Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
14 ธ.ค. 2020 เวลา 23:50 • ปรัชญา
๑๔.เค้าขวัญวรรณกรรม : เค้าโครงทางจิตวิญญาณของวรรณคดีพื้นบ้านไทย
วรรณกรรมระดับมหากาพย์ของโลกนั้น เป็นสิ่งๆ หนึ่งที่สำคัญยิ่งในกระแสอารยธรรม มันไม่เพียงแต่เป็นบันเทิงคดีประเทืองความรู้เท่านั้น หากเป็นสิ่งที่ต้องประเมินค่าเป็นฝ่ายโครงสร้างของความเจริญเติบโตทางวิญญาณกันทีเดียว
เพราะวรรณคดีมหากาพย์ไม่ได้เสนอเพียงประวัติวีรบุรุษ หรือวีรสตรีผู้หนึ่งผู้ใดดุจดังนวนิยาย หากแต่เป็นการเดินทางภายในของปัจเจก โดยแสดงเรื่องราว อุปสรรคความขัดแย้ง ยากลำบากภายใน ด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ในรูปของยักษ์ ภูตผี ฯลฯ เราคงจะชินกับเรื่องราวที่เจ้าชายฟันฝ่าอุปสรรค ฆ่ายักษ์แล้วครองเมือง นำศานติสุขกลับมาคืนสู่โลกพิภพนี้
โครงเรื่องนี้คล้ายๆ กันเกือบทุกเรื่องไป เพราะนั่นคือการเดินทางของมนุษยชาติที่จะก้าวไปสู่ภาวะอันเป็นอมตะนิรันดร์ ไม่ว่าจะขานนามว่า สิ่งสูงสุด หรือพระผู้เป็นเจ้า ผู้ครองสรวงสวรรค์ หรือภูตถตา หรืออมิตาภพุทธะ ไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวตามทางศาสนนิยมว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติทั้งหมด ก็คือการเดินทางจากที่นี่สู่นิรันดร
การเดินทางเช่นนี้นั้น มีประจักษ์พยานอยู่แม้ในสมัยปุริมกาล เสาโทเทม (Totem Pole) ที่แกะสลักเป็นวิญญาณสัตว์ร้ายเคลื่อนกายรายล้อมศูนย์กลางหลัก ก่อนจะก้าวย่างเข้าสู่อาณาจักรอันเกินคะเนได้ของพระผู้เป็นเจ้า ก็คงเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของคนในยุคดึกดำบรรพ์
หรือหันมาดู “บรมพุทโธ” สัญลักษณ์แสดงการตรัสรู้อนุตรสัมโพธิ์ซึ่งเป็นพระสถูปที่ก่อสร้างอย่างวิจิตรบรรจงงดงามอยู่ในเกาะชวา เช่นเดียวกับการสร้างพรหมพนัญ (ภูเขาแห่งพรหม) ทั้งสองสถานไม่เพียงเป็นแค่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศรัทธา หรือสถานต้องตามตำแหน่งดาราศาสตร์เท่านั้น หากเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งสูงสุด (ตถตา) หรือมณฑลธรรม (Dharma Mandala) ของพุทธศาสนิกชน เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ภูเขาไกรลาสของฮินดู
ทั้งหมดนี้ไม่ว่าโทเทม ศิวลึงค์ ธรรมมณฑล หรือพรหมพนัญ(ภูเขาแห่งพรหม) ล้วนเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณทั้งสิ้น ซึ่งเราต้องเข้าใจระบบปรัชญาเบื้องหลังปูชนียสถานเหล่านี้อย่างถูกต้อง
ว่าถึงวรรณกรรมมหากาพย์ ความยุ่งยากซับซ้อนในการใช้สัญลักษณ์นั้นพึงเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้ เช่น “ราม” จากมหากาพย์รามายณะ รามเป็นบุคคลที่มีจริงตามประวัติศาสตร์อินเดีย เป็นคนที่ถึงพร้อมด้วยพรอันเจิดจ้าของพระเป็นเจ้า รวมเป็นผู้ปฏิบัติกิจทุกอย่างทางจิตวิญญาณเพื่อพระเป็นเจ้า ในนามของความรักหรือภักติ (Bhakti) เพื่อรังสฤษฏ์โลกนี้
คนอินเดียยกย่องรามในฐานะกษัตริย์ นักรัก และศาสดาในอุดมคติ คำกล่าวของรามกลายเป็นคำสอนทางศาสนา ดุจดังคำเทพเจ้า ในมหากาพย์รามายณะมาจับบทตรง “ราม” องค์นี้ที่มีจริง แต่เพิ่มพูนในแง่จิตวิญญาณ ให้รามเป็นสัญลักษณ์ของสัจจะ (สัตยะ) และหนุมานเจ้าแห่งวานร ก็เป็นสัญลักษณ์ของความรักศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า (ภักติ) ในขณะที่สีดา ผู้หญิงในอุดมคติ เป็นสัญลักษณ์ของอาตมัน ทศกัณฐ์หรือราวณะเป็นสัญลักษณ์ของอหังการ์
ในมหากาพย์นี้ รามกรีธาทัพไปด้วยศรัทธาต่อพระเป็นเจ้าอันมิคลอนแคลน ก่อสร้าง “เสตุพันธ์” หรือสะพานแห่งพันธะ ข้ามมหาสมุทรไปกรุงลงกา แล้วสังหารราวณะ และได้กลับมารวมกับสีดา รังสฤษฏ์ศานติสุขแก่โลกพิภพ
เราอาจจะอ่านความหมายจากสัญลักษณ์เหล่านี้ได้ว่า ด้วยสัจจะ (ราม) อันอาศัยพลังแห่งศรัทธา (หนุมาน) จองถนนข้ามมหาสมุทร (มรรค) สามารถฆ่าอหังการ์ (ราวณะ) เพื่ออาตมัน (สีดา) จะได้คืนมาครองคู่กับสัจจะ
เสตุพันธ์ หรือสะพานแห่งพันธะสัญญานี้ เป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณ อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นชื่อสถานที่ ระยะเวลา ระยะทาง สัตว์ร้าย ฝูงลิง หมีชมพูพาน เทพศัตรา เมืองต่างๆ อสูร แม่น้ำ ป่า เขา ฝน ลม และอื่นๆ ในมหากาพย์รามายณะนั้น คงต้องเข้าใจรูปลักษณ์ทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่เพียงความงามทางภาษาของมหากาพย์ หรือการแสดงภายนอกเท่านั้น
การใช้สัญลักษณ์จึงเป็นการประสมประสานระหว่างสถานที่ กาลเวลา บุคคลแห่งประวัติศาสตร์ กับการแปลงเป็นค่าทางธรรมหรือหัวข้อธรรม
เสนอต่อที่ประชุมนานาชาติในโครงการไทยคดีศึกษา ๒๒-๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๗ กรุงเทพฯ
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เค้าขวัญวรรณกรรม
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย