปสรรคที่มาขวางกั้นไม่ให้รู้สึกต่อความเป็นพรหม หรือต่อความเป็นมนุษย์ที่แท้
การปฏิบัติที่แท้ย่อมหมายถึงการรักษาสภาพเดิมแท้ไว้อย่างดี และการเดินทางในภายในก็จะดำเนินไปเอง การต่อสู้ปรับตัว สถาปนาความรู้แจ้งใหม่ๆ ลงในชีวิตตามทางของธรรมชาติ ไม่ใช่ตามความอยาก ไม่ใช่ตามความหลงผิด การบวงสรวง ศรัทธา การปฏิบัติทั้งหมดหมายถึงเส้นทางในภายในตนเอง ต่อสู้อยู่ด้วยการตั้งหลักรักษาจิตใจให้ผ่องแผ้ว มากกว่าสำรวมสวมท่าทีของนักแสดงทางวัฒนธรรมในภายนอก ซึ่งอันนั้นมักเป็นไปเพื่อลาภสักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอ อันอาจกลายเป็นหายนะต่อการเดินทางในภายในได้
ไซอิ๋ว บอกเราไว้ในบทมานะ-กิเลส อยากเป็นอาจารย์ว่า “เหตุเพราะอวดโอ่ชอบแสดงจึงเกิดปีศาจมังกรขึ้นจากฝ่ามือ”
รากฐานทางวัฒนธรรมอันเป็นคติชาวบ้านนั้น สำคัญนัก หากว่ามันได้สวมยอดด้วยปรัชญา (ปัญญา) อันเป็นสิ่งขจัดความงมงายออกไป วรรณกรรมจะให้ทั้งความบันเทิงอันเป็นความปรารถนาทางอารมณ์ของคนทั่วไป และแฝงด้วยปัญญา
ในขณะที่พลังศรัทธานั้นให้กำเนิดแบบอย่างทางศิลปะ ปัญญานั้นให้กำเนิดคุณภาพ (Quality) ในศิลปะนั้นๆ สองสิ่งนี้เองที่เป็นเครื่องหมายของพัฒนาการของศิลปวัฒนธรรมต่างๆ
เคยตีพิมพ์ในคำนำหนังสือ “ลิงจอมโจก” ของเขมานันทะ
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เค้าขวัญวรรณกรรม
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย